ขนมกล้วยกับการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้า

ขนมกล้วยกับการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้า

เรื่องของขนม Siam Banana ตามข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ กรณีที่ผู้ผลิตสินค้าขนม Siam Banana ที่ขายดีในแหล่งท่องเที่ยว

คือที่หัวหินและเขาใหญ่ ได้ติดต่อผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายหนึ่ง เพื่อที่จะวางขายสินค้าดังกล่าวทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการดังกล่าวได้ตอบรับและตกลงว่าจะวางขายสินค้านี้ในวันที่ 1 เดือนเมษายน 2558 แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ผลิตจะต้องเปิดเผยสูตรและกระบวนการและวิธีการผลิตขนมของตนในรายละเอียดเพื่อที่จะให้การผลิตสินค้าได้มาตรฐานสากล แต่หลังจากนั้น ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายนี้กลับบอกเลิกสัญญาการวางขายสินค้า ด้วยเหตุผลว่ามีสินค้าของตนเองแล้ว ชื่อลงท้ายว่า Banana เหมือนกัน ทำให้ผู้ผลิตสินค้า Siam Banana ที่ได้ลงทุนเพิ่มปริมาณการผลิตอีกเป็นร้อยเท่า ต้องประสบปัญหามีหนี้สินเนื่องจากลงทุนขยายการผลิตแล้วแต่ไม่มีช่องทางจำหน่าย


หลังจากที่มีการเผยแพร่เรื่องราวดังกล่าวในสื่อออนไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีร้านสะดวกซื้อ หลายพันแห่งทั่วประเทศ เป็นผู้ผูกขาดการค้าปลีก และเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อย มีการเรียกร้องให้ทางการ ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ผูกขาดการค้าปลีกและเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยไม่สามารถประกอบการต่อไปได้


เรื่องนี้นักวิชาการแห่งสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ท่านหนึ่ง ได้เขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เผยแพร่ในสื่อ ในบทความดังกล่าวได้ให้ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ จึงขออนุญาตนำบางส่วนมาอ้างถึง กล่าวคือในบทความดังกล่าวให้ข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่เกี่ยวกับการ “ผูกขาด” แต่อย่างใด พฤติกรรมที่มีการกล่าวถึงนั้นมีลักษณะของ “การค้าที่ไม่เป็นธรรม (unfair trade practice)” ตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มิใช่ การผูกขาดหรือ “การใช้อำนาจเหนือตลาด (market dominance)” ตามมาตรา 25 เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับการผูกขาดธุรกิจค้าปลีก แต่เกี่ยวกับการที่ร้านค้าปลีกถูกกล่าวหาว่าเอาเปรียบคู่ค้าที่เป็นซัพพลายเออร์จากการใช้ “อำนาจต่อรอง” ที่เหนือกว่า มาตรา 29 มีไว้เพื่อคุ้มครองธุรกิจรายย่อยที่ต้องทำธุรกรรมกับธุรกิจรายใหญ่มิให้ถูกเอาเปรียบ ไม่เกี่ยวกับการผูกขาด


ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อสังเกตของนักวิชาการดังกล่าวว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องของการค้าที่ไม่เป็นธรรม ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อย อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวนอกจากจะเข้าลักษณะเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 แล้ว พฤติกรรมของผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายนี้หากเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่มีเผยแพร่ดังกล่าวข้างต้น ก็อาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง นั่นคือ พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 ซึ่งตราขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจและให้มีกฎหมายครอบคลุมความรับผิดทางละเมิดความลับทางการค้า ซึ่งถ้าเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศ ก็อาจเทียบได้กับกฎหมายที่เรียกว่า Trade Secret Act


พระราชบัญญัติทางการค้า พ.ศ.2545 มีสาระที่สำคัญ คือ กำหนดความหมายของข้อมูลทางการค้า และลักษณะของข้อมูลที่เป็นความลับ อันจะถือว่าเป็นความลับทางการค้า สำหรับความรับผิดของผู้ละเมิดสิทธิความลับทางการค้านั้น มีทั้งความรับผิดทางแพ่งและความรับผิดทางอาญา ส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาที่สำคัญคือความผิดจากการแกล้งเปิดเผยความลับทางการค้าของผู้อื่นทำให้ไม่เป็นความลับอีกต่อไป เพื่อให้เกิดความเสียหายในการประกอบธุรกิจ ตามมาตรา 33 และกรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่มีตำแหน่งหน้าที่ดูแลความลับทางการค้า หรือได้ล่วงรู้ความลับนั้นมาอันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ และได้เปิดเผยข้อมูลนั้น ตามมาตรา 34 และมาตรา 35


สำหรับสูตรและกรรมวิธีการผลิต ที่ยังเป็นความลับ กฎหมายความลับทางการค้าของไทยและของต่างประเทศหลายประเทศ ถือเป็นความลับทางการค้า ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายความลับทางการค้า พฤติกรรมของผู้ประกอบการร้านสะดวกรายนี้ จะเข้าข่ายละเมิดกฎหมายความลับทางการค้า หากได้ความว่าสูตรและกระบวนการและวิธีการผลิตขนม Siam Banana เป็นสูตรและวิธีการผลิตที่มีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากสูตรและวิธีการทำขนมกล้วยไทยที่รับรู้รับทราบกันทั่วไปที่สามารถทำได้ไม่ยาก และยังเป็นความลับที่ยังไม่มีผู้ได้ล่วงรู้ ก็ถือได้ว่า สูตรและกระบวนการและวิธีการผลิตขนม Siam Banana เป็นความลับทางการค้าตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ที่ผู้เป็นเจ้าของคือผู้ผลิต Siam Banana เป็นผู้มีสิทธิ เปิดเผย เอาไป หรือใช้ซึ่งความลับทางการค้า หรืออนุญาตให้ผู้อื่น เปิดเผย เอาไป หรือใช้ซึ่งความลับทางการค้า หากปรากฏว่าผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายนี้เอาสูตรและกรรมวิธีการผลิตสินค้า Siam Banana ไปใช้ในการผลิตสินค้าของตนแล้วตั้งเป็นชื่อสินค้าตัวใหม่ ก็เป็นการละเมิดในความลับทางการค้าอันเป็นความรับผิดทางแพ่ง ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ซึ่งเจ้าของสูตรและวิธีการผลิต Siam Banana มีอำนาจฟ้องศาลขอให้ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อระงับหรือละเว้นการละเมิดสิทธิเป็นการชั่วคราวและฟ้องให้ศาลสั่งห้ามมิให้ผู้นั้นละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าและเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิดสิทธินั้นได้ตามมาตรา 8


ผลสุดท้ายก็เชื่อว่าเจ้าของสูตรและวิธีการผลิต Siam Banana ที่มีความด้อยกว่าผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายดังกล่าวในทุกๆ มิติ คงไม่อยากค้าความเพื่อหวังพึ่งความคุ้มครองจากกฎหมายด้วยตนเอง เมื่อผู้ประกอบการไม่รู้จักหรือไม่เคยคิดที่จะแบ่งปัน จึงควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นหน่วยธุรกิจรายเล็กรายน้อยอันชอบที่จะได้รับสิทธิแบ่งปันรายได้ในกิจการค้าปลีกของประเทศบ้าง ไม่ใช่ให้รายได้จากการค้าปลีกทั้งหมดไปกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่คิดแต่จะกอบโกยทั้งหมดเพียงรายเดียว และขอได้โปรดอย่านำคาถา ว่าประเทศไทยเป็นประเทศค้าเสรี มาท่องอีกเลย เพราะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปอยู่แล้วว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ค้าเสรี แต่ก็ต้องมีขอบเขตทั้งโดยบทบัญญัติของกฎหมาย และที่สำคัญคือขอบเขตตามมโนธรรมและมโนสำนึก ที่ต้องไม่เอาเปรียบและแบ่งปันให้ผู้ด้อยกว่าด้วย