ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (5)

ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (5)

วันนี้เราจะมาต่อกันด้วยเรื่องของสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกันต่อนะคะ

โดยเรามาเริ่มกันที่สิทธิและหน้าที่ของผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันก่อนนะค่ะ


สิทธิของผู้ให้หลักประกัน: (1) สิทธิครอบครอง ใช้สอย แลกเปลี่ยน จำหน่ายจ่ายโอน และจำนองทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน รวมทั้งใช้เป็นหลักประกันในกรณีอื่นได้ (ไม่รวมถึงการจำนำ) รวมถึงนำเอาทรัพย์สินไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น ใช้ในลักษณะทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ไปสิ้นไป (เช่น วัตถุดิบในการผลิต เป็นต้น) เป็นไปตามมาตรา 22 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ กรณีดังกล่าวนี้ผู้ให้หลักประกันสามารถดำเนินการได้โดยต้องไม่มีข้อจำกัด เนื่องจากบทบัญญัติในมาตรานี้กำหนดให้การใดที่แตกต่างจากบทบัญญัติในมาตรานี้ให้ตกเป็นโมฆะ ซึ่งมาตรานี้ถือเป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยมีเจตนาให้ผู้ให้หลักประกันยังคงมีสิทธิครอบครอง ใช้สอยก่อภาระหนี้ได้โดยอิสระในทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน ยกเว้นแต่เรื่องของการจำนำ ซึ่งเนื่องจากการจำนำตาม ป.พ.พ. ต้องมีการส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินไปให้กับผู้รับจำนำ ซึ่งต่างจากการจำนอง ไม่จำเป็นต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน กฎหมายจึงอนุญาตให้ก่อหลักประกันประเภทดังกล่าวได้


อย่างไรก็ดี บทบัญญัติในมาตรา 22 นี้ มีข้อยกเว้นกรณีที่มีการนำเอาสิทธิในเงินฝากของสถาบันการเงินมาเป็นหลักประกัน ซึ่งสามารถตกลงเป็นอย่างอื่นได้โดยไม่ถือเป็นโมฆะ กล่าวคือ สามารถตกลงให้มีข้อจำกัดการใช้เงินได้ ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่า เนื่องจากสิทธิในเงินฝากเป็นทรัพย์สินพิเศษที่โดยปกติแล้วเจ้าหนี้จะไม่ยอมให้มีการใช้โดยไม่มีข้อจำกัด หรือกรณีสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับชำระหนี้เป็นเงินที่นำมาเป็นหลักประกัน สามารถมีข้อตกลงให้นำส่งเงินตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้กับผู้รับหลักประกันได้


(2) สิทธิที่จะตรวจสอบจำนวนหนี้จากผู้รับหลักประกันเป็นไปตามมาตรา 26 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยกำหนดให้ผู้รับหลักประกันต้องมีหนังสือตอบยืนยันหรือระบุจำนวนหนี้ให้กับผู้ให้หลักประกันภายใน 15 วันนับจากวันที่ผู้ให้หลักประกันได้รับหนังสือสอบถามไปยังผู้รับหลักประกัน หากไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดและก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ให้หลักประกัน ผู้รับหลักประกันต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้หลักประกัน


(3) สิทธิที่จะไถ่ถอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเป็นไปตามมาตรา 27 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ตลอดจนสิทธิที่จะได้รับหนังสือยกเลิกการจดทะเบียนจากผู้รับหลักประกัน เมื่อหนี้ที่มีประกันระงับ (โดยไม่ใช่เหตุในเรื่องของอายุความ) หรือเมื่อคู่สัญญาตกลงกันให้ยกเลิก เป็นไปตามมาตรา 28 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ


หน้าที่ของผู้ให้หลักประกัน: ผู้ให้หลักประกันต้องใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ตลอดจนจัดทำบัญชีทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันตามที่จะได้กำหนดในกฎกระทรวง และต้องให้ผู้รับหลักประกันหรือตัวแทนเข้าตรวจสอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันได้ตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ


สิทธิของผู้รับหลักประกัน: ผู้รับหลักประกันมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญ เนื่องจากผู้รับหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจถือเป็นเจ้าหนี้ที่มีบุริมสิทธิ ซึ่งสิทธินี้รวมไปถึงสิทธิเหนือทรัพย์สินดังต่อไปนี้


(1) สิทธิของผู้รับหลักประกันที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันที่มีการนำไปควบเข้ากับทรัพย์สินอื่นซึ่งเป็นของบุคคลภายนอกหรือไม่สามารถแบ่งแยกได้เฉพาะส่วนของค่าแห่งทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของตนในเวลาที่ควบเข้ากัน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแบบง่าย ๆ เช่น มีที่ดินอยู่ 2 แปลง โดยที่ดินแปลงที่ 1 อยู่ในชื่อของนาย ก. ที่ดินแปลงที่ 2 อยู่ในชื่อของนาง ข. โดยนาย ก. เอาที่ดินแปลงที่ 1 มาเป็นหลักประกันภายใต้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ต่อมานาย ก. เอาที่ดินแปลงที่ 1 ของตนมารวมเข้ากับที่ดินแปลงที่ 2 ของนาง ข. เหลือเพียงที่ดินแปลงที่ 1 (ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน) ผู้รับหลักประกันมีสิทธิเหนือที่ดินแปลงที่ 1 เท่ากับค่าแห่งที่ดินที่มีอยู่ ณ วันที่มีการรวมโฉนดที่ดินตามส่วนเท่านั้น เช่น หากในวันที่รวมที่ดินเป็น 1 แปลงมูลค่าที่ดินเวลานั้นทั้งแปลงมีมูลค่าเท่ากับ 10 บาท ส่วนของนาย ก. มีมูลค่าเท่ากับ 4 บาท ต่อมาราคาที่ดินทั้งแปลงเพิ่มขึ้นเป็น 20 บาท ส่วนของนาย ก. มีมูลค่าเท่ากับ 12 บาท ผู้รับหลักประกันมีสิทธิในค่าแห่งที่ดินนั้นเพียง 8 บาทเท่านั้น เป็นต้น


(2) สิทธิของผู้รับหลักประกันที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินที่ผู้ให้หลักประกันได้มาแทนที่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันจากการจำหน่าย จ่ายโอน แลกเปลี่ยน รวมถึงค่าสินไหมทดแทนที่ได้มาเนื่องจากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสูญหายหรือเสียหาย


อย่างไรก็ดี สิทธิของผู้รับหลักประกันตาม (1) และ (2) จะมีอยู่เหนือทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นได้ก็ต่อเมื่อผู้รับหลักประกันได้มีการแก้ไขรายการจดทะเบียนเพื่อให้ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นหลักประกันต่อเจ้าพนักงานทะเบียนแล้วเท่านั้น นอกจากนั้นยังกำหนดว่า กรณีที่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะหมุนเวียนเปลี่ยนมือ เช่น สินค้าคงคลังที่ขายให้กับลูกค้า หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เป็นหลักประกัน ผู้รับทรัพย์สินดังกล่าวไปจะต้องได้ไปโดยปลอดจากหลักประกัน โดยความยินยอมของผู้รับหลักประกันด้วย


หน้าที่ของผู้รับหลักประกัน: ในกรณีที่ผู้รับหลักประกันรับเอาสิทธิเรียกร้องมาเป็นหลักประกัน ผู้รับหลักประกันมีหน้าที่จะต้องบอกกล่าวแก่ลูกหนี้แห่งสิทธินั้น ๆ ไม่เช่นนั้นก็จะยกเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้แห่งสิทธินั้นไม่ได้


ทั้งนี้ นอกเหนือจากสิทธิและหน้าที่หลัก ๆ ของผู้รับหลักประกันที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว สิทธิและหน้าที่ของผู้รับหลักประกันยังคงมีรายละเอียดปลีกย่อยที่กำหนดไว้ในมาตรา 29 มาตรา 32 มาตรา 34 และมาตรา 35 ด้วย


ฉบับหน้าเรามาต่อกันด้วยเรื่องของลำดับของบุริมสิทธิ หรือสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนหลังระหว่างผู้รับหลักประกันกับเจ้าหนี้รายอื่น ๆ กันอีกเล็กน้อยก่อนที่จะเข้าสู่หัวข้อการบังคับหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกันต่อนะคะ


พบกันฉบับหน้าค่ะ


*****************************
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่