แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี (2)

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี (2)

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมัน (ว่าจะเป็นขาขึ้น) ในครึ่งหลังของปีนี้ แม้ว่าอุปสงค์จะยังไม่แข็งแรงนัก

เพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองในตะวันออกกลาง (โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเทศอิหร่านและประเทศซาอุดีอาระเบีย) และกล่าวถึงข้อกังวลที่สหรัฐคงจะต้องถึงเวลาที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปลายปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ตรงนี้ไอเอ็มเอฟให้ความสำคัญค่อนข้างมากดังจะเห็นในรายงานเสถียรภาพทางการเงินของโลกฉบับล่าสุด เพราะกล่าวถึงผลกระทบทั้งในเชิงของการกดดันดอกเบี้ยระยะยาวให้สูงขึ้นอย่างฉับพลันและความเสี่ยงว่าสภาพคล่องในระบบอาจตึงตัวขึ้นมาเกินความคาดหมาย ซึ่งในรายละเอียดผมจะนำมาขยายความในโอกาสต่อไป แต่ในตอนนี้ขอเขียนถึงข้อกังวลในการพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจโลกต่อจากที่ได้กล่าวถึงแล้ว 3 ข้อในตอนที่แล้ว คือ


4. ปัญหาของประเทศกรีกนั้นได้ยืดเยื้อมานานหลายปีและได้มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตลาดเริ่มไม่กังวลต่อผลกระทบในเชิงกว้าง เพราะการที่ธนาคารกลางยุโรปกำลังดำเนินมาตรการคิวอี (คือพิมพ์เงินใหม่มาซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในกลุ่มเงินสกุลยูโรเดือนละ 60,000 ล้านยูโร ต่อเนื่องเป็นเวลา 18 เดือนเริ่มจากเดือนเมษายนนี้) ทำให้นักลงทุนไม่เป็นห่วงว่าดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับตัวขึ้นหากกรีซไม่ทำตามเงื่อนไขและต้องถูกกดดันให้ออกจากการร่วมใช้เงินสกุลยูโร ในขณะนี้หลายคนเชื่อว่ารัฐบาลกรีกและกลุ่มเจ้าหนี้หลัก (รัฐบาลกลุ่มยูโร ธนาคารกลางยุโรปและไอเอ็มเอฟ) จะไม่สามารถเจรจาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อีกต่อไป แต่ก็ยังมีบางคนเชื่อว่ายังจะสามารถ “ยื้อ” ปัญหาไปได้อีกจนกระทั่งเดือนมิถุนายน ซึ่งข้อพิจารณาและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นคงจะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า หากยังแก้ปัญหาไม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมก็คงจะเกิดภาวะ “อึดอัด” กันอย่างมากทั้งฝ่ายรัฐบาลกรีกและกลุ่มเจ้าหนี้หลัก


ในความเห็นของผมนั้นมีความเป็นไปได้อย่างมีนัยสำคัญว่าปัญหากรีกจะไม่สามารถลงเอยไปด้วยดีและหากมีการพักชำระหนี้เกิดขึ้น แม้จะไม่เกิดวิกฤติขึ้นในยุโรป แต่จะส่งผลกระทบทางการเมืองเพราะประเทศที่ร่วมกันปล่อยกู้ให้กับกรีกเกือบ 3 แสนล้านยูโรจะต้องถูกตำหนิโดยประชาชนของตน (การสำรวจความคิดเห็นที่ประเทศเยอรมันพบว่าประชาชน 77% เชื่อว่ากรีกไม่ได้ตั้งใจจะปฏิรูปเศรษฐกิจของตน) ซึ่งจะยิ่งทำให้นโยบายการคลังของกลุ่มยูโรจะยิ่งระมัดระวังและตึงตัวมากขึ้น ทำให้ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจของยุโรปมีความเสี่ยงด้านการชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปีนี้หากไม่สามารถแก้ปัญหากรีกได้ แม้ว่าจะยังมีมาตรการคิวอีอย่างต่อเนื่องซึ่งช่วยทำให้เงินยูโรอ่อนตัวก็ตาม แต่หากมีการเรียกร้องให้เพิ่มความเข้มข้นของนโยบายการเงินของยุโรป เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมเพราะการดำเนินมาตรการคิวอีเพื่อลดค่าเงินยูโรนั้นเป็นการส่งออกภาวะเงินฝืดและแย่งชิงกำลังซื้อจากส่วนอื่นของเศรษฐกิจโลกมาที่ยุโรป (เช่นหากเงินยูโรอ่อนจนกระทั่ง 1 ยูโรเท่ากับ 1 ดอลลาร์ก็คงจะมีกลุ่มคนไทยบินไปท่องเที่ยวที่ยุโรปเช่นเดียวกับไปญี่ปุ่นในขณะนี้)


5. การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีนนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยกล่าวถึงในแถลงการณ์เมื่อเดือนมีนาคมที่ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเศรษฐกิจจีนเป็นเศรษฐกิจใหญ่ (มูลค่าจีดีพีจีนนั้นประมาณ 5 เท่าของจีดีพีรัสเซีย) และกำลังซื้อของจีน โดยเฉพาะการซื้อสินค้าเกษตรและวัตถุดิบต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการพยุงราคาสินค้าดังกล่าว ซึ่งไอเอ็มเอฟมองว่าเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่องโดยประเมินว่าจีดีพีจีนจะขยายตัว 6.8% ในปีนี้ แต่ผู้ที่ติดตามตลาดหุ้นจีนจะทราบดีว่าราคาหุ้นจีนนั้นปรับเพิ่มขึ้นมากว่าเท่าตัวแล้วใน 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าตลาดหุ้นกำลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญใน 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเป็นผลดีอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม แต่บางคนก็มองว่าการปรับขึ้นของราคาหุ้นจีนนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผ่อนคลายของนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีนเกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไม่ว่าจะเป็นการลดการกำหนดทุนสำรองของธนาคาร (RRR) และการปรับลดของดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ เห็นได้จากการที่ในที่สุดทางการจีนออกมากล่าวว่าจะต้องเพิ่มมาตรการควบคุมการปล่อยกู้เพื่อการซื้อหุ้นและการเปิดให้มีการยืมหุ้นได้ ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลงทันทีในตลาดนิวยอร์กเมื่อทราบข่าวในวันที่ 18 เมษายน เป็นต้น


ประเด็นสำคัญคือการผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยเพิ่มสภาพคล่องและสินเชื่อของระบบธนาคาร แต่กำกับให้สภาพคล่องและสินเชื่อดังกล่าวไหลเข้าไปสู่การลงทุนของรัฐบาลกลางเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แทนที่การลงทุนแบบไม่คุ้มค่าของรัฐบาลท้องถิ่น การสร้างฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตเกินความต้องการอยู่แล้ว ปัจจุบันตลาดหุ้นจีนดูเสมือนว่าจะมองการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการผ่อนคลายทางการเงินเป็นเรื่องดี (มีการเปรียบเทียบว่าเป็นมาตรการคิวอีของจีน) แต่ความเสี่ยงคือการเพิ่มสภาพคล่องและสินเชื่อจะรั่วไหลไปสร้างฟองสบู่ในตลาดหุ้น (และเมื่อรวยหุ้นก็จะต้องไปซื้อบ้านและคอนโด) ทำให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อไปอีก


นอกจากนั้นสินเชื่อก็อาจรั่วไหลไปสู่อุตสาหกรรมที่มีกำลังผลิตส่วนเกินได้อีกเช่นกัน ซึ่งหากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นก็จะมีความเสี่ยงที่ทางการจีนจะต้องพลิกกลับนโยบายและหันมาดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว ซึ่งคงจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นอย่างมาก นอกจากนั้นทางการจีนเองก็ต้องระมัดระวังการไหลออกของเงินทุนดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ทำให้ต้องเข้าไปแทรกแซงขายเงินทุนสำรองออกมาเพื่อพยุงค่าเงินหยวนเอาไว้ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นและเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ก็อาจกระทบความมั่นใจและทำให้เงินไหลออกมากขึ้นอีกก็ได้


ดังนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในครึ่งหลังของปีนี้จึงยังไม่น่าจะสดใสมากนักและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทำให้เศรษฐกิจไทยก็คงจะต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้านครับ