ความสูญเสียในเนปาลกับแสงสว่างของเทคโนโลยี

ความสูญเสียในเนปาลกับแสงสว่างของเทคโนโลยี

โศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาในพื้นที่มรดกโลกอย่างประเทศเนปาลนับเป็นหายนะซึ่งประเมินค่าไม่ได้

เพียงชั่วข้ามคืนภัยพิบัติดังกล่าวได้เปลี่ยนเนปาลจากดินแดนสวรรค์ไปสู่ฝันร้ายที่จำต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติอีกครา


เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปีของเนปาลนับตั้งแต่แผ่นดินไหวเมื่อปี ค.ศ.1934 ที่เคยคร่าชีวิตผู้คนกว่าหมื่นคนและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับพื้นที่ในเมืองกาฐมาณฑุ


จากการประมวลข้อมูลของสำนักข่าวบีบีซีได้ระบุให้เห็นถึง ภัยพิบัติแผ่นดินไหวขั้นรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลนับตั้งแต่ปี 2000 โดยตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี เราประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ๆ มากว่า 6 ครั้ง และแต่ละครั้งมีผู้เสียชีวิตเป็นหลักหมื่นหลักแสน ทั้งนี้ ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดและคร่าชีวิตผู้คนสูงสุด คือแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย วัดความรุนแรงอยู่ที่ 9.1 แมกนิจูด มีการสูญเสียชีวิต 2 แสนกว่าคน ซึ่งนับเป็นมหันตภัยที่ขยายวงกว้างและกินพื้นที่มากที่สุด โดยประเทศไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับผลกระทบครั้งนั้นด้วย


แน่นอนว่าในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลสารสนเทศเป็นหัวใจในการดำเนินชีวิต เราจะพบเห็นถึงความพยายามในการใช้ข้อมูลออนไลน์ขนาดใหญ่หรือที่เขาเรียกกันว่า ‘Big Data’ มาประมวลผลและสร้างประโยชน์ให้กับการเชื่อมต่อเพื่อรองรับการบริหารจัดการภัยพิบัติที่เกิดขึ้นโดยแหล่งของ Big data ที่ใช้ในภารกิจดังกล่าว คือ แหล่งข้อมูลที่ได้จากการเก็บอย่างเป็นระบบในรูปแบบของ ‘Sensor networks’ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เก็บสถิติและแนวโน้มของภัยพิบัติประเภทนั้นๆ ในขณะที่แหล่งข้อมูลอีกแหล่งคือข้อมูลที่เก็บจากสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นข้อความที่คอมเมนต์ รูปภาพโพสต์ หรือเนื้อหาต่างๆ ที่เราแชร์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งยังเป็นข้อมูลที่สะเปะสะปะ ไม่เป็นระบบ เพื่อทำการวิเคราะห์และนำมาประกอบสร้างเป็นข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการภัยพิบัติได้จริง


ทั้งนี้ จากการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของสหรัฐอเมริการ่วมกับประเทศญี่ปุ่น (the JST/NSD workshop) ได้ชี้ให้เห็นถึงคุโณปการของ Big Data ในการเป็นเครื่องมือช่วยเหลือและสนับสนุนการบริหารภัยพิบัติได้ 4 ส่วนด้วยกันได้แก่ 1) การป้องกันภัยพิบัติ (Prevention) 2) การเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ(Preparedness) 3) การตอบสนองต่อภัยพิบัติ (Response) และ 4) การฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ (Recovery) โดยการที่จะนำข้อมูล Big Data เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องอยู่บนฐานของการบริการที่มีคุณภาพ (Quality of Service) และข้อมูลที่มีคุณภาพ (Quality of information) กล่าวคือคือ สามารถให้บริการข้อมูลที่ใช้งานได้ตลอดเวลา ตอบสนองต่อผู้ใช้ได้ในรูปแบบ Real-time ทุกพื้นที่ด้วยข้อมูลที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ และตรงกับความต้องการในการใช้งาน


ปัจจุบัน บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊คและกูเกิลต่างผลิตโปรแกรมมารองรับการค้นหาคนหายในพื้นที่ภัยพิบัติ โดยฟากของเฟซบุ๊คได้ผลิตโปรแกรมที่เรียกว่า ‘Safety Check’ เพื่อให้ผู้คนได้ส่งข้อความหาคนในเนปาลว่าพวกเขายังคงมีชีวิตอยู่ดีหรือไม่อย่างไร ในขณะที่ทางกูเกิล ได้ออกแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า ‘Person Finder’ ให้เป็นเครื่องมือในการติดตามหาคนในพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งแน่นอนว่าได้นำมาใช้ในภารกิจตามหาผู้สูญหายจากแผ่นดินไหวที่เนปาลด้วย โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาพบว่า เครื่องมือนี้มีการเข้าไปใช้งานแล้วกว่า 5,600 ครั้ง


อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โปรแกรม ‘Person Finder’ เข้าช่วยเหลือการติดตามหาผู้สูญหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โปรแกรมดังกล่าวพัฒนาขึ้นครั้งแรกโดยทีมวิศวกรจากกูเกิลนำโดย นาย Prem Ramaswami ที่ต้องการจะใช้เทคโนโลยีไอทีเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฮติเมื่อปี 2010 ซึ่งหลังจากความคิดสร้างสรรค์ได้ถูกจุดประกายในห้องประชุมภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง โปรแกรม ‘Person Finder’ ก็เปิดตัวใช้งานสู่สาธารณชนและปัจจุบันโปรแกรมดังกล่าวได้รองรับการตามหาผู้คนท่ามกลางภัยพิบัติมาแล้ว 11 ครั้ง อีกทั้งยังเป็นต้นแบบที่นำไปสู่การจัดตั้ง ‘The Google Crisis Response Team’ โดยกระจายทีมงานไปทั่วโลกเพื่อภารกิจในการนำเทคโนโลยีไอทีและ Big Data บริหารจัดการภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


ด้วยบริบทการทำงานของกูเกิลที่ไม่จำกัดความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานในเนื้องานที่เป็นธุรกิจหลักเท่านั้น ส่งผลให้กูเกิลได้รังสรรค์ผลิตผลบางอย่างที่แม้อาจจะไม่ทำเงิน แต่ก็เป็นการแสดงจุดยืนของกูเกิลและวิศวกรด้านไอทีหลายๆ คนที่ต้องการให้สังคมออนไลน์ คือพื้นที่สร้างสรรค์และเอื้ออาทร ดังที่ได้สะท้อนผ่านจิตวิญญาณของผู้บริหารของกูเกิล Dan Fredinburg ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ อันสืบเนื่องมาจากภารกิจพิชิตเขาเอเวอร์เรสต์เพื่อหาทุนสนับสนุนเด็กกำพร้าชาวเนปาลที่เขาอุปการะอยู่


ทั้งนี้ แม้การสูญเสียคนหนุ่มที่มีพลังอย่าง Dan Fredinburg จะสร้างความเศร้าเสียใจให้กับคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงานก็ตาม แต่ทุกคนที่รู้จักเขาดูจะมั่นใจว่า พลังความคิดสร้างสรรค์ที่เขาทิ้งไว้ให้กับโลกใบนี้จะช่วยขับเคลื่อนสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นอีกมากมาย