หลากปัจจัยลบ“ทีวีดิจิทัล”

หลากปัจจัยลบ“ทีวีดิจิทัล”

การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) วันจันทร์ที่ผ่านมา

 กสท.มีมติเลื่อนการพิจารณาผลสรุปการรับฟังความคิดเห็น “แนวทางการขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิทัลงวดที่สอง” ออกไปก่อน ขณะที่กำหนดจ่ายเงินเดิมของทั้ง 24 ช่อง คือวันที่ 24 พ.ค.นี้ มูลค่ารวมกว่า 8 พันล้านบาท

เหตุผลสำคัญที่ กสท.ยังไม่พิจารณาสรุปการรับฟังความคิดเห็น เพื่อเสนอ บอร์ดใหญ่ กสทช. ซึ่งมีกำหนดประชุมวันที่ 20 พ.ค. เพื่อหวังให้ทันกำหนดจ่ายเงินในงวดที่สอง เพราะเห็นว่ายังมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง การใช้อำนาจและดุลพินิจของ กสท. ที่เกรงว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน เนื่องจากมีผู้ไม่เห็นด้วยและไปยื่นคัดค้านกับประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

บอร์ด กสท. จึงมีมติให้นำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อความรอบคอบในการดำเนินการตามกฎหมาย

แต่หากดูจากเงื่อนเวลากำหนดจ่ายเงินงวดที่สองและขั้นตอนการหารือกับ 3 องค์กรรัฐ มีโอกาสสูงที่จะใช้เวลาเกินกำหนดจ่ายเงินงวดที่สองในวันที่ 24 พ.ค.นี้ ซึ่งหมายถึงทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง จะต้องนำเงินมาจ่ายให้สำนักงาน กสทช. ตามเงื่อนไขเดิมที่ได้รับใบอนุญาต

เรียกว่าช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน หลังจากเปิดเวทีใหญ่รับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 6 พ.ค. ซึ่งส่วนใหญ่ เห็นด้วย กับแนวทางการขยายเวลาจ่ายเงินออกไปทุกงวด 1 ปี เชื่อว่าทีวีดิจิทัล คาดหวังสูงว่าจะได้ยืดเวลาจ่ายเงินออกไป แต่สถานการณ์กลับพลิกผันจากการประชุม กสท.ในวันที่ 11 พ.ค.จากการเลื่อนพิจารณาสรุปแนวทางขยายจ่ายเงินงวดที่สอง

  จากความคาดหวังสูงว่าจะได้ยืดระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี พลิกมาสู่สถานการณ์ ที่้อาจต้องนำเงินมาจ่ายในอีก 11 วันนับจากนี้ นับเป็นปัจจัยที่ “ทีวีดิจิทัล” ต้องปรับแผนเตรียมรับมือให้ทัน!! ทั้งเงินที่จะนำมาจ่ายงวดที่สองและทุนอีกก้อนใหญ่ในการผลิตคอนเทนท์

  แต่ดูเหมือนภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้ ไม่เอื้ออำนวยต่อการหารายได้ช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณาของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมากนัก

ล่าสุด นีลเส็น โชว์ตัวเลขงบโฆษณาเดือนเม.ย.ปีนี้ เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สื่อหลัก ยังอยู่ในอาการ ติดลบ โดยเฉพาะสื่อใหญ่ ทีวีอนาล็อก ลดลง 8.4% เป็นตัวเลขติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน หลังเริ่มต้นออกอากาศ “ทีวีดิจิทัล” ซึ่งเม็ดเงินโฆษณาถูกแชร์ไปยังช่องใหม่ แต่สัญญาณที่อุตสาหกรรมโฆษณารู้กันดี เมื่อ “ทีวี” สื่อหลักที่เข้าถึง“ผู้บริโภค” ทั่วประเทศอยู่ในภาวะ “ติดลบ” นั่นแสดงถึงการชะลอตัวของกลุ่มผู้ใช้เงินโฆษณา ด้วยเห็นว่าตลาดไมมี กำลังซื้อ

  บรรดา มีเดีย เอเยนซี ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ตลาดไม่มีเงิน ลูกค้าใช้เงินในสื่อหลักลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ท่ามกลางงบโฆษณาชะลอตัว ขณะที่ “ซัพพลาย” หรือ พื้นที่ลงโฆษณาสื่อทีวีเพิ่มขึ้น จากจำนวนทีวีดิจิทัลช่องใหม่ อีกทั้งช่องผู้นำ “ทีวีอนาล็อก” เดิมทั้งช่อง 7 และช่อง 3 ยังแข็งแกร่ง เมื่อเงินในตลาดมีจำกัด ผู้ใช้งบโฆษณายังเลือกใช้เงินผ่าน“ทีวี” ที่มีเรทติ้งสูงเป็นหลัก

จากปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงปี 2557 ทั้งปัญหาการเมือง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การขยายโครงข่าย(Mux) และการแจกคูปองสนับสนุนการรับชมทีวีดิจิทัลไม่เป็นไปตามแผน ซึ่งเป็นประเด็นที่ กสทช.หยิบยก มาสนับสนุนการขยายเวลาจ่ายเงินงวดที่สองออกไปอีก 1 ปี เพื่อหวังช่วยเหลือทีวีดิจิทัล ในสถานการณ์ลำบาก

แต่สถานการณ์ที่อาจไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ผู้ประกอบการ “ทีวีดิจิทัล” จำต้องเตรียมแผนรับมือทั้งระยะสั้นการบริหารต้นทุนให้สอดคล้องกับรายได้ และระยะยาวพัฒนาคอนเทนท์สร้างเรทติ้ง เพราะไม่ว่าสถานการณ์ใด ผู้ใช้เงิน พร้อมจ่ายเม็ดเงินโฆษณษผ่านสื่อทีวี แลกกับเรทติ้งผู้ชม