เครือข่ายค้าทาสโรฮิงญา

เครือข่ายค้าทาสโรฮิงญา

“เรือมนุษย์โรฮิงญา” ลอยคว้างกลางทะเลอันดามัน พวกเขาบ่ายหน้าหนีภัยสงครามที่บ้านเกิด

    โดยที่รัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธที่จะรับเป็นพลเมือง ส่วนทางการไทย รับดูแลตามหลักมนุษยธรรม รอผลักดันออกนอกประเทศ มันเป็นวิธีการที่ชาติอื่นๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน

เมื่อจำนวนโรฮิงญา เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เกิดขบวนการค้าทาสโรฮิงญา ตีราคาชีวิตคนเป็นสินค้ามีค่าหัว

ชาวโรฮิงญา ไม่มีทางเลือก เมื่อตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า ทุกข้อเสนอ เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ เพื่อให้พ้นจากนรกบนแผ่นดินเกิด จนกระทั่งได้เห็นกับตาว่า ยังมีนรกที่คนสร้างเตรียมไว้รอ

เบื้องหลังหน้ากากของนายหน้าค้าทาส ชาวโรฮิงญา ได้เรียนรู้อย่างหนึ่งว่ายังมีคนที่ไม่เห็นคนเป็นคน อยู่บนโลกใบนี้

หลุมฝังศพ ความตายของโรฮิงญา ที่ตรวจพบตามเทือกเขาแก้ว บ้านตะโล๊ะ ต.ปาร์ดังเบซา อ.สะเดา จ.สงขลา และตามค่ายกักกันอื่นๆ คนส่วนใหญ่ชี้ไปว่า เป็นความทรมานจากที่รอนแรมมากับเรือมนุษย์ ลอยกลางทะเลมายาวนาน บ้างเจ็บป่วย บ้างอดอาหาร แล้วกฎหมายใดที่จะเอาผิดขบวนการค้าทาสโรฮิงญา ซึ่งมีทั้งคนธรรมดา นักการเมืองท้องถิ่น และข้าราชการ

  เครือข่ายค้าทาสโรฮิงญา ที่แม้จะแยกย่อยไปตามจังหวัดต่างๆ แต่เมื่อสอบเส้นทางเงินแล้วเป็นขบวนการเดียวกัน ทั้งเครือข่ายระนอง เครือข่ายสตูล และสงขลา

เครือข่ายค้าทาส เดิมมีเฉพาะ “เจ้ ง.” ที่นำชาวเมียนมา ไปทำงานในภาคส่วนเรือประมง หรือโภคอุตสาหกรรม ล้วนอยู่ในการดูแลของ “เจ้ง้อ” และตกทอดมาถึง “เจ้ ข.” รับช่วงต่อ แต่การคุมคนในขบวนการทำได้ไม่ง่าย ห้วงเวลาเดียวกันเริ่มมีชาวโรฮิงญา หนีภัยสงครามจากรัฐยะไข่เข้ามาขึ้นฝั่งระนองจำนวนมาก โกมิกสุนันท์ แสงทอง ได้มาของานจาก “เจ้ ข.” แล้วค่อยๆ สร้างเครือข่ายใหม่ จนมีผู้ร่วมขบวนการ 45 คน

ครั้นต่อมา โกหนุ่ย สุวรรณ แสงทอง เห็นหลานคือ "โกมิก” ร่ำรวยจากการค้าทาสโรฮิงญา ก็ผันตัวเองมาเป็นนายหน้าจากเดิมเป็นเจ้าของแพปลาใน จ.ระนอง มาเป็นตัวการใหญ่อีกคน "โกหนุ่ย" อาศัยความเป็นพ่อตาของ พ.ต.อ.เรืองเดช สุวรรณพิกุล ผกก.สภ.ปากน้ำ จ.ระนอง ซึ่ง ต่อมา พ.ต.อ.เรืองเดช เพิ่งโดนคำสั่งย้ายเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา

ขบวนการค้ามนุษย์ จะแบ่งงานกันเป็นพื้นที่ แต่ต้นทางคือระนอง จากนั้นจะกระจายไปตามเครือข่ายจังหวัดต่างๆ เช่น จ.สตูล มี “ปัจจุบัน อังโชติพันธ์ หรือ โกโต้ง” อดีตนายก อบจ.สตูล เป็นผู้ดูแล “โกโต้ง” ทำธุรกิจหลายด้าน ทั้งสัมปทานรังนกนางแอ่น โรงแรม บ้านเช่า และเรือนำเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล

ส่วนที่จ.สงขลา มี บรรจง ปองผล หรือโกจง นายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ เป็นคนดูแล เครือข่ายนี้ “ประสิทธิ์” เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปถึงกลุ่มย่อยต่างๆ แม้เคยถูกออกหมายจับพร้อมพวกรวม 8 คนในข้อหาให้ที่พักพิง และกักขังหน่วงเหนี่ยวค้ามนุษย์เมื่อเดือนมกราคม 2556 หลังเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญา 843 คน แต่ครั้งนั้นอัยการ มีความเห็นไม่สั่งฟ้อง “ประสิทธิ์”

จากข้อมูลปปง.ทำให้ทราบว่าเครือข่ายค้าทาสโรฮิงญา คือขบวนการเดียวกัน แยกกันไม่ออกทั้งชาวบ้านธรรมดา นักการเมืองท้องถิ่น และข้าราชการ

  นี่จึงทำให้ขบวนการค้าทาสโรฮิงญา เติบโตไม่มีวันตาย