เงินบาท...อ่อนสมใจ

เงินบาท...อ่อนสมใจ

ภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายในตลาดลงทุนทั่วโลก

ตลาดดอกเบี้ยมีความผันผวนอย่างรุนแรงทั้งในและนอกประเทศ อัตราผลตอบแทนของ US Treasury ได้ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 2% ณ ปลายเดือนเม.ย. มาสู่ระดับ 2.29% ภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 10วัน ราคาน้ำมัน Nymex ปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 42เหรียญ/บาร์เรล แตะ 61เหรียญ ล่าสุด ในขณะที่ค่าเงินบาท อ่อนค่าจาก 33.76 ก่อนการประชุมกนง.ในวันที่ 29 เม.ย. เข้าสู่ 33.57 ในวันที่ 7 พ.ค. ช่วงท้ายตลาด

อาจกล่าวได้ว่า เทรดเดอร์และนักลงทุนสถาบันกว่าค่อนตลาดคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกดำรงไว้ที่ 1.75% ในการประชุมกนง.วันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา การปรับลดลง -25bps ในครั้งนี้ถือเป็นการตัดสินใจที่คำนึงถึง outlook ของสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนโดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค. ที่ติดลบถึง 4.4% ในดอลลาร์เทอม โดยทั่วไป เงินบาทจะอ่อนค่าราว 8-12สตางค์ ต่อการลดดอกเบี้ย 25bps แต่ในครั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าในทันทีราว 18สตางค์ จาก 32.65 แตะ 33.83 ตอบรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 25bps แบบ surprise ... แต่ไม่จบลงเพียงเท่านี้ เพราะมีการแถลงมาตรการทางค่าเงินในวันรุ่งขึ้นเวลา 11.00น.

ผมเชื่อว่า ผู้เล่นในตลาดทั้ง FX trader และ Bond trader สามารถคาดเดาได้ในระดับหนึ่งว่า มาตรการที่ออกมาจะเป็นไปในมุมของการสนับสนุนธุรกรรมการลงทุนในตลาดต่างประเทศ หรือ เรียกง่ายๆ ว่า ให้มี Outflows ออกไปมากๆ ทุกคนทราบดีว่า ความพยายามสกัดกั้น inflows ไม่ว่าในรูปแบบของการกำหนด Holding period หรือ การ Withold เงินลงทุนบางส่วน นั้น ล้วนก่อให้เกิดการตีความที่คลาดเคลื่อนและส่งผลรุนแรงต่อทุกสินทรัพย์ในประเทศรวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศอีกด้วย เราเคยประสบกับสภาวะดังกล่าวในปลายปี 2006 ซึ่งทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับลง 100จุด จนเป็นที่กล่าวขานกันมาจนทุกวันนี้

ในแวบแรกที่ได้รับทราบมาตรการที่ประกาศในวันที่ 30 เม.ย. นั้น ส่วนใหญ่ตีความว่า เป็นมาตรการที่บังคับใช้มากก่อนนี้แล้ว และบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนต่างทราบดีว่า ความต้องการของนักลงทุนระดับ High Networth นั้นมิได้มีมากขนาดที่ต้องขอขยายวงเงินลงทุน และลูกค้ากลุ่ม Ultra High-end ระดับพันล้าน ถึง หมื่นล้านนั้น ก็ออกไปลงทุนตปท. หลายปีแล้ว อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ส่งผลต่อค่าเงินบาทในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เงินบาท เทรดใน range 32.76-33.04 หรืออ่อนค่าลงอีก 20สตางค์จากวันก่อน นอกจากค่าเงินบาทแล้ว อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากแรงเทขายเริ่มจากในประเทศ และตามด้วย flows จากต่างประเทศ ส่งผลให้ Bond yield พันธบัตรระยะลาง-ยาว พุ่งขึ้น 25-45bps ตัวเลขจาก ThaiBMA ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า Flow ขายมาจากนักลงทุนต่างชาติ สูงถึง 10,500ล้านบาทในวันที่ 29เม.ย. และอีก 14,000ล้านบาท สำหรับวันที่ 6-7 พ.ค. เพียงวันที่ 7 พ.ค. วันเดียว bond yield เด้งขึ้น 15-20bps สำหรับพันธบัตร 10-15ปี

แต่ ...ค่าเงินบาทยังไม่ได้หยุดแค่นั้น แม้สถาบันการเงินจะฉลองวันหยุดยาว 5 วัน แต่เทรดเดอร์หลายคนมีความกังวลกับค่าเงินที่วิ่งไม่หยุด ในวันแรงงาน เงินบาทวิ่งในกรอบแคบๆ 33.00-33.05 และเริ่มขยับเข้าสู่ 33.10 ในวันถัดมา ก่อนที่จะทะลุแนวต้านที่ 33.10 และวิ่งเข้าสู่ 33.20-33.36 ในวันที่ 5 พ.ค. ปัจจัยหลักของการอ่อนค่าได้อย่างรุนแรงคือ สภาพตลาดที่บางในวันหยุด เมื่อเปิดตลาดในวันแรก 6 พ.ค. เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยราว 10สตางค์ ก่อนที่จะสวนกลับอีกครั้งในวันที่ 7 พ.ค. และขณะที่ผมกำลังส่งต้นฉบับ เงินบาทได้แตะ 33.59 เป็นที่เรียบร้อย ...กล่าวได้ว่า การลดดอกเบี้ยส่งผลเพียงเล็กน้อย ผลส่วนใหญ่มาจากมาตรการที่บังคับใช้ตามมา

หากจะเรียกว่าเป็น “วิบากกรรม” ของนักลงทุนก็คงไม่ผิด เพราะนอกจากเงินบาทอ่อน สินทรัพย์ต่างๆในสกุลเงินบาททั้งหุ้นและตราสารหนี้ (สกุลเงินบาท) จะมีราคาลดลงแล้ว อัตราผลตอบแทนหรือ Yield ของบ้านเรายังถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยทิศทางของ US Treasury ที่เร่งตัว ตามพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเยอรมัน อังกฤษ และญี่ปุ่นในลักษณะที่เราไม่เคยเห็นมาเป็นเวลาหลายปี ... ส่วนเงินบาทจะไปหยุดที่เท่าไร คงต้องพิจารณาในมุมของ NEER หรือ Nominal Effective Exchange Rate เทียบกับสกุลเงินเพื่อนบ้านอย่างมาเลย์ และอินโดนีเซีย นักลงทุนรายย่อยก็คาด Seat belt ให้แน่นๆ นะครับ