การเกณฑ์ทหารกับประชาธิปไตย

การเกณฑ์ทหารกับประชาธิปไตย

Dankwart A. Rustow เจ้าพ่อรัฐศาสตร์ด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (Transitions to Democracy) เคยกล่าวไว้ว่า

หนึ่งในเงื่อนไขที่นำไปสู่ประชาธิปไตย คือ ภาวะสงคราม! เพราะสงครามเป็นแรงผลักดันให้รัฐจำเป็นต้องระดมกำลังผู้คนเพิ่มเติม เกิดการเกณฑ์ทหาร ฟังแล้วอาจจะงงๆ ว่า แล้วมันไปเกี่ยวอะไรกับประชาธิปไตย?


หนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้คือกรณีการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยของเดนมาร์กในปี ค.ศ. 1849 ในบทความวิจัยเรื่อง “How Denmark Became Democratic: The Impact of Warfare and Military Reforms” ของ Lars Bo Kaspensen ศาสตราจารย์สาขารัฐศาสตร์และหัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน กล่าวว่า “เดนมาร์กเป็นประชาธิปไตยจากการปฏิรูปกองทัพ” นั่นคือ การปฏิรูประบบการเกณฑ์ทหารที่ขยายครอบคลุมทุกชนชั้นจนกลายเป็นการปูทางสู่การให้สิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมกันในที่สุด


ขณะเดียวกัน Knud J.V. Jespersen ศาสตราจารย์สาขาประวัติศาสตร์สมัยใหม่แห่งมหาวิทยาลัยเซาเธิร์นโคเปนเฮเกน ได้ขยายในประเด็นนี้ว่า รัฐธรรมนูญเดนมาร์กฉบับค.ศ. 1849 บังคับให้ผู้ชายทุกคนมีหน้าที่เข้ารับการเกณฑ์ทหารเพื่อให้เดนมาร์กมีหลักประกันต่อกำลังพลของกองทัพในยามสงคราม โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพลเมืองเพศชายทุกคนมีหน้าที่เป็นทหาร ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติเป็นข้อผูกมัดให้พลเมืองต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อประเทศ พวกเขาก็ควรที่จะมีสิทธิและอำนาจทางการเมืองในทางกลับกันด้วย ด้วยเหตุนี้ สิทธิในการเลือกตั้งกับหน้าที่ที่จะต้องเป็นทหารจึงถือเป็นสิทธิและหน้าที่ที่เป็นเหตุเป็นผลกันและเป็นธรรมสำหรับพลเมืองเพศชายของเดนมาร์ก


อย่างไรก็ตาม การเกณฑ์ทหารหรือหน้าที่ในการรับใช้ชาติและสิทธิความเป็นพลเมืองอันเท่าเทียมกันนี้ แม้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยเดนมาร์ก แต่กระนั้น หากพิจารณาความเสมอภาคทางเพศในสิทธิทางการเมืองของพลเมือง จะพบว่า ในช่วงแรกๆ ที่เดนมาร์กเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ค.ศ. 1849 ผู้หญิงยังไม่มีสิทธิพลเมืองหรือสิทธิทางการเมืองเท่ากับผู้ชาย ดังนั้น ถ้าจะถามว่า “เดนมาร์กเป็นประชาธิปไตยเมื่อไร?” Tim Knudsen และ Uffe Jakobsen ศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์สาขารัฐศาสตร์แห่งภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน กล่าวว่า คนเดนมาร์กส่วนใหญ่คิดว่า เดนมาร์กเริ่มเป็นประชาธิปไตยในช่วงปี ค.ศ. 1848-1849 อันเป็นช่วงเวลาที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สิ้นสุดลงและเกิดระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ขึ้นโดยมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งและสิทธิ์ในการเลือกตั้งของประชาชนเดนมาร์กก็มีกว้างขวางพอสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในขณะนั้น นั่นคือ ร้อยละ 73 ของพลเมืองเพศชายทั้งหมดที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปมีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ถ้าตั้งเกณฑ์วัดความเป็นประชาธิปไตยโดยยกประเด็นเรื่องสิทธิ์เลือกตั้งทั่วไปของผู้หญิงในเดนมาร์กขึ้นมา จะพบว่า สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับผู้หญิงเดนมาร์กเพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1915 แต่เดนมาร์กก็เป็นประเทศที่สี่ในโลกที่ให้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วไปแก่ผู้หญิง ดังนั้น ถ้าถือเกณฑ์ดังกล่าวนี้ในฐานะที่เป็นมาตรวัดความเป็นประชาธิปไตยของเดนมาร์ก ก็คงต้องตอบว่า เดนมาร์กเป็นประชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1915


เมื่อกล่าวถึงการเกณฑ์ทหารอย่างเสมอหน้าอันนำไปสู่สถานะและสิทธิทางการเมืองของพลเมืองอย่างเสมอภาคที่ส่งผลให้เกิดรากฐานความเป็นประชาธิปไตยในเดนมาร์ก ทำให้เราย้อนพิจารณาถึงการเกณฑ์ทหารในประเทศไทยว่า การเกณฑ์ทหารของเราสามารถส่งผลในลักษณะเดียวกันได้หรือไม่? คำตอบคือ ไม่! เพราะแม้นว่าจะมีคำกล่าวว่า ชายไทยทุกคนมีหน้าที่รับใช้ชาติโดยเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุถึงเกณฑ์ แต่ก็เป็นที่ทราบดีว่า ชายไทยที่ผ่านการฝึกวิชาทหารหรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “รด.” ถือว่าเป็นกำลังพลสำรองของกองทัพไทย และไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร และก็เป็นที่ทราบดีอีกว่า ชายไทยที่จะมีโอกาสเป็นนักศึกษาวิชาทหารหรือ “เรียน รด.” จะต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานสำคัญอย่างน้อยสองข้อ นั่นคือ


1. สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป และมีผลการศึกษาไม่น้อยกว่า 2.00 สำหรับผู้เคยเป็นลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่และสอบได้วิชาพิเศษไม่น้อยกว่า 8 วิชาต้องมีผลการศึกษาไม่น้อยกว่า 1.5


2. กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเปิดทำการฝึกวิชาทหาร จากคุณสมบัติพื้นฐานสองข้อข้างต้นนี้ ย่อมเป็นที่เข้าใจกันในสังคมไทยว่า ไม่ใช่ชายไทยทุกคนจะมีโอกาสสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และก็ไม่ใช่ว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นดังกล่าวทุกคนจะสามารถมีโอกาสเข้าศึกษาในสถานศึกษาที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเปิดทำการฝึกวิชาทหารได้ อุปสรรคคือฐานะทางเศรษฐกิจ-ความยากจนเป็นเงื่อนไขสำคัญ


ดังนั้น การเกณฑ์ทหารในประเทศไทยจึงไม่สามารถเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสริมสร้างประชาธิปไตยได้ และยังชี้ให้เห็นว่าการเกณฑ์ทหารกลับกลายเป็นหน้าที่อันเป็นภาระอันหนักอึ้งที่ผู้ชายในครอบครัวที่ยากจนจะต้องแบกรับ การเกณฑ์ทหารกลับเป็นปัจจัยบ่งชี้และสร้างความรู้สึกเหลื่อมล้ำมากกว่าที่จะเป็นปัจจัยแห่งความเสมอภาคและความเป็นเอกภาพของสิทธิหน้าที่ของพลเมืองในชาติ