คดีตัวอย่างเชือดคนคลังโยงทุจริต

คดีตัวอย่างเชือดคนคลังโยงทุจริต

ข่าวใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงข้าราชการพลเรือน และท้องถิ่นในปลายสัปดาห์ที่แล้ว คงหนีไม่พ้นข่าว คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 (คสช.) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประกาศใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้พักงานข้าราชการและผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นจำนวน 45 ราย ที่โยงใยการทุจริตในจำนวนดังกล่าว เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลังจำนวน 6 ราย

 

ในจำนวนข้าราชการกระทรวงการคลัง 6 รายที่ถูกสั่งพักงานนี้ มี 4 รายเกี่ยวข้องกับคดีโกงภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรมูลค่า 4 พันล้านบาท และ อีก 2 ราย เกี่ยวข้องกับคดีหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์หรูของกรมศุลกากร คาดมูลค่านับพันล้านบาท

 

ทั้งนี้ กรณีคดีโกงภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวนั้น ก่อนหน้านั้น เพียง 1 วัน คณะกรรมการอนุกรรมการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงการคลังมีมติไล่ออกข้าราชการระดับ ซี 9 จำนวน 1 ราย ซึ่งเป็น 1 ใน 4 รายที่ถูก คสช. สั่งพักงาน และ ภายในเดือนมิ.ย. นี้ กระทรวงการคลังจะสรุปรายชื่อผู้ร่วมทุจริตในกรณีดังกล่าว โดยมีจำนวนข้าราชการระดับสูงกว่า ซี 9 อีก 5 ราย และต่ำกว่าซี 9 อีก 14 ราย ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง ส่วนกรณีหนีภาษีนำเข้ารถยนต์หรูนั้น แน่นอนว่า จะต้องได้ตัวผู้เข้าร่วมกระบวนการทุจริตมาลงโทษอย่างแน่นอน เพราะอธิบดีคนปัจจุบัน ให้ความสำคัญอย่างมากกับนโยบายปราบปรามการทุจริตของนายกรัฐมนตรี

 

ทั้ง 2 คดี ถือเป็นคดีลงโทษตัวอย่างที่เรียกได้ว่า ยิ่งกว่าเชือดไก่ให้ลิงดู” สำหรับข้าราชการที่ใช้อำนาจโดยมิชอบเข้าไปเกี่ยวพันกระทำการทุจริต โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่มีหน้าที่หลักในการปกป้องรักษาและจัดเก็บรายได้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นเงินของแผ่นดิน

 

ครั้งนี้ ถือเป็นการลงโทษที่โยงใยไปถึงข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังครั้งแรกในรอบหลายปี ซึ่งในหลายคดีที่พบการทุจริต โดยเฉพาะในการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึง การปล่อยสินเชื่อที่ผิดปกติ แม้จะมีการดำเนินการในชั้นสอบสวน แต่ก็เหมือนเป็นการปิดตาข้างเดียว หรือ อาจจะเรียกได้ว่า“ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่”ระหว่างคณะกรรมการที่ตรวจสอบกับผู้ถูกตรวจสอบ ทำให้ผลสอบไม่มีการชี้มูลความผิดไปสู่การลงโทษชัดเจน

 

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมทั้งคดีโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม และ คดีหนีภาษีนำเข้ารถยนต์หรูข้างต้น อยู่ระหว่างการสอบสวนหาข้อเท็จจริง เพื่อชี้มูลความผิดและดำเนินการลงโทษของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นในชั้นการตรวจสอบของ กระทรวงการคลัง สำนักงานสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมถึง การฟ้องร้องเพื่อพิจารณาความรับผิดละเมิด เพื่อให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อรัฐ

 

ถามว่า การเรียกเงินคืนเพื่อชดใช้จากผู้กระทำผิดอย่างเต็มจำนวนที่เสียหาย จะมีความหวังหรือไม่ กรณีนี้ ตอบได้เลยว่า ยาก เพราะเมื่อระยะเวลาล่วงเลย นอกจากเงินที่ทุจริตจะถูกแปรสภาพหรือได้รับการฟอกเงินไปเรียบร้อยแล้ว เพราะกฎหมายยังไม่ให้อำนาจหน่วยงานต้นสังกัดสามารถสั่งอายัดเงินของผู้กระทำความผิดได้ทันที แม้จะมีการพบหลักฐานความผิดก็ตาม ทำให้การติดตามเงินคืนค่อนข้างยาก ขณะเดียวกัน วงเงินที่จะถูกเรียกคืนเพื่อชดใช้ความผิดที่กระทำนั้น ก็เป็นวงเงินที่สูงเกินกว่าจะสามารถชดใช้ได้หมด

 

ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังท่านหนึ่งให้ความรู้ว่า ที่จริงแล้ว ระบบป้องกันการทุจริตในวงราชการนั้น ถือว่า อยู่ในระดับที่ดีมาก มีการวางระเบียบปฏิบัติไว้เป็นขั้นตอน สามารถตรวจสอบได้ แต่คนที่กระทำการทุจริตนั้น ถือตนว่า เป็นผู้มีอำนาจ และ ไม่มีใครกล้าเอาผิดได้ ฉะนั้น คำสั่ง คสช. ครั้งนี้ถือได้ว่า เป็นคำสั่งตักเตือนสำหรับผู้ที่กำลังคิดจะใช้อำนาจในทางที่ผิดด้วยเช่นกัน