ผุด 'โรงไฟฟ้าขยะ' กลิ่นเหม็นที่หอมหวล

ผุด 'โรงไฟฟ้าขยะ'  กลิ่นเหม็นที่หอมหวล

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ”

 เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยบอกชัดว่า รัฐมีนโยบายแปรรูป “ขยะ วัสดุเหลือใช้” มาเป็นพลังงาน โดยมีเป้าหมายว่าจะ “สร้างโรงไฟฟ้า” จากการแปรรูปขยะมูลผอย จำนวน 53 โรงทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ปัญหาขยะ เป็น วาระแห่งชาติ ที่ทุกภาคส่วน ทั้ง รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และประชาชน ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยได้มอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปเร่งจัดทำ “แผนปฏิบัติการ” หรือ Roadmap เพื่อจัดการปัญหาขยะและของเสียอันตรายที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในไทย

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2556 ระบุถึงปริมาณขยะมูลฝอย จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่ามีปริมาณมากถึง 26.77 ล้านตัน ในจำนวนนี้ เป็นขยะที่กำจัด "ไม่ถูกต้อง" มากถึง 6.9 ล้านตัน หรือมีสัดส่วนราว 26% และมีปริมาณขยะที่ "ถูกนำกลับมาใช้ใหม่" ปริมาณ 5.1 ล้านตัน หรือคิดเป็น 19% ของปริมาณขยะทั้งหมด

โดยจังหวัดที่มีขยะสะสมสูงสุดต่อวัน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.สงขลา 2.สมุทรปราการ 3.กาญจนบุรี 4.นครศรีธรรมราช 5. เพชรบุรี 6.สุราษฎร์ธานี 7.ราชบุรี 8.ขอนแก่น 9.ปราจีนบุรี 10.พระนครศรีอยุธยา

จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนว่า หากไทยสามารถเพิ่มสัดส่วนขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ ได้มากขึ้น รวมถึงมีการกำจัดขยะที่ถูกต้อง ในรูปแบบต่างๆ เช่น Reuse , Recycle ฯลฯ

เรื่องขยะๆ ก็จะกลายเป็นการสร้าง มูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้ไม่น้อย โดยเฉพาะการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงใน โรงไฟฟ้าในภาวะที่ไทย กำลังเผชิญ วิกฤติพลังงาน

โดยข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ก๊าซธรรมชาติ (เชื้อเพลิงหลักในการผลิตผลิตไฟฟ้า) กำลังจะหมดอ่าวไทยอีกราว 6 ปีจากนี้ หากไม่มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่ม กลายเป็นปัญหาของการ “เปิดประมูล” ที่จนถึงขณะนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ถึงรูปแบบการลงทุน ว่าจะเป็นระบบสัมปทาน หรือ ระบบแบ่งปันผลผลิต

พลันที่นายกฯประยุทธ์ ออกมาผลักดันเรื่องนี้ กระทรวงพลังงานก็ออกมารับลูก โดยระบุว่า ที่ผ่านมาได้สร้างแรงจูงใจด้าน “ราคารับซื้อไฟฟ้าจากขยะ” เพื่อให้ภาคเอกชนสนใจลงทุน และอยู่ระหว่างทำโซนนิ่ง เพื่อหาพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากขยะ

พร้อมยังโชว์ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา มีการจ่ายไฟฟ้าจากขยะเข้าสู่ระบบแล้ว ทั้งสิ้น 74.717 เมกะวัตต์ จาก 21 โครงการ

ขณะที่ภาคเอกชนหลายราย จมูกไว โหนกระแสนโยบายรัฐ ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะ โดย “กลุ่ม SAMART” ของตระกูล วิไลลักษณ์ ได้ประกาศเดินหน้ารุกธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะในเชียงใหม่ โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในนาม เชียงใหม่ เวสทูเพาเวอร์ และยังมีแผนจะผุดโรงไฟฟ้าขยะในอีก 2-3 จังหวัดใหญ่ อาทิ บุรีรัมย์ ชลบุรี และนครราชสีมา

เช่นเดียวกับ คณะกรรมการ บมจ.บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (GENCO) อนุมัติให้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด จากบริษัทไอริส คอร์ปอร์เรชั่น เบอร์ฮาด จำกัด คิดเป็นการเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 49 % เพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าขยะที่ภูเก็ต

   ขยะจึงเป็นเหมือน “พลังเล็กๆ” ที่มีส่วนช่วยแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานประเทศ

   แต่อย่าเพียงแค่พูด ต้องลงมือทำอย่างจริงจัง