“ลงประชามติ” ร่างรธน.มาแรง

“ลงประชามติ” ร่างรธน.มาแรง

แม้ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงหลายองค์กรหารือ เพื่อทำข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่มีการยกร่างเสร็จสิ้นไปแล้ว

 โดยคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

แต่ประเด็นที่ดูเหมือนร้อนแรงกว่า กลับเป็นกระแส ลงประชามติ เห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของเครือข่ายกลุ่มสื่อทางเลือกและองค์กรวิชาการส่วนหนึ่ง ที่ถือเป็นตัวแทนภาคประชาชนสังคมได้เช่นกัน ได้ร่วมกันเปิดตัวเว็บไซต์ประชามติดอทโออาร์จี (www.prachamati.org) เพื่อเป็นพื้นที่แสดงความเห็นของประชาชนกลุ่มต่างๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แต่ถึงกระนั้น ประเด็นที่น่าสนใจ อาจอยู่ที่ปัญหาความขัดแย้งในร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่นับถึงร่างรัฐธรรมนูญเกิดจาก คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ที่ถือว่าประชาชนมีส่วนร่วมเพียงน้อยนิด ทำให้เป็นเรื่องยาก แม้แต่การเสนอแก้ไขอยู่ในเวลานี้

ส่วนปัญหาขัดแย้ง ส่วนหนึ่งสอดคล้องกับที่ สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) เสนอแก้ 5 ประเด็น คือ 

    นายกรัฐมนตรีจากคนนอก ขอแก้ไขไปอยู่ในบทเฉพาะกาล กรณีเกิดวิกฤติ โดยต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 จากสมาชิกทั้งสองสภาระบบการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ ขอให้ยกเลิก โดยแก้ไขให้กลับไปใช้การเลือกตั้งในระบบเดิม ส่วนตัวเลขส.ส.หรือจะมีปาร์ตี้ลิสต์หรือไม่ จำนวนเท่าไหร่ ให้กมธ.ปฏิรูปการเมืองเป็นผู้ชี้ขาดเรื่องที่มา ส.ว. ตามร่างของ กมธ.ยกร่างฯ ให้มี ส.ว.จำนวน 200 คน โดยมาจากการสรรหา 123 คน และจากเลือกตั้ง 77 คน ขอแก้เป็น มี ส.ว. 150 คน เป็น ส.ว.จากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละคนรวม 77 คน อีก 73 คนมาจากการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพต่างๆ ส่งตัวแทนมาให้ประชาชนเลือกตั้งอีกครั้งในขั้นตอนสุดท้ายขอให้ตัดทิ้งมาตรา 181 และ 182 เพราะไม่ต้องการให้นายกฯ มีอำนาจเหนือฝ่ายรัฐสภามากเกินไปขอให้ตัดข้อความในมาตรา 111 (15) ที่กำหนดว่าห้ามผู้เคยถูกถอดถอนหรือตัดสิทธิทางการเมือง ลงเล่นการเมือง เนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิผู้เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีไม่ให้เล่นการเมืองตลอดชีวิต ถือว่าไม่ถูกต้องผิดหลักการ

อีกส่วนอยู่ในประเด็นของ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เชื่อว่า ถ้าลงประชามติ ประเด็นเหล่านี้จะทำให้ไม่ผ่าน กล่าวคือ 

    การให้มีกรรมการทำหน้าที่สรรหาผู้สมัคร ส.ว. 2.การให้อำนาจ ส.ว. มีสิทธิเสนอกฎหมาย ที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย 3.กรณี รัฐบาลขอเปิดอภิปรายตัวเองได้ตามมาตรา 182 เท่ากับไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลในสภาฯ 4.การให้มีคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ 120 คน และ5.การให้กรรมการปรองดองฯ มีอำนาจอภัยโทษผ่านการออกกฎหมาย และเป็นการลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

เห็นได้ชัดว่า แม้ยังไม่รู้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สุดท้ายแล้วหน้าตาจะเป็นอย่างไร จะมีการแก้ไขมากน้อยแค่ไหน

แต่ทว่า กระแส ลงประชามติ กลับมาแรงตีคู่มาพร้อมกับการเสนอแก้ไข

ประเด็นอาจอยู่ที่ว่า กลุ่ม องค์กร ภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งเชื่อว่า ถ้าลงประชามติ หลายปัญหาในร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้รัฐธรรมนูญของ คสช. ไม่ผ่านประชามติ ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางต่อต้านอำนาจ คสช.อยู่แล้ว

แต่หลายฝ่ายที่ต้องการรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง และเป็นประชาธิปไตยที่สุด ก็ต้องการปลุกกระแส ลงประชามติ เพื่อเป็นเกมกดดันให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญที่เชื่อว่ามีปัญหา

เพราะถ้ากระแส “ลงประชามติ” ท่วมท้นขึ้นมาเมื่อไหร่ ร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และมีข้อขัดแย้งน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เช่นกัน นี่คือ สิ่งที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป