เรือลำเดียว 'กสท.-ทีวีดิจิทัล' รวมกันเราอยู่-แยกกันเราตาย

เรือลำเดียว 'กสท.-ทีวีดิจิทัล' รวมกันเราอยู่-แยกกันเราตาย

แม้ว่าข้อเสนอประชุมสุดยอดผู้เกี่ยวข้อง กับกระบวนการเปลี่ยนผ่าน จากระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล

 ผลักดันให้เป็น"วาระแห่งชาติ"เพื่อประโยชน์เกิดกับทุกคนในประเทศ ไม่ใช่อยู่แค่ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ยังไม่ได้รับเสียงตอบรับมากนัก

 แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นการทำงานของคนสำคัญของกสทช. 3 คน ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อพยายามแก้ปม” โครงข่าย-การแลกคูปอง-การประชาสัมพันธ์เท่าที่จะทำได้ก็ พอจะยังมีเรี่ยวแรงต่อสู้กับวิบากกรรมของทีวีดิจิทัล ที่โชคร้ายคลอดในยามสงครามข้าวยากหมากแพง มิหนำซ้ำพ่อแม่ทะเลาะเบาะแว้งกันจนงานการไม่เดินหน้าไปเท่าที่ควร กว่าจะผ่านพ้นไปได้ 1 ปีก็มีคนถอดใจไป 2 ช่องแล้ว

 ขอขอบคุณไว้ในโอกาสนี้คือกรรมการกสท. 2 ท่าน ดร.ธวัชชัย จิตภาษนันท์ อาจารย์สุภิญญา กลางณรงค์ และเลขาธิการกสทช. ฐากร ตัณฑสิทธ์ ที่เรียกประชุมอัพเดทการทำงานของโครงข่ายว่าไปถึงไหน เร่งออกประกาศขอบเขตงานประชาสัมพันธ์ทีวีดิจิทัล 63 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทที่เชี่ยวชาญมาแข่งขันกันและอาจารย์สุภิญญา เดินสายออกไปคุยกับผู้บริหารของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด(มหาชน)เพื่อหารือว่าจะทำอย่างไรให้คูปองที่ค้างอยู่อีกกว่า 7 แสนฉบับไปถึงผู้รับ

ที่สำคัญ กรรมการทั้งสองท่านยังยอมรับผิด” ในการประชาสัมพันธ์ของกสท. ที่อ่อนมากถึงขั้นสอบตก รับปากจะไปเร่งกระบวนการประมูลแผนการประชาสัมพันธ์ 63 ล้านบาทที่ค้างมานาน

ส่วนกรรมการกสท.อีก 3 ท่านอาจจะถือว่าการแลกคูปอง,การประชาสัมพันธ์และการทำงานของโครงข่าย ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของตัวเอง จึงไม่ออกมากุลีกุจอช่วยกันไขลานงานค้างๆเหล่านี้ก็ไม่เป็นไร ขอเพียงให้ทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการกสท. อย่างเที่ยงตรงในการประชุมแต่ละครั้งก็เพียงพอแล้ว

3 ปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวพันกันจนทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอยู่ในสภาพวิบากกรรมอย่างมากคือโครงข่ายทีวีดิจิทัล,การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และสัดส่วนการแลกคูปองที่ต่ำมาก เหมือนกับนักเตะถึงเวลาลงสนามแล้ว ท่ามกลางสนามแข่งยังไม่เสร็จและยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ ทำให้ยังไม่มีคนดูมากพอ ผลคือรายรับจากการขายบัตรและโฆษณาย่อมน้อยลงไปด้วย

ปัญหาโครงข่ายครอบคลุมแค่ไหนกันแน่?

ผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดิจิทัล 2 ราย 3 โครงข่ายคือไทยพีบีเอส 1 MUX ช่อง 5 2 MUX จะขยายโครงข่ายไปได้ตามแผนเดิม ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ครบ 39 สถานีหลัก ปัจจุบันยังเหลืออีกแค่ 3 สถานีคือบึงกาฬ,ศรีสะเกษและอุตรดิตถ์ 3 MUXมีช่องทีวีดิจิทัลที่ใช้บริการ 17 ช่องทีวีดิจิทัลภาคเอกชนและอีก 2 ช่องไทยพีบีเอสกับช่อง 5

แต่โครงข่ายอสมท.ยังเพิ่งเสร็จสิ้นกระบวนการประมูลจัดซื้อ แล้วเร่งติดตั้งใกล้จะเสร็จเช่นกัน โครงข่ายอสมท.มีช่องทีวีดิจิทัลที่ใช้บริการคือไทยรัฐทีวี,วอยซ์ทีวีและสปริงนิวส์ รวมกับช่องของอสมท.อีก 2 ช่อง ส่วนโครงข่ายกรมประชาสัมพันธ์เพิ่งเริ่มกระบวนการประมูลจัดซื้อ

 สัญญาทีวีดิจิทัลของ 3 โครงข่ายหลักของไทยพีบีเอสกับช่อง 5 และอสมท. แม้จะเป็นไปตามเป้าหมาย 80% ของประชากรในหัวเมืองใหญ่ภายในปี 2558 แต่เสียงบ่นว่ารับสัญญาณไม่ได้น่าจะเป็นเพราะแผนขยายสถานีเสริมอีก 138 แห่งยังไม่คืบหน้ามากนัก ทำให้เกิดปัญหาเป็นหย่อมๆกระจายไปทั่วทุกพื้นที่สถานีหลักครอบคลุม แต่ในเชิงคุณภาพแล้วยังมีปัญหามาก ทำให้การรับสัญญาณภายในอาคารหรือพื้นที่ไกลจากเสาส่งสถานีหลักจะต้องใช้เสาอากาศตั้งบนหลังคาบ้านสูงพอ

ตราบใดที่ยังไม่เร่งก่อสร้างและติดตั้งเครื่องส่งบนเสาเสริมเพื่อลดจุดบอดในเมืองใหญ่ที่มีอาคารสูงบังสัญญาณและระยะไกลจากสถานีหลัก เสียงบ่นยังไม่หยุดแน่นอน หากผู้ชมทีวีดิจิทัลผ่านกล่องรับสัญญาณได้แล้วยังเจอปัญหาสัญญาณดับๆติดๆไม่ค่อยเสถียร

ส่วนชาวบ้านอีกพวกยังถามคำถามเดิมว่าสามารถรับชมช่องทีวีดิจิทัลจากจานดาวเทียมอยู่แล้วจะไปเอากล่องรับติดตั้งทำไม? กลุ่มนี้เพราะยังไม่มีการรับรู้ว่าความคมชัดของช่องทีวีดิจิทัลแบบ HD จะคมชัดมากกว่ารับบนดาวเทียมมาก

ทางแก้เร่งด่วนจะต้องเร่งติดตั้งสถานีเสาเสริมในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ที่มีประชากรหนาแน่นโดยเร่งด่วน และสถานีเสาเสริมในพื้นที่ห่างไกลจากสถานีหลัก เจ้าของโครงข่ายควรจะเร่งลงทุนก่อสร้างสถานีเสริมให้เสร็จก่อนสิ้นปี 60 ที่เดิมบอกว่าจะครอบคลุมประชากรประมาณ 95% เพื่อทำให้ความเสถียรของสัญญาณดีขึ้นและสามารถรับชมได้ภายในอาคาร

ทำไมชาวบ้านไม่นำคูปองไปแลกกล่อง?

สถิติการแลกคูปองล่าสุดหลังจากแจกจ่ายคูปองไปตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2557 จนถึงสิ้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาจำนวน 9.46 ล้านคูปอง ตกค้างอยู่ที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด(มหาชน)ประมาณ 700,000 คูปอง ปรากฏว่ามีผู้นำคูปองไปแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลเพียงประมาณ 5 ล้านคูปอง คิดออกมาเพียงประมาณ 50%เท่านั้น

แม้ว่ากสทช.ได้ขยายเวลาคูปองรอบแรกที่ยังไม่ได้แลกอีกประมาณ 4 ล้านคูปอง ออกไปอีก 2 เดือน สิ้นสุด 31 ก.ค. 2558 คงจะไม่มีผลทำให้มีผู้นำคูปองมาแลกเพิ่มเติมมากกว่าอัตราปกติประมาณวันละ 40,000 คูปองจะเท่ากับว่าสิ้นเดือนก.ค.จะมีคนไปแลกกล่องประมาณไม่เกิน 2-2.5 ล้านคูปอง ยังเหลืออีกประมาณ 2-2.5 ล้านคูปอง

ในขณะที่กสทช.จะแจกเพิ่มอีกงวด 4.6 ล้านคูปองให้แลกเป็นแบบไฮบริดได้คือรับได้ทั้งภาคพื้นดินและดาวเทียมก็จะยิ่งทำให้คูปองไปล้นในตลาด จำนวนคนแลกคูปองคงจะเพิ่มขึ้นไม่มาก

เหตุผลเดียวการประชาสัมพันธ์ของกสทช.ยังสอบตก ตราบใดที่ชาวบ้านบอกว่าไม่รู้จะไปแลกมาทำไมให้รกบ้าน เพราะที่บ้านรับช่องทีวีดิจิทัลจากจานดาวเทียมและเคเบิลทีวีได้อยู่แล้ว

คำตอบกลับมาอยู่เรื่องเดียวคือจะทำอย่างไร ให้ชาวบ้านเกิดกระแสตื่นตัวเหมือนในช่วงแรกๆ ที่ผลิตกล่องไม่พอแลก แต่ตอนนนี้กล่องล้นตลาดไม่มีใครมาแลก

 ทั้งสามเรื่องจึงควรเร่งทำไปพร้อมๆกันจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดไปก่อนก็จะไม่ค่อยเกิดผลบวกในการเพิ่มฐานผู้ชมมากนัก เมื่อชาวบ้านยังไม่รู้ว่าความสุขจากการรับชมทีวีดิจิทัลจากกล่องภาคพื้นดินหรือทีวีรุ่นใหม่ที่ใหม่ที่มีจูนเนอร์ได้ภาพคมชัดกว่าระบบอื่นๆมาก

นอกจากนี้แล้วผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเอง หากยังคิดว่าไม่มีเวลามาสุมหัวรวมพลังกันเพื่อช่วยกันสร้างฐานผู้ชมทีวีดิจิทัล อ้างว่าจะต้องปากกัดตีนถีบดิ้นรนเพื่อให้สถานีอยู่รอดก่อน คงยากจะอยู่รอดไปตลอดจนถึงฝั่งได้ทุกช่อง

สิ่งที่อยากจะเสนอให้ร่วมกันทำงานเพื่อสร้างพลังแบบทวีคูณ เช่น ร่วมกับผู้ผลิตกล่องออกแคมเปญทำให้ช่าวบ้านรู้ว่าทีวีดิจิทัลดีกว่ารับจากดาวเทียม การออกสัญจรร่วมกันเจาะรายจังหวัดเพื่อกระตุ้นถึงบ้าน ฯลฯ

ร่วมลงเรือแป๊ะ เมื่อแป๊ะยังทะเลาะกัน พวกเราทีวีดิจิทัลและผู้ผลิตกล่องจะต้องรวมกันเพื่ออยู่ แยกกันเราตาย ไม่มีใครมีเวลามาโยนห่วงยางชูชีพช่วยหรอก