ขอ'มาตรา44'แก้ปมทีวีดิจิทัล แจกกล่อง'คืนความสุข'ให้ทุกบ้าน

ขอ'มาตรา44'แก้ปมทีวีดิจิทัล แจกกล่อง'คืนความสุข'ให้ทุกบ้าน

ในที่สุดวิบากกรรมของทีวีดิจิทัลในปีแรกที่หนักหนาสาหัส อันเป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่ "บกพร่อง"

    ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท.)ในหลายๆเรื่อง  ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลก็จำต้อง"แบกรับ"หลังแอ่นต่อไป  อย่างไม่ค่อยมีความหวังมากนัก ว่าอนาคตของทีวีดิจิทัลจะรุ่งหรือร่วงเมื่อไหร่

   ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 16 ช่องอยู่ในภาวะ"จำยอม"ไปชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 2 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมารวมเป็นเงินกว่า 6,647 ล้านบาท ยังเหลืออีก 8 ช่องที่คาดว่าทุกช่องจะไปชำระในวันจันทร์ที่ 25 พ.ค.ที่เป็นวันสุดท้าย

  โดยมีผู้ประกอบการหลายรายได้ยื่นจดหมาย"ขอสงวนสิทธิ์ในการฟ้องร้อง" เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้กสทช. เยียวยาผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่"บกพร่อง" ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)

  ความหวังในการเลื่อนชำระเงินงวดที่ 2 ออกไปอย่างน้อย 1 ปีมลายหายไป  เมื่อท่าทีของกสท.เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่แล้วอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย  หลังจากกสทช.ได้อนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ให้เลื่อนชำระเงินประมูลงวดที่ 2 ไป 1 ปีแต่ให้ไปจัดทำประชาพิจารณ์โดยเร่งด่วนภายใน 15 วันเพื่อให้เสร็จทันก่อนถึงกำหนดชำระเงินประมูลงวด 2 ภายในวันที่  25 พ.ค.

  ข้ออ้างของกสท.คือมีนักเคลื่อนไหวทางสังคมชื่อ"ศรีสุวรรณ จรรยา"ไปยื่นจดหมายต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน,คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดว่ากสท.กระทำความผิดในการเอื้อให้เอกชนได้ประโยชน์ จากการเลื่อนชำระเงินงวดที่ 2 ทำให้กสท.ชะงักทันทีไปยื่นจดหมายสอบถามจาก 3 หน่วยงานอยย่างเร่งด่วน

  การตัดสินใจของกสท.ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่คงเส้นคงวา และไร้หลักการใดๆในการทำงานของกสท. ที่ออกแบบให้เป็นองค์กรอิสระ  แต่กลับแน่วแน่ในวิธีการ"ปกป้องตัวเอง" ด้วยการโยนการตัดสินใจที่สำคัญๆ ออกไปจากอำนาจของตัวเองอยู่เป็นประจำ  เพื่อจะได้ไม่ต้อง "รับผิดชอบ" ใดๆจากการตัดสินใจร่วมกันของกสท. 5 คน

  แต่เรื่องใหญ่ที่สุดกลับหวงไว้ไม่ยอมให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม คือกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอนาล็อกสู่ดิจิทัล  จนทำให้หลังการประมูลทีวีดิจิทัลผ่านไป 1 ปีได้ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 24 ช่องอยู่ในภาวะบักโกรกกันถ้วนหน้า  จนแทบมองไม่เห็นฝั่งว่าจะเผชิญกับโขดหินขวากหนามอะไรอีกกับการเปลี่ยนผ่านที่อยู่ในสภาพทุกลักทุเลอย่างมาก

  กสท.ไม่เคย"ยอมรับผิด"ใดๆว่าทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่"บกพร่อง"ของตัวเอง  แต่กลับโยนปัญหาออกจากตัวเองหรือหาวิธีการป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกกล่าวโทษจากการตัดสินใจ

  ศาลปกครองได้กลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้ประกอบการ ที่ไม่ได้รับผลกรรมจากการกระทำของกสทช. ในแทบทุกเรื่องและหลายครั้งกสทช.ในฝั่งบรอดแคสต์"เต็มใจ" ถูกฟ้องเพื่อให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้กระทำการในบางเรื่องที่ไม่กล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง  จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์มากว่าในหลายกรณีกสท. แก้ปัญหาแบบลิงแก้แห  แล้วไปต่อไม่ได้ กลับบอกให้ผู้ประกอบการไปฟ้องศาลปกครองเพื่อสั่งให้ดำเนินการจะได้ไม่มีความผิด

  ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน กสท.บอกว่าเห็นใจผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ยอมรับบางส่วนว่าเกิดปัญหาจากการกระทำของกสท.เองด้วย   อยากจะให้เลื่อนชำระเงินประมูลงวดที่ 2 แต่ทำไม่ได้กลัวจะผิดกฎหมาย  แต่ถ้าศาลปกครองสั่งให้เยียวยาแบบไหนพร้อมจะดำเนินการทันที

   เพื่อนพ้องในวงการทีวีดิจิทัลได้หารือกันหลายรอบแล้ว  เห็นตรงกันว่าศาลปกครองน่าจะเป็นที่พึ่งพาแหล่งสุดท้ายเพื่อให้มีคำพิพากษา"เยียวยา"ผลกระทบจากการกระทำ"บกพร่อง"ของกสท.  เช่น  คูปองแจกช้าไป 6 เดือน, โครงข่ายไม่ครอบคลุมไม่ได้คุณภาพ , การประชาสัมพันธ์อ่อนมาก, การเรียงหมายเลขเหมือนกันทุกแพลตฟอร์มไม่เกิดขึ้น ฯลฯ

  ผมมีความเห็นว่าข้อเรียกร้องเรื่องเดียว ที่จะแก้ไขเยียวยาได้คือขอให้กสท.ปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปตามแผนงานการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกสู่ดิจิทัลอย่างเคร่งครัด

  สำคัญที่สุดคือกสท.จะต้องยึดมั่นในแผนเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำไปสู่การยุติออกอากาศระบบอนาล็อกสิ้นปี 2561 ให้ทุกครัวเรือน 100% สามารถรับชมทีวีดิจิทัลจากอุปกรณ์กล่องรับสัญญาณ หรือโทรทัศน์ที่มีจูนเนอร์รับทีวีดิจิทัล  ไม่ใช่หลอกๆกันว่ารับชมทีวีดิจิทัลผ่านจานดาวเทียมและเคเบิลทีวีได้ตามกฎ Must Carry

  แผนแม่บทการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกสู่ดิจิทัล เริ่มต้นใช้ ปี 2555-2559 ผ่านมาแล้วประมาณ 3 ปี ตามแผนแม่บทในปี 2558 จะต้องกำหนดแผนเปลี่ยนผ่านยุติระบบอนาล็อกให้มีความชัดเจนว่าวันไหน เพื่อให้เป็น"วาระแห่งชาติ"ในการนับถอยหลังสิ้นสุดระบบอนาล็อก ( Analog Switch-off)ที่ไม่ใช่ภารกิจของกสท.องค์กรเดียว

  ข้อตกลงร่วมของสถานีโทรทัศน์ของรัฐคือช่อง 5, ช่อง 9 , ช่อง 11 และไทยพีบีเอส รวมทั้งช่อง 7 ที่เป็นคู่สัมปทานช่อง 5 จะพร้อมใจกันยุติการออกอากาศในระบบอะนาล็อกภายในสิ้นปี 2561 แต่ยังเหลือช่อง 3 ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับอสมท.จะสิ้นสุดสัญญาที่ต่ออายุอีก 10 ปีในวันที่ 24 มี.ค. 2563  รวมเวลาช่อง 3 ได้สัมปทานไปร่วมครึ่งศตวรรษหรือ 50 ปี  ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะร่นอายุสัญญาให้สิ้นสุดพร้อมกันภายในปี 2561 หรือไม่

  แผนแม่บทมีตัวชี้วัดว่าภายในปี 2560 ครัวเรือนไทยในเมืองใหญ่ไม่น้อยกว่า 80% จะต้องรับชมทีวีดิจิทัลได้ ขอให้ทำให้ได้จริงๆ  ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ในปี 2558 สัญญาณโครงข่ายตามการกล่าวอ้างของผู้ให้บริการบอกครอบคลุมไม่น้อยกว่า 80% แล้ว  แต่ความเป็นจริงครัวเรือนไทยที่รับชมทีวีดิจิทัลจากกล่องรับสัญญาณแบบ DVB T2 และเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีจูนเนอร์จากการใช้คูปองมาแลกไปยังมีแค่ประมาณ 5 ล้านกล่องหรือคิดเป็นแค่ 25% ของครัวเรือนไทย 22 ล้านครัวเรือน

  จำนวนครัวเรือนไทยที่ใช้เป็นฐานในช่วงก่อนการประมูลก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นเดียวกัน  แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเลขาธิการสำนักงานกสทช."ฐากร ตัณฑสิทธิ์"ยอมรับว่าจะให้มีการแจกคูปองให้ครบ 22.8 ล้านครัวเรือน  จากเดิมใช้ตัวเลขครัวเรือนไทย 14.1 ล้านครัวเรือนในการแจกคูปองที่บอกว่ายังเหลือแจกอีก 4.6 ล้านใบ  แล้วคูปองที่แจกไปทั้งหมดประมาณ 9 ล้านคูปองมีผู้มาแลกแค่ประมาณ 50% ส่วนที่เหลือได้ต่ออายุจาก 31 พ.ค.ออกไปอีก 2 เดือน ถ้ายังไม่มีผู้มาแลกอีกจะถือว่าหมดสิทธิ์  เท่ากับว่ายอดเงินคูปองประมาณ 4,000 ล้านบาทจะส่งเข้าคลัง

  หากต้องการเยียวยาผลกระทบผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล  ควรจะหาหนทางให้ทุกครัวเรือน 22.8 ล้านครัวเรือนมีอุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินได้ครบถ้วนตามที่บอกไว้ก่อนประมูล  ไม่ใช่ตามที่พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกสท.พยายามจะให้ใช้เกณฑ์รับสัญญาณผ่านกล่องทีวีดาวเทียมประมาณ 50% ได้ตามกฎ Must Carry

   เงินประมูลงวดแรกที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจ่าย 11,162 ล้านบาทยังอยู่ที่กองทุนวิจัยสื่อฯของกสทช. ส่วนงวดที่สองอีก 8,124 ล้านบาท(หากทุกรายมาชำระในวันที่ 25 พ.ค.)จะต้องส่งเข้ากระทรวงการคลังก่อน รวม 2 งวด 19,286 ล้านบาท

   หากใช้เกณฑ์คูปอง 690 บาทที่มาจากตัวเลขเงินประมูลขั้นต่ำ 15,190 ล้านบาทหารด้วยจำนวนครัวเรือน 22 ล้านครัวเรือน  ผู้ประกอบการได้ชำระเงินประมูลทั้งสองงวดน่าจะเพียงพอต่อการนำไปจัดซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินพร้อมกับเสาอากาศ  สามารถแจกไปถึงครัวเรือนหรือบ้านที่ยังไม่ได้นำคูปองมาแลกอีกประมาณ 17 ล้านครัวเรือนจะทำให้การเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัลครบถ้วน 100%จริงๆ ที่เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อประชาชน  รวมทั้งจะทำให้"โทรทัศน์ชุมชน"ในแต่ละพื้นที่ 12 ช่องมีโอกาสเกิดขึ้น

   ผู้ประกอบการ 17 บริษัท 24 ช่องทีวีดิจิทัลน่าจะต้องการเพียงแค่นี้  นำเงินประมูลของกลุ่มผู้ประกอบการที่วีดิจิทัลที่ชำระมาแล้ว 2 งวดไปทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทีวีดิจิทัลได้จริงๆ ไม่ใช่แบบจำแลงๆ ผ่านจานดาวเทียม

   มองไปมองมาเห็นช่องทางเดียวแม้ไม่ค่อยเห็นด้วยกับมาตรา 44 นัก  ในเมื่อกสท.ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ และมักอ้างว่าเกินอำนาจของตัวเองตามกฎหมาย ฝากท่านนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาใช้มาตรา 44 ในเชิงสร้างสรรค์  อยากให้สั่งนำเงินประมูล 2 งวดที่ยังเหลืออีกประมาณ 15,000 ล้านบาทไป"คืนความสุข" ซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลให้ชาวบ้านได้รับชมทีวีดิจิทัล  บนความคมชัดสมบูรณ์แบบ ทั้งในระบบความคมชัดปกติ( SD )และความคมชัดสูง( HD )

  ความยุ่งเหยิงสิ้นหวังในทีวีดิจิทัลของไทยจะมลายไปทันทีทุกฝ่าย WIN-WIN และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะมีความสามารถในการชำระเงินงวดที่เหลือ 4 งวดในอีก 4 ปี รวมกันอีกประมาณ 30,000 ล้านบาทเป็นเงินเข้ากระทรวงการคลัง