วาระแห่งชาติ“แก้ปมทีวีดิจิทัล”

วาระแห่งชาติ“แก้ปมทีวีดิจิทัล”

การตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวของ พี่ติ๋ม พันธ์ทิพา ศกุนต์ไชย ที่ส่งจดหมายบอกเลิกช่องทีวีดิจิทัล 2 ช่อง

  คือ ช่องไทยทีวีและช่องโลก้าไปถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 25 พ.ค. ถือเป็นปฏิบัติการกามิกาเซ่ถล่ม กสท. ที่จะสร้างปมปัญหายุ่งเหยิงยากต่อการแก้ไขแบบ WIN-WIN หากทั้งสองฝ่ายยัง“ชี้หน้า”กล่าวหาอีกฝ่ายว่ากระทำความผิด

ฝ่ายทีวีพูลชี้หน้ากสท.ว่าบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่กำกับ และดูแลการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล ขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ การแจกคูปองเพื่อแลกกล่องล่าช้า ฯลฯ

ยืนยันไม่จ่ายเงินงวดที่ 2 รวม 288 ล้านบาท และ กสท. ไม่มีสิทธิ์ยึดแบงก์การันตรีก้อนที่เหลือประมาณ 1,600 ล้านบาท

ฝ่ายกสท.ตอกกลับบอกว่าแผนการเปลี่ยนผ่านทำได้อย่างน่าพอใจ โครงข่ายของช่อง 5 กับ ไทยพีบีเอส ขยายครอบคลุมมากกว่าแผน ยกเว้น อสมท. ที่ไม่เป็นไปตามแผนและช่องของทีวีพูลใช้โครงข่ายของ ไทยพีบีเอส ที่ขยายได้มากที่สุด ผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลรายอื่นๆ ยังดำเนินงานไปได้

  “ฐากร ตัณสิทธิ์เลขาธิการกสท. ยืนยันว่าถ้าทีวีพูลขอยกเลิกใบอนุญาต จะต้องถูกยึดเงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 1,600 ล้านบาท และทีวีพูลจะเลิกไปเฉยๆ โดยไม่ได้รับการอนุมัติจาก กสทช. ไม่ได้และทีวีพูลจะไปทำทีวีดาวเทียมไม่ได้หากถูกลงโทษจาก กสทช.

ลำดับต่อไป ฝ่ายทีวีพูลคงใช้สิทธิ์ฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้คุ้มครองไม่ถูกยึดเงินค้ำประกันจาก กสทช. แต่ศาลปกครองคงใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะมีคำพิพากษาทางใดทางหนึ่ง

ฝ่ายทีวีพูลยืนยันแล้วว่าเมื่อครบ 15 วัน ในวันที่ 10 มิ.ย. หลังจากยื่นหนังสือบอกเลิกใบอนุญาตจะยุติการออกอากาศช่องไทยทีวีทางโครงข่ายทีวีดิจิทัลของ ไทยพีบีเอส แล้วไปออกอากาศทางดาวเทียมทั้ง 2 ช่อง

  ประเด็นที่ต้องจับตาคือธนาคารกรุงเทพจะทำอย่างไร หาก กสท. ยืนยันจะยึดหนังสือค้ำประกันประมาณ 1,600 ล้านบาท

ทางเลือกของธนาคารกรุงเทพมีอยู่แค่ 2-3 ทาง เช่น เจรจากับทีวีพูลเพื่อผ่อนผันให้กู้เงินไปชำระเงินงวดที่ 2 ก่อนยืดอายุหาพันธมิตรใหม่, ยอมจ่ายเงินงวดที่ 2 แทนทีวีพูลไปก่อนเพื่อซื้อเวลา ฯลฯ ธนาคารกรุงเทพคงไม่ยอมให้ยึดแบงก์การันตรี แม้ว่าจะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นเงินฝากของทีวีพูลเพียงพอ

แล้ว กสท. กับ กสทช. ยังมีทางเลือกแบบไหน แนวทางที่น่าจะเลือกมากที่สุดคือเล่นไม้แข็งอย่างเดียวเพื่อไม่ให้ช่องทีวีดิจิทัลรายอื่นๆ เอาเป็นเยี่ยงอย่าง หาก กสท. อ่อนข้อให้ทีวีพูลยกเลิกใบอนุญาตไปแบบง่ายๆ โดยไม่ถูกยึดหนังสือค้ำประกันจะทำให้ช่องทีวีดิจิทัลรายอื่นๆ อีกหลายรายที่อยู่ในสภาพย่ำแย่ไม่น้อยกว่าทีวีพูลคงจะตัดสินใจแบบเดียวกัน แม้จ่ายเงินงวดที่สองไปแล้วเพราะหากอยู่ต่อไปอีกก็จะมีโอกาสตายมากกว่ารอด

หนทางสุดท้าย ทุกฝ่ายจะไปหวังพึ่ง “ศาลปกครอง” ให้เป็นผู้ตัดสินความถูกผิดของแต่ละฝ่ายเพื่อไปต่อให้ได้ แล้วกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่? ระหว่างทางจะมีใครอยู่ได้หรือตายไปบ้าง ระบบรวมทีวีดิจิทัลเสียหายไปแค่ไหน? ก่อนจะเปลี่ยนผ่านยุติการออกอากาศระบบอนาล็อก

ศาลปกครองเป็นองค์กรอิสระที่มีความยุติธรรม แต่ปัญหาในเชิงเทคนิคหลายอย่างไม่ควรจะไปให้ศาลปกครองตัดสิน ทำไม ผู้เล่นในกิจการทีวีดิจิทัลไม่หันหน้ามาร่วมคุยกันอย่างรอบด้าน ยกระดับให้เป็น วาระแห่งชาติในการแก้ปมทีวีดิจิทัล

ข้อเสนอของผมอยากให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดทีวีดิจิทัลเพื่อหาทางสางปมอันยุ่งเหยิง อาจจะต้องถึงขั้นใช้อำนาจในมาตร 44 เข้ามาแก้ปมที่อยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของ กสทช. เพราะดูๆ ไปแล้วแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องล้วนแต่มีจุดยืนต่างกันเพราะมองเผินๆ ผลประโยชน์ขัดกัน แต่ผลประโยชน์ปลายทางน่าจะเหมือนกันคือการจัดระเบียบอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในแต่ละประเภทให้อยู่ร่วมกันได้

ผู้เล่นที่เป็นผู้กำกับดูแลคือ กสทช.,กสท.

ผู้เล่นที่เป็นผู้ถือใบอนุญาตประเภทกิจการโทรทัศน์ที่มีอยู่ 3 ประเภท ทีวีดิจิทัล, ทีวีอนาล็อก, ทีวีดาวเทียม

ผู้เล่นที่เป็นผู้ถือใบอนุญาตประเภทโครงข่ายที่มีอยู่ 3 ประเภท ผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดิจิทัล, เคเบิลทีวีระดับท้องถิ่น, เคเบิลทีวีระดับชาติ,โครงข่ายทีวีดาวเทียม

ผู้เล่นที่เป็น Supply Chain ที่สำคัญ ผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน (DVB T2), เครื่องรับโทรทัศน์ที่มีจูนเนอร์

กลุ่มผู้บริโภคและผู้ชม รวมไปถึงภาควิชาการในสายนิเทศศาสตร์

 กรณีทีวีพูลตัดสินใจคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง เป็นเพียงปลายยอดน้ำแข็งลอยเหนือน้ำ ภายใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งยังเต็มไปด้วยสารพัดปัญหาความสับสนอลหม่านของการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัลในปีแรก

ทีวีอะนาล็อก ยังไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะยุติการออกอากาศได้เมื่อไหร่ เมื่อกรณีสัญญาสัมปทานช่อง 3 ของ อสมท.ยังมีอายุไปถึงวันที่ 24 มี.ค. 2563 ท้ั้งๆ ที่อสมท.ได้ทำข้อตกลงร่วมกับไทยพีบีเอส,ช่อง 5 และกรมประชาสัมพันธ์จะยุติการรออกอากาศภายในปี 2561

 ทีวีดิจิทัล ด้วยเงื่อนไขประมูลจะต้องวางหนังสือค้้ำประกันเต็มจำนวนเงินประมูล ทำให้กลายเป็น “บ่วง” รัดคอผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ยื่นขอยกเลิกก็ทำไม่ได้ต้องถูกริบเงินประกันทั้งหมด หาก กสท. ไม่ทำตามก็กลายเป็นตัวอย่างให้ทีวีดิจิทัลรายอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง กสท. ทำได้ทางเดีย ว“ห้ามทีวีดิจิทัลตาย” ก่อนตายต้องยื่นขออนุมัติก่อน

ทีวีดาวเทียม เกิดความรู้สึกเป็น "ลูกเมียน้อย" ของกสท.ที่ออกกฎหลายอย่างทำให้ธุรกิจทีวีดาวเทียมถูกตีกรอบในการทำธุรกิจและยังเกิดความรู้สึกถูกเอาเปรียบจากทีวีดิจิทัลที่ใช้กฎ Must Carry บังคับโครงข่ายจานดาวเทียมให้ล็อกหมายเลข 1-36 ให้ทีวีดิจิทัล

 โครงข่ายทีวีดิจิทัลกับผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล แยกกันเดินแทบไม่เคยทำงานร่วมกันเพื่อให้การขยายโครงข่ายไปพร้อมๆ กับการแคมเปญให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่าสัญญาณครอบคลุมแล้ว สามารถรับชมผ่านกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลได้

ผู้บริโภคกลายเป็นผู้ถูกเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัว เข้าใจผิดไปว่ากำลังรับชมทีวีดิจิทัลจากจานดาวเทียมเพียงพอแล้ว จึงไม่ได้ใช้สิทธิ์นำคูปองไปแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล ทั้งๆ ที่มีสิทธิ์เท่าเทียมกันทุกครัวเรือนในการรับชมทีวีดิจิทัล 48 ช่อง จากกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินหรือโทรทัศน์ที่มีจูนเนอร์รับชมได้ในเครื่อง ซึ่งถือเป็นบริการพื้นฐานเหมือนกับกิจการสาธารณูปโภคน้ำไฟที่กสท.มีหน้าที่ต้องทำทุกวิถีทางให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิทัลแบบครอบถ้วน 100% หรือ 22.8 ล้านครัวเรือน

 ผมเสนอให้ ประชุมสุดยอดทีวีดิจิทัลเพื่อทำให้เป็นวาระแห่งชาติ ร่วมกันแก้ไขให้ไปต่อได้ น่าจะดีกว่าชี้หน้ากล่าวหากันด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือผู้คุมกฎยืนกระต่ายขาเดียวไม่สนใจความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ