สืบทอดปฏิรูป?

สืบทอดปฏิรูป?

เวลานี้ สิ่งที่ “คสช.” (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เผชิญหน้าอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย ก็คือ ความจริงใจ

ปฏิรูปประเทศ หรือข้ออ้าง สืบทอดอำนาจ

ถ้ามองจากร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่างให้มี สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 120 คน รวมทั้งร่างให้มีนายกรัฐมนตรีมาจาก คนนอก ได้ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวเองได้ และตัดสิทธิที่จะถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมนั้น อันมีผลต่อการถ่วงดุลของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงฝ่ายบริหารสามารถออกกฎหมายได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา

เหล่านี้คือ ประเด็นที่หลายฝ่ายเสนอแก้ไข และอยู่ที่ กมธ.ยกร่างจะเห็นด้วยหรือไม่ มากน้อยแค่ไหนในการแก้ไข

แต่ที่น่าโฟกัสอย่างมากอยู่ที่ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 120 คน” ล่าสุด (16 พ.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยว่า กมธ.ยกร่างฯเห็นพ้องต้องกันว่า จะปรับใน 2 ทิศทาง คือ 1. ลดจำนวนลง 2. ไม่ระบุสัดส่วนว่า ต้องมีที่มาจากที่ใดบ้าง เพื่อลดข้อครหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ

“มาตรานี้ กมธ.ยกร่างฯ คิดอย่างบริสุทธิ์ใจ เพื่อสืบทอดงาน แต่เมื่อมีกระแสต้าน ก็จะรับฟัง จะปรับแก้และลดจำนวนให้เหมาะสม เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างเห็นชอบร่วมกัน แต่เรื่องบทบาท อำนาจยังคงเหมือนเดิมคือ ช่วยเสนอกฎหมายด้านการปฏิรูป และให้ข้อเสนอแนะด้านการปฏิรูปแก่ ครม. และรัฐสภา ไม่มีอำนาจเหนือสภา หรือรัฐบาล ตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด”

ประเด็นของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็คือ แม้รู้ว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ถูกกล่าวหา สืบทอดอำนาจ แต่ก็มีข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน จึงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ที่สำคัญไปกว่านั้น อาจต้องย้อนไปอ่านการให้สัมภาษณ์ “บางกอกโพสต์” (9 ก.พ.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า “คสช.” และนายกรัฐมนตรี ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น โดยยอมรับว่า 11 ประเด็นที่ต้องปฏิรูปไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จำเป็นจะต้องเขียนเงื่อนลงไปในรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้ประเด็นการปฏิรูปทั้งหลายสามารถเดินหน้าต่อไปได้ “ทำไมถึงไม่ระบุเงื่อนไขการปฏิรูปลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คุณต้องเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเป็นกลไกรองรับการปฏิรูป คุณรับได้หรือเปล่า?” พล.อ.ประยุทธ์ ถาม พร้อมแนะนำว่า กลไกนี้อาจเป็นร่างกฎหมายหรือคณะกรรมการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราฎร โดยมีบทบาทหน้าที่หลักหนึ่งเดียวก็คือการติดตามและผลักดันให้เกิดการปฏิรูป

เขียนมัน (เงื่อนไข) ลงไปในรัฐธรรมนูญ โดยให้อยู่เป็นวาระในกฎหมายสำหรับ 1-2 รัฐบาล ซึ่งหากไม่เขียนลงไปอย่างชัดเจน ผมถามคุณหน่อยสิว่า รัฐบาลชุดใหม่จะริเริ่มการปฏิรูปหรือเปล่า? คำตอบคือไม่มีทาง

นอกจากนี้ ยังอธิบายต่อว่า จำเป็นต้องหากลไกก่อน ทำให้มั่นใจได้ว่ากฎหมายจะปกป้องผู้คนที่ทำหน้าที่ปฏิรูป และให้อำนาจกลุ่มคนเหล่านี้ เช่น จำเป็นต้องมีอำนาจในการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป ไม่ใช่เพียงแค่รอให้นักการเมืองร่างกฎหมายปฏิรูปเพียงอย่างเดียว ซึ่งนักการเมืองส่วนใหญ่ไม่ทำกัน การเขียนกลไกจะต้องเป็นไปในทางที่ทั้งรัฐสภาและรัฐบาลเห็นชอบร่วมกัน....

การให้สัมภาษณ์ดังกล่าว แม้ว่าข้อคิดบางอย่างอาจมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่ถ้าดูจากร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า สืบทอดอำนาจ ก็อาจทำให้เห็นรากที่มาอยู่ไม่น้อย

ที่สำคัญ ในเมื่อมีรากที่มาอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์อธิบาย ก็ถือว่า ยากที่จะถูกตัดออกไปได้โดยง่าย

สุดท้าย การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นนี้ จึงออกมาอย่างที่ กมธ.ยกร่าง เสนอแนวทางเอาไว้ และสิ่งที่หลายฝ่ายจะต้องช่วยกันหาวิธีแก้ไข เพื่อเสนอ กมธ.ยกร่าง ก็คือ ทำอย่างไรการสืบทอดปฏิรูป จะไม่เป็นการ สืบทอดอำนาจ เท่านั้นเอง