เทศกาลไทยในนครคุนหมิง

เทศกาลไทยในนครคุนหมิง

วันที่ 8 - 17 พฤษภาคม 2558 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครคุนหมิง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครคุนหมิง สำนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานนครคุนหมิง รวมทั้งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานเทศกาลไทย ณ นครคุนหมิง ประจำปี 2558 ณ ห้างสรรพสินค้าหนานย่า ใจกลางนครคุนหมิง โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)


การจัดงานเป็นระยะเวลา 10 วัน มีวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมช่วงสุดสัปดาห์ 2 ครั้ง เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องชาวคุนหมิง ที่ต้องการเข้าชมงานเทศกาลไทยโดยสะดวกในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ กิจกรรมในงานเทศกาลไทยมีความหลากหลาย อาทิ ดารายอดนิยมไทยในจีน ติ๊นา ศุภนาฏ จิตตลีลา พบกับแฟนคลับชาวคุนหมิง การแสดงนาฏศิลป์ไทยโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และนักศึกษาไทยในนครคุนหมิง การแกะสลักผักและผลไม้ การวาดระบายสีร่ม (เชียงใหม่) สาธิตการร้อยพวงมาลัย การสาธิตทำขนมไทย โดยความสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครคุนหมิง การแสดงแม่ไม้มวยไทยโดยความสนับสนุนของมูลนิธิไทย กระทรวงการต่างประเทศ การออกร้านจำหน่ายอาหารไทย ผลิตภัณฑ์สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) สินค้าตกแต่งบ้าน อัญมณี สปาไทย ยาสมุนไพรไทย เป็นต้น


งานเทศกาลไทย ณ นครคุนหมิง ได้กลายเป็นงานประจำปีที่สำคัญของนครคุนหมิง เนื่องจากสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้จัดงานต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 7 ปีแล้ว ถือเป็นกิจกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาวคุนหมิง ที่นิยมมาเที่ยวชมงานเทศกาลไทย เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพดี ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ อัญมณี สินค้าตกแต่งบ้าน รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ของไทย ซึ่งถือเป็นของดี ของเด่น 77 จังหวัด


บูธร้านอาหารไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผัดไทย ไก่ย่าง ส้มตำ ยำวุ้นเส้น ข้าวเหนียวมะม่วง หรือแม้แต่น้ำมะม่วง นอกจากนั้นเครื่องปรุง เครื่องแกง ก็พลอยขายดิบขายดีตามไปด้วย


ผลไม้ไทยยอดนิยมของชาวจีนคือ ทุเรียน ซึ่งต้องทานคู่กับ มังคุด (ทานทุเรียนมากไปก็จะร้อนใน ขณะที่มังคุดจะมีสรรพคุณแก้ร้อนใน) ขนุน สละหรือระกำ กล้วยไข่ ส้มโอ มะม่วง ลำไย (น้ำลำไยบรรจุขวด) มะพร้าวเผา ซึ่งดื่มน้ำและทานเนื้อมะพร้าวได้อีกด้วย


ขนมขบเคี้ยวทานเล่นที่แปรรูปจากทุเรียนล้วนขายได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนอบแห้ง ทุเรียนกวน คุกกี้ทุเรียน ทองม้วนทุเรียน


ข้าวเกรียบกุ้งหน้าหมูหย็อง ก็เป็นสินค้าดาวเด่นของงาน เนื่องจากรสชาติถูกปาก ถูกใจผู้บริโภคชาวจีนที่ชอบขนมที่มีความกรุบกรอบ หอม หวาน และมันอยู่ในระดับพอดี (ไม่หวานเจี๊ยบคือมีรสหวานเล็กน้อย) ข้าวตังหน้าหมูหย็องก็ได้รับความนิยมเหมือนกัน แต่เพราะความแปลกใหม่ของข้าวเกรียบกุ้งหน้าหมูหย็อง จึงทำให้ได้รับการตอบรับดีเป็นพิเศษ สินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีมาก


ดังนั้น ขนมชนิดต่างๆ ของไทยจึงมีโอกาสที่จะทำตลาดในประเทศจีน โดยในขั้นแรกก็ต้องนำเสนอผ่านงานเทศกาลไทย และในภายหลังเมื่อชาวจีนรู้จักขนมไทยมากขึ้นแล้ว ก็จะมีโอกาสขายสินค้าเหล่านี้ให้กับชาวจีนได้เพิ่มมากขึ้น ผ่านทาง E-Commerce หรือมีนักธุรกิจจีนมาเจรจาขอเป็นผู้แทนจำหน่ายหรือผู้นำเข้า


กระแสนิยมไทยในนครคุนหมิง (หรือ มณฑลยูนนาน ซึ่งคือมณฑลทางตอนใต้สุดของประเทศจีน) มีอยู่อย่างเห็นได้ชัด โดยงานเทศกาลไทยได้รับความนิยมและกลายเป็นงานสำคัญและได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากทางการจีนโดยนครคุนหมิงและมณฑลยูนนาน ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานการต่างประเทศ นครคุนหมิง เป็นผู้ร่วมสนับสนุนและจัดงานเทศกาลไทยด้วย


ผลสำเร็จจากการจัดงานเทศกาลไทย ได้เป็นประสบการณ์ตอกย้ำความมั่นใจและสร้างกำลังใจให้ผู้ประกอบการไทย ให้มีความเชื่อมั่นในสินค้าของตนเองมากขึ้น ว่าสินค้าไทยสามารถเป็นสินค้ายอดนิยมของชาวจีนได้โดยไม่ยาก หากใส่ใจในคุณภาพ ความปลอดภัย ความทันสมัยของบรรจุภัณฑ์ การตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนที่ชอบของอร่อย ถูกจริตชาวจีนที่ไม่ชอบขนมหวานชนิด หวานเจี๊ยบ เข้มข้นเกินไป และเค็มเกินไป แต่นิยมขนมไทยรสกลมกล่อมที่มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นเทียนอบ หรือกลิ่นใบเตย เป็นต้น


สุดท้ายนี้ ก็อยากจะให้กำลังใจผู้ประกอบการไทยว่า ตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญ และเป็นตลาดในอนาคตที่ต้องให้ความใส่ใจ ดังนั้น จึงต้องให้ความสนใจที่ตลาดจีน ซึ่งมีประชากรในปัจจุบัน ไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านคน ลองจินตนาการว่าผู้ประกอบการใด มีสินค้าไทยที่ถูกใจและถูกจริตชาวจีนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ หรือครึ่งเปอร์เซ็นต์ก็ได้ ก็ขอให้ผู้ประกอบการไทยลองจินตนาการต่อเองเลยก็แล้วกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น