กาแฟและเครื่องดื่มไทย

กาแฟและเครื่องดื่มไทย

ชาถือเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของจีน แต่กระแสความนิยมดื่มกาแฟกำลังเกิดขึ้นในหมู่ชาวจีนรุ่นใหม่ ร้านStarbucks ในหัวเมืองใหญ่ รวมทั้งนครคุนหมิง

ทุกวันจะเต็มไปด้วยวัยรุ่น ทั้งนักเรียนมัธยมไปจนถึงคนวัยทำงาน เข้าไปนั่งดื่มกาแฟ อ่านหนังสือ เล่นอินเทอร์เน็ต ถือเป็นวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่สะท้อนถึงความมีระดับ

ในนครคุนหมิงมีร้านกาแฟสดแบรนด์ท้องถิ่นเปิดให้บริการจำนวนมากบริเวณใกล้มหาวิทยาลัย และย่านศูนย์การค้าใจกลางเมือง สนนราคาต่อถ้วยตั้งแต่ 18 หยวนจนถึง 48 หยวน ร้านกาแฟสมัยใหม่ที่ตกแต่งร้านด้วยบรรยากาศผ่อนคลาย เงียบสงบ และสะอาดน่านั่ง พร้อมบริการอินเทอร์เน็ตและหนังสืออ่านเล่น รวมทั้งไม่กำจัดเวลานั่ง และไม่ห้ามถ่ายรูป แอพพลิเคชั่น social network ในโทรศัพท์มือถือของลูกค้าคือช่องทางช่วยประชาสัมพันธ์ร้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กาแฟสดสัญชาติไทยจากไร่ปางมะโอ ซึ่งได้มีโอกาสร่วมออกร้านในงานเทศกาลไทยฯ ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงต้นเดือนพ.ค. มีเหตุการณ์น่าสนใจ คือ ผู้ชมงานฯ ชาวจีนให้การตอบรับเป็นอย่างดีจนต้องเข้าคิวซื้อกาแฟสดไทย นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการชาวจีนมาแอบสังเกตการณ์จนมั่นใจ และตัดสินใจซื้อ franchise กาแฟสดไร่ปางมะโอไปเปิดร้านกาแฟของตนเอง

นอกจากนี้ กาแฟสำเร็จรูป 3 in 1 ของไทย ยี่ห้อและรสชาติต่างๆ ล้วนมีกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนที่ให้ความนิยมชมชอบ โดยให้เหตุผลว่า รสชาติกลมกล่อมและเข้มข้นกว่ากาแฟที่ผลิตในจีน กาแฟโบราณ และชาชัก ก็เคยมีโอกาสนำลีลาการชักชาที่แปลกใหม่และรสชาติที่ไม่จำเจมาสร้างความฮือฮาในงานเทศกาลไทยฯ ด้วย

กาแฟสำเร็จรูปเวียดนามยี่ห้อ G7 ซึ่งเข้ามาตีตลาดจีนนานแล้ว จนสามารถเข้าไปวางจำหน่ายใน supermarket ชั้นนำ ขณะที่ ร้านกาแฟสดแบรนด์เกาหลีก็เริ่มบุกและขยายสาขาในนครคุนหมิงเช่นกัน

นอกจากนี้ เครื่องดื่มประเภทต่างๆ ของไทยก็ล้วนขายได้ในนครคุนหมิงและในจีน อาทิ น้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง นมถั่วเหลืองบรรจุขวด กระทิงแดงเมดอินไทยแลนด์ รวมทั้งน้ำขิง น้ำมะตูมชนิดผงสำเร็จพร้อมชง

กาแฟไทยและเครื่องดื่มไทยซึ่งชาวไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี กลับกลายเป็นสินค้าแปลกใหม่ของผู้บริโภคชาวจีน ดังนั้น ของดีของอร่อยที่มีเอกลักษณ์และภูมิปัญญาไทยจึงมีโอกาสในตลาดจีน แต่ต้องมีวิธีนำเสนอที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการออกร้านในงานเทศกาลไทยฯ ซึ่งไม่เพียงเป็นโอกาสในการขายสินค้า แต่ยังมีโอกาสในการจับคู่ธุรกิจด้วย หากสินค้ามีความน่าสนใจและมีการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคชาวจีน ก็จะมีผู้ประกอบการจีนมาติดต่อขอเป็นผู้แทนจำหน่าย ซึ่งจะหน้าที่นำเข้าและกระจายสินค้าในจีนเอง

ปัจจุบัน บริษัท “คุนไท่” ผู้จำหน่ายสินค้าไทยที่ใหญ่ที่สุดในนครคุนหมิงได้นำกาแฟและเครื่องดื่มต่างๆ ของไทยมาจำหน่าย ซึ่งมียอดขายดีจนทางร้านต้องผลิตกาแฟสำเร็จรูปชนิดซองและชนิดถ้วยแบรนด์ของตนเองชื่อ “กินรี” จึงเป็นการพิสูจน์ว่า กาแฟไทยและเครื่องดื่มไทยขายได้จริงในนครคุนหมิงและในจีน

กระแสนิยมไทยที่มีอยู่ในประเทศจีนตอนนี้ สามารถที่จะต่อยอดไปสู่สินค้าชนิดใหม่ๆ อาทิ กาแฟ และเครื่องดื่มต่างๆ ของไทยได้อย่างไม่ยาก เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคชาวจีนซึ่งมีความไว้วางใจในคุณภาพของสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

 ๐ ยาสามัญประจำบ้านของไทย

สินค้าไทยแสนธรรมดาอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยมีติดอยู่กับบ้านเป็นประจำ กลับเป็นสินค้าขายดีในงานเทศกาลไทยฯ ก็คือ ยาสามัญประจำบ้านประเภทยาดม ยาหม่อง น้ำมันเหลือง น้ำมันนวดตัว เป็นต้น น้ำมันเหลืองซึ่งมีส่วนประกอบของสมุนไพรไทยหลายชนิด เช่น กานพลู การบูร ไพล ขมิ้น สะระแหน่ เป็นภูมิปัญญาไทยที่สามารถใช้ทาตามร่างกายแก้ผื่นคัน บรรเทาอาการปวดเมื่อย หรือสูดดมบรรเทาอาการคัดจมูก วิงเวียนศีรษะ และเป็นสินค้าไทยยอดนิยมของผู้บริโภคชาวจีนมาอย่างยาวนานแล้ว

ความนิยมดังกล่าวมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ มีกลิ่นหอมสมุนไพร ไม่มีกลิ่นฉุนเหมือนยาประเภทเดียวกันของจีน นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณที่ดีใช้ได้ผลจริง ราคาย่อมเยา บรรจุภัณฑ์สวยงาม ขนาดเหมาะมือพกพาและใช้งานสะดวก

ทุกครั้งที่ผู้ประกอบการไทยนำสินค้าประเภทนี้มาร่วมออกร้านในงานเทศกาลไทยฯ ก็จะมีผู้บริโภคชาวจีนให้ความสนใจห้อมล้อม ขอทดลองดม ทดลองทา ทดลองฉีดพ่นและนวด จนพอใจในกลิ่นหอมและสรรพคุณ ก็ยินดีควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อ หรือบางครั้งเหมายกโหลเพื่อนำไปแจกญาติสนิทมิตรสหาย

แม้ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นเล็กชิ้นน้อย มูลค่าไม่มาก แต่จากการสังเกตผู้ประกอบการไทยที่ขายสินค้าเหล่านี้ในงานเทศกาลไทยฯ พบว่า เป็นสินค้าที่ซื้อง่ายขายคล่องมากที่สุด หากลูกค้าถูกใจในกลิ่นและสรรพคุณ

ก็มักจะซื้อ 6 ขวดหรือเหมาโหล จึงมียอดขายวันละหลายพันบาท จนเป็นที่อิจฉาของผู้ประกอบการไทยที่ขายสินค้าชนิดอื่นๆ ที่มีมูลค่าสูง แต่ลูกค้าต้องเลือกนานและคิดนานกว่าจะตัดสินใจซื้อ

ยาสามัญประจำบ้านที่มีสรรพคุณแก้อาการเจ็บปวดเล็กๆ น้อยๆ ได้จึงเป็นสินค้าที่ชาวจีนนิยมซื้อมาใช้เอง หรือเก็บไว้ประจำบ้าน เป็นทางเลือกใหม่ทดแทนยาจีนชนิดดมและทา หรือยาหม้อที่มีรสขมและมีกลิ่นฉุน ประสบการณ์จริงที่จะต้องเล่าแบ่งปันกันคือ เพื่อนชาวจีนที่รู้จัก ทุกครั้งที่มีโอกาสเดินทางมาประเทศไทย จะต้องมีบัญชีสิ่งของที่ต้องซื้อ “ห้ามพลาดเด็ดขาด” ก็คือ ยาหม่องตราเสือ และยาดมชนิดหลอดพกพา เนื่องจากสินค้าเหล่านี้ได้มีการบอกต่อกันปากต่อปากว่า ต้องซื้อเป็นของฝากจากประเทศไทย ดังนั้นก็ต้องซื้อกันจำนวนมากครั้งละครึ่งโหลหรือหนึ่งโหลเพื่อใช้เองและฝากญาติมิตรเพื่อนฝูง เพราะว่าคุณภาพดี ถูกใจ ราคาไม่แพง และใช้ได้ผลจริง

๐ พระเครื่อง

 ชาวจีนนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน และมีความเชื่อเรื่องการไหว้พระขอพร การพกพาวัตถุมงคลหรือบูชาประจำบ้าน เช่นเดียวกันกับพุทธศาสนิกชนชาวไทย

ปัจจุบัน รัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมพุทธศาสนา เนื่องจากมีคำสอนที่สอนให้เป็นคนดี เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ นอกจากนี้ ยังสอนให้มีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคม ลดความขัดแย้งของคนในชาติ โดยเฉพาะระหว่าง 56 ชนชาติ นอกจากนี้ ยังมีคำสอนที่ต่อต้านอบายมุขและคอร์รัปชัน ทำให้เกิดสังคมที่เคารพกฎหมายบ้านเมือง ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้า

เมื่อรัฐบาลจีนส่งเสริมพุทธศาสนา รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการเผยแผ่พุทธศาสนามากขึ้น ส่งผลให้การศึกษาเรียนรู้พระไตรปิฎก พิธีกรรมทางด้านพุทธศาสนา รวมทั้งพระเครื่อง พลอยได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย

ปี 2557 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาประเทศไทย 4.7 ล้านคน โปรแกรมท่องเที่ยวในประเทศไทยของทัวร์จีน เริ่มนิยมสอดแทรกกิจกรรมไหว้พระเสริมสิริมงคล นักท่องเที่ยวจีนจำนวนไม่น้อยถือโอกาสที่เดินทางมาถึงแหล่ง สอดส่องมองหาพระเครื่อง รู้จักและศึกษาจนถึงขั้นดูเป็น และสวมใส่ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เซียนพระเครื่องไทยบอกว่า มีลูกค้าคนจีนมาถามหาพระสมเด็จ พระปิดตา พระขุนแผน

ตลาดพระเครื่องในชาวจีนจึงมีโอกาสที่จะขยายเพิ่มขึ้น แต่ต้องสอดคล้องกับจริตและรสนิยมของชาวจีนที่ชื่นชอบการทำธุรกิจ ดังนั้น พระเครื่องที่มีพุทธคุณด้านให้โชคลาภ และเสริมดวงด้านการค้า จึงเป็นที่นิยมของชาวจีน นอกจากนี้ กระแส “ลูกกตัญญู” ในจีน นอกเหนือจากที่ลูกหลานจะซื้อหายาบำรุงกำลัง วิตามิน สมุนไพร หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันให้พ่อแม่ ก็เลือกหาพระเครื่องที่มีพุทธคุณด้านปกปักรักษา แคล้วคลาด เสริมอายุ ให้พ่อแม่สวมใส่ ซึ่งชาวจีนนิยมสวมใส่พระเครื่องกับสร้อยประคำแบบพุทธมหายาน เกิดเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างวัฒนธรรมไทยและจีน