ซินเจียง : จุดเชื่อมจีนกับเอเชียกลาง และยุโรปในยุค New Silk

ซินเจียง : จุดเชื่อมจีนกับเอเชียกลาง และยุโรปในยุค New Silk

เมื่อเอ่ยถึงเส้นทางสายไหม (Silk Road) ในจีน “ซินเจียง” เป็นดินแดนแรกที่ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึง

พร้อมกับภาพของคาราวานขนส่งสินค้าบนหลังอูฐ และภาพประวัติศาสตร์ในอดีตที่เจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรจีนในการเป็นจุดเชื่อมทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากโลกตะวันออกไปยังโลกตะวันตก


ซินเจียง มีชื่อทางการในขณะนี้ว่า “เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์” (Xinjiang Uygur Autonomous Region) และเป็น 1 ใน 5 เขตปกครองตนเองของประเทศจีน


เส้นทางสายไหมถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 ในยุคของสี จิ้นผิง “ประธานาธิบดีที่ไม่ธรรมดา”ของจีน ในปี 2013 ท่านสี จิ้นผิงได้เสนอแนวคิด “เขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt) เป็นครั้งแรกในขณะเยือนคาซัคสถาน และในอีกหนึ่งเดือนต่อมา ผู้นำจีนคนนี้ก็ได้เอ่ยถึงคำว่า “เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21” (Maritime Silk Road in the 21 century) เป็นครั้งแรกที่อินโดนีเซียในระหว่างการเดินสายเยือนประเทศในอาเซียน และหลังจากนั้น คำว่า “Silk Road” ก็กลายเป็นคำคุ้นหูในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมไปถึงคำเรียกเส้นทางยุทธศาสตร์ทั้งสองรวมกันว่า “One Belt, One Road” หรือ “อีไต้อีลู่” (Yi Dai Yi Lu) ในภาษาจีนกลาง


ในแง่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เขตซินเจียง เป็นจุดเชื่อมดินแดนจีนกับภูมิภาคเอเชียกลางและยุโรป จึงย่อมจะถูกใช้เพื่อตอบโจทย์ของผู้นำจีนในการผลักดันการพัฒนาตามแนวยุทธศาสตร์ “New Silk Road”


แม้ว่าจะมีจุดอ่อนจากการเป็นดินแดน Land Locked ห่างไกลทะเล แต่ซินเจียงมีขนาดเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ครอบคลุมอาณาบริเวณคิดเป็น 1 ใน 6 ของพื้นที่จีนทั้งหมด และที่สำคัญ ซินเจียงมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านของจีนรวม 8 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซ ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย และมองโกลเลีย


ด้วยทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ซินเจียงมีความสำคัญมากสำหรับรัฐบาลกลางจีน ทั้งในแง่ของความมั่นคงด้านการป้องกันประเทศ และการเชื่อมโยงการคมนาคมกับประเทศโดยรอบ รวมไปถึงความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากซินเจียงเป็นแหล่งทรัพยากรพลังงานที่อุดมสมบูรณ์ของจีน รัฐบาลกลางได้มีการบริหารปกครองซินเจียงในฐานะเป็น “เขตปกครองตนเอง” ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปี 1955 และในปี 2015 นี้ จะเป็นปีแห่งการครบรอบ 60 ปีของการสถาปนาเขตปกครองตนเองซินเจียง


ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมีการบัญญัติกฎหมาย การประกาศนโยบายส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของเขตซินเจียง และได้ให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่ชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ (ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในดินแดนซินเจียง) และแน่นอนว่า การผลักดันเขตเศรษฐกิจตามเส้นทางสายไหม ก็ถือเป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่ถูกใช้มาเชื่อมโยงกับการผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาของเขตซินเจียง


ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ผลจากการประชุม Boao Asia Forum 2015 คณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (สภาพัฒน์ฯ จีน) กระทรวงการต่างประเทศจีน และกระทรวงพาณิชย์ของจีน ทั้งสามหน่วยงานสำคัญของจีนได้ประกาศ วิสัยทัศน์ และแผนปฏิบัติการของการผลักดันการสร้าง “เขตเศรษฐกิจตามเส้นทางสายไหม” และ “เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21” โดยระบุชัดเจนว่า “ซินเจียงเป็นเขตสำคัญของเขตเศรษฐกิจตามเส้นทางสายไหม เป็นด่านหน้าสู่โลกภายนอกทางภาคตะวันตกของจีน” ซึ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของซินเจียง


แน่นอนว่า รัฐบาลของซินเจียงก็ย่อมจะตอบรับนโยบายนี้ของรัฐบาลกลางอย่างแข็งขัน โดยรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อรองรับ “One Belt” โดยเน้นในประเด็นต่างๆ ดังนี้


ประการแรก รัฐบาลซินเจียงจะเร่งจัดตั้ง “เขตทดลองความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเอเชียยุโรป” ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน เทคโนโลยีสารสนเทศ การคมนาคมและการเงิน ภายในเขตซินเจียง รวมไปถึงการเร่งปฏิรูประบบการควบคุมเงินตราต่างประเทศ การตรวจสอบศุลกากร การให้บริการด้านการเงิน เป็นต้น เพื่อให้มีระบบที่มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ในเขตทดลองฯ ดังกล่าวจะมีการสร้างศูนย์กลางการคมนาคม ศูนย์โลจิสติกส์ ศูนย์การเงิน ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ศูนย์การบริการทางการแพทย์ ที่สำคัญ คือ การพัฒนาเป็นฐานการแปรรูปและเก็บสำรองน้ำมันรวมทั้งก๊าซธรรมชาติของจีน ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมเคมี ถ่านหิน และการผลิตพลังงานลม เป็นต้น โดยได้นำภารกิจต่าง ๆ เหล่านี้ผลักดันขึ้นเป็น “วาระแห่งซินเจียง”


ประการที่สอง บทบาทของซินเจียงในการเป็น Asia - Europe Land Bridge เพื่อใช้ซินเจียงเป็นจุดเชื่อมโยงมณฑลจีนตะวันตะวันออกกับจีนตะวันตก ไปยังเอเชียกลาง และยุโรป โดยจะลงทุนสร้าง Land Port ในซินเจียง มูลค่ากว่า 4,000 ล้านหยวน เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือเหลียนหยุนกั่ง ในมณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน ผ่านซินเจียง แล้วไปสิ้นสุดที่ ท่าเรือรอตเทอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์


ประการที่สาม การผลักดันโครงข่ายเชื่อมโยงระบบราง โดยการสร้างและเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟจากจีนตะวันออก ผ่านจีนตะวันตกไปยังเอเชียกลาง และยุโรป และได้เริ่มอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2015 มีการวางรางรถไฟ จากสถานีรถไฟฮามีของซินเจียง และมีการขยายไปทางตะวันออกเชื่อมกับท่าเรือเทียนจิน และขยายไปยังจีนตะวันตกเชื่อมกับยุโรป ทำให้โครงข่ายทางรถไฟของจีนมีลักษณะ 5 แนวราบ 5 แนวดิ่ง ซึ่งแนวเส้นทางรถไฟใหม่จะเชื่อมโยงกับทางรถไฟเดิมที่หลานโจว และมองโกเลียใน ในส่วนที่ขยายเส้นทางเพิ่มเติมนั้นมีความยาวทั้งหมด 629.9 กิโลเมตร เฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตซินเจียง มีความยาวทั้งหมด 211 กิโลเมตร ด้วยเงินลงทุนกว่า 9,870 ล้านหยวน วิ่งด้วยความเร็วประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


นอกจากนี้ ผู้นำจีนระดับสูงอย่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ได้ขยันเดินสายเยือนประเทศต่างๆ ในแนวเส้นทางสายไหมอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันความร่วมมือต่างๆ อย่างจริงจัง เช่น การเยือนปากีสถานในเดือนเมษายน 2015 ได้มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างจีนกับปากีสถาน มูลค่ากว่า 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเชื่อมโยงดินแดนซินเจียงกับท่าเรือน้ำลึกในปากีสถาน คือ ท่าเรือ Gwadar Deep-Sea Port ผ่านเส้นทางรถไฟ ทางหลวง และสนามบิน Gwadar New Airport รวมไปถึงการสร้างท่อขนส่งน้ำมัน และท่อก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนระบบสื่อสารผ่านโครงข่าย Optical Fiber Communication เป็นต้น ทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างเป็น “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน” โดยผ่านซินเจียง


โดยสรุป ด้วยทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรพลังงานในซินเจียง และประเด็นอ่อนไหวทางด้านความมั่นคง ผู้นำจีนย่อมให้ความสำคัญกับซินเจียงเป็นพิเศษ และผลักดันการพัฒนาซินเจียงโดยผ่านนโยบายและมาตรการต่างๆ รวมไปถึงการผลักดันผ่านยุทธศาสตร์ One Belt, One Road และ New Silk Road ด้วยสารพัดโครงการที่รัฐบาลจีนทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่ออัดฉีดกระตุ้นการพัฒนาของซินเจียง ดินแดนจีนตะวันตก งานนี้ เราต้องเกาะติดตามลุ้นกันต่อว่า ในที่สุด ซินเจียงจะสามารถไล่ตามทันการพัฒนาของมณฑลจีนตะวันออกได้บ้างหรือไม่