วิบากกรรมทีวีดิจิทัล โฆษณาไม่พอแบ่ง!!

วิบากกรรมทีวีดิจิทัล โฆษณาไม่พอแบ่ง!!

การจัดสรรคลื่นความถี่โทรทัศน์ระบบดิจิทัล 24 ช่อง ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

    (กสทช.) ภายใต้ระบบใบอนุญาต 15 ปี เวลาผ่านไปเพียง 1 ปี ปรากฎเหตุการณ์ที่มาเร็วกว่าที่คนในอุตสาหกรรมสื่อประเมินไว้ว่าทั้ง 24 ช่อง ไม่น่าจะอยู่ครบเทอม!!

เมื่อบริษัทไทยทีวี จำกัด ของ เจ๊ติ๋มพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ผู้ชนะประมูลทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ช่องข่าว ไทยทีวี และช่องเด็ก โลก้า รวมมูลค่า 1,968 ล้านบาท โดยจ่ายเงินค่าประมูลงวดแรกของทั้ง 2 ช่องไปแล้วมูลค่า 365 ล้านบาท ได้ตัดสินใจลาวงการทีวีดิจิทัล โดยไม่จ่ายเงินค่าประมูลงวดสอง ซึ่งถึงกำหนดจ่ายวันสุดท้าย 25 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมส่งหนังสือถึง กสทช. เพื่อขอบอกเลิกใบอนุญาตและเลิกประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ทั้ง 2 ช่อง โดยให้มีผลภายใน 15 วัน

จากนั้นเตรียมปัดฝุ่น ช่องทีวีพูล กลับมาออกอากาศทางช่องทีวีดาวเทียมอีกครั้งราวเดือน ก.ค.นี้

หากกลับมาดูเหตุการณ์ช็อกวงการทีวีดิจิทัล ที่มีผู้ประกอบกิจการถอดใจตั้งแต่ปีแรก ทั้งที่ “ทุกราย” ศึกษาแผนลงทุนมาแล้วว่าระยะเวลาคุ้มทุนเร็วที่สุดคือ 3 ปี ส่วนใหญ่ประเมินไว้ที่ 5 ปี และช่องเอชดี คาดการณ์ไว้ถึง 7 ปี เรียกว่าเป็นการลงทุนระยะยาว เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัย“สายป่าน”การลงทุน จากอายุสัญญาใบอนุญาต 15 ปี

การขอบอกเลิกใบอนุญาตและการประกอบกิจการของบริษัทไทยทีวี ทั้ง 2 ช่อง เป็นการส่งสัญญาณให้ขบคิดต่อว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้อีกหรือไม่ คงต้องกลับมาดูว่า ทีวีดิจิทัล สามารถแบกรับต้นทุนคงที่นอกเหนือจากค่าใบอนุญาต ทั้งค่าเช่าโครงข่าย, ค่าส่งสัญญาณดาวเทียม ,ค่าผลิตรายการ, ค่าบริการจัดการ เฉลี่ยช่องละ 800-1,000 ล้านบาทต่อปีได้หรือไม่

ท่ามกลางอุตสาหกรรมธุรกิจทีวีในภาวะแข่งขันสูง จากจำนวนช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว จาก 6 ช่อง เป็น 24 ช่อง จำนวนช่องที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ “ผู้ชม”กระจายตัวและเม็ดเงินโฆษณากระจายตามเรทติ้งไหลเข้าสู่ ช่องผู้นำ ในกลุ่มท็อปเทนเป็นหลัก

ประการสำคัญแหล่งรายได้สำคัญ โฆษณา ปีนี้ ดูจะไม่เป็นใจ ในช่วงเริ่มต้นออนแอร์ทีวีดิจิทัล ด้วยจำนวนช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้น แต่เม็ดเงินโฆษณาทีวีไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม จากปัจจัยเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อซบเซา ผู้ใช้งบโฆษณาจึงอยู่ในภาวะ “เก็บเงิน” รอสัญญาณฟื้นตัว เพื่อกลับมาใช้งบผ่านสื่อทีวี

ประการสำคัญหลังจากฟรีทีวีอนาล็อก 2 ช่องผู้นำ ทั้ง ช่อง 7” และ ช่อง3” ที่ออกอากาศคู่ขนานทั้งอนาล็อกและช่องดิจิทัล เผชิญจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมทีวี จากการออกอากาศทีวีดิจิทัลในปีที่ผ่านมา และถูกแชร์ผู้ชมไปให้กับทีวีดิจิทัลช่องใหม่ โดยช่องผู้นำทั้งช่อง 7และช่อง3 มีผู้ชมลดลงราว 20% ส่วนฟรีทีวีอันดับรอง ทั้งช่อง 5 และช่อง 9  ลดลงราว 40-50%

แต่ตัวเลขล่าสุดของนีลเส็น รายงานแนวโน้มผู้ชมทีวี ทั้งช่อง7และช่อง3 อัตราการลดลงเหลือเพียง 5-10% และเริ่มคงที่ ส่วนช่อง5 และช่อง9 ตัวเลขจำนวนผู้ชมลดลงยังอยู่อัตราเดิมที่ 40-50% ทิศทางดังกล่าวทำให้ทั้งช่อง 7 และช่อง 3 ยังคงแข็งแกร่งและครองเม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีรวมกันกว่า 65%

เมื่อตลาดโฆษณาไม่ได้ขยายตัวตามจำนวนช่องทีวีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นและทีวีอนาล็อกช่องผู้นำยังรักษาเม็ดเงินก้อนเดิมไว้ได้ งบโฆษณาที่กระจายมายังทีวีดิจิทัลช่องใหม่ จึงมาจากทีวีดาวเทียมที่ย้ายแพลตฟอร์มมาออนแอร์ทางทีวีดิจิทัล และจากช่อง5 และช่อง9 ที่จำนวนผู้ชมลดลง

สิ่งที่ต้องพิจารณาตามมาคือ เม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิทัลมีอยู่จำนวนเท่าไหร่!! นีลเส็น รายงานว่า 4 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 24,210 ล้านบาท ตัวเลขดังกล่าววัดจากราคาตั้งโฆษณา(rate card) ที่แต่ละช่องกำหนดราคาในอัตราสูง แต่มูลค่าจริงอยู่ที่ราว 20-30% หรือราว 5,000-7,000 ล้านบาทเท่านั้น เม็ดเงินก้อนดังกล่าวมีทีวีดิจิทัล 21 ช่อง ไม่รวมช่องอนาล็อก ที่ต้องแข่งขันแย่งชิงงบก้อนนี้ และส่วนใหญ่กระจายอยู่ในช่องท็อปเทน

สถานการณ์การแข่งขันสูง อุตสาหกรรมโฆษณาชะลอตัว ผู้นำอนาล็อกยังแข็งแกร่ง... ทำให้เม็ดเงินโฆษณารายได้หลัก“ทีวีดิจิทัล” ปัจจุบันไม่พอแบ่งเลี้ยง“ทีวีดิจิทัล”ช่องใหม่..สายป่านสั้นให้ยืนระยะอยู่ได้นาน