ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (2)

ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (2)

ในบทความฉบับที่แล้ว เราได้ศึกษาถึงที่มาของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ และหลักประกันที่มีอยู่ในปัจจุบัน

วันนี้เรามาเริ่มเข้าสู่เนื้อหาที่สำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดแบบรายมาตรา เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะขอกล่าวถึงหลักการในแต่ละเรื่องของร่างกฎหมายฉบับนี้


เรามาเริ่มศึกษากันที่ผู้ที่เกี่ยวข้องหลัก ๆ ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกันก่อนค่ะว่า มีใครกันบ้าง และบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวภายใต้กฎหมายฉบับนี้มีอะไรบ้าง


(1) ผู้ให้หลักประกัน : ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจไม่ปรากฏคำจำกัดความของผู้ให้หลักประกัน แต่เมื่อพิจารณามาตรา 5 ประกอบกับมาตรา 6 ของร่างกฎหมายดังกล่าว สรุปได้ว่า “ผู้ให้หลักประกัน” คือ ผู้ที่เอาทรัพย์สินของตนเองมาเป็นประกันการชำระหนี้ ซึ่งอาจเป็นประกันการชำระหนี้ของตนเอง หรือของบุคคลอื่นก็ได้ โดยผู้ให้หลักประกันจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้


(2) ผู้รับหลักประกัน : ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจไม่ปรากฏคำจำกัดความของผู้รับหลักประกันเอาไว้เช่นกัน แต่เมื่อพิจารณามาตรา 5 ประกอบกับมาตรา 7 ของร่างกฎหมายดังกล่าวสรุปได้ว่า “ผู้รับหลักประกัน” คือ ผู้ที่รับทรัพย์สินของผู้ให้หลักประกันเอาไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ โดยผู้รับหลักประกันต้องเป็นสถาบันการเงินหรือบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ตามร่างกฎหมาย ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าสถาบันการเงินไว้ กล่าวโดยสรุป คือ (ก) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน (ข) บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต และบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย (ค) ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น (ตัวอย่าง เช่น ธนาคารออมสิน) ดังนั้น ในเบื้องต้น ภายหลังที่กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีผลใช้บังคับ ผู้รับหลักประกันคงจะมีได้เพียงสถาบันการเงินตามที่กล่าวใน (ก) - (ค) ข้างต้นเท่านั้น ส่วนบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใดที่จะสามารถเป็นผู้รับหลักประกันตามกฎหมายนี้ได้ ก็ต้องรอให้มีการประกาศเป็นกฎกระทรวงก่อน ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่าบุคคลหรือนิติบุคคลที่จะประกาศให้เป็นผู้รับหลักประกันเพิ่มเติมนั้น อาจมีการกำหนดคุณสมบัติบางประการไว้ เพื่อให้มั่นใจว่า บุคคลดังกล่าวมีศักยภาพและความพร้อมที่จะรับเอาทรัพย์สิน หรือกิจการตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมาเป็นหลักประกัน


(3) ผู้บังคับหลักประกัน/ผู้รับใบอนุญาต : ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจได้กำหนดคำจำกัดความของ “ผู้บังคับหลักประกัน” ไว้ หมายถึง บุคคลคนหนึ่งหรือหลายคน ที่ผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันตกลงให้เป็นผู้บังคับหลักประกันกรณีที่นำกิจการมาเป็นหลักประกัน (คำว่า “บุคคลคนหนึ่งหรือหลายคน” นั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น อาจเป็นนิติบุคคลก็ได้) ส่วน “ผู้รับใบอนุญาต” ได้กำหนดคำจำกัดความไว้ หมายถึง ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการเป็นผู้บังคับหลักประกัน ดังนั้น เมื่อพิจารณาคำจำกัดความของคำว่า ผู้บังคับหลักประกัน และ ผู้รับใบอนุญาต แล้ว สรุปคือบุคคลคนเดียวกันค่ะ โดยผู้ที่จะเป็นผู้บังคับหลักประกันได้จะต้องเป็น (ก) ผู้ที่ผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันมอบหมายให้เป็นผู้บังคับหลักประกัน และ (ข) ผู้ให้หลักประกันต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามมาตรา 56 และเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 57 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ทั้งนี้ ผู้บังคับหลักประกันจะมีบทบาทเฉพาะกรณีการบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการเท่านั้น (ซึ่งเราจะได้ศึกษากันต่อไปว่าประเภทของหลักประกันตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีอะไรบ้าง แต่หนึ่งในประเภทของหลักประกันคือ “กิจการ”)


ผู้เขียนขอเสริมข้อมูลเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินหรือรู้จักกันก็แต่เฉพาะเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่ในการบังคับหลักประกันตามคำสั่งศาล หรือผู้แทนหลักประกันในกรณีของ project finance ที่เจ้าหนี้หลาย ๆ รายจะแต่งตั้งตัวกลางขึ้นมาทำหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับหลักประกันต่าง ๆ แทนเจ้าหนี้ เท่าที่ผู้เขียนศึกษาร่างกฎหมายฉบับนี้ “ผู้บังคับหลักประกัน” ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ จะทำหน้าที่คล้ายๆ กับผู้แทนหลักประกันในกรณีของ project finance แต่ต่างกันที่ “ผู้บังคับหลักประกัน” ตามร่างกฎหมาย จะต้องเป็นตัวกลางที่ได้รับมอบหมายจากทั้งผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกัน (ไม่ใช่แต่เพียงเจ้าหนี้ที่เป็นผู้รับหลักประกัน) และต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจด้วย ถึงจะเป็นผู้บังคับหลักประกันได้


(4) เจ้าพนักงานทะเบียน : ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจปรากฏคำจำกัดความของ “เจ้าพนักงานทะเบียน” ไว้ หมายความถึง เจ้าพนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งตามมาตรา 15 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้ “อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า” เป็นเจ้าพนักงานทะเบียนตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยมาตรา 14 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานทะเบียนหลักประกันขึ้นในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีหน้าที่รับจดทะเบียน แก้ไขรายการจดทะเบียน และยกเลิกการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ นอกจากนั้น เพื่อเป็นการรองรับหน่วยงานที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ผู้เขียนเห็นว่าอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ด้วย


(5) นายทะเบียน : คำว่า “นายทะเบียน” ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ หมายถึง ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อศึกษารายละเอียดจากร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว พบว่า หมายถึงนายทะเบียนสำหรับทรัพย์สินที่มีทะเบียน (ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน) ตามกฎหมายอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าทรัพย์สินที่มีทะเบียน ที่จะนำมาเป็นหลักประกันตามกฎหมายนี้ จะต้องนำไปจดทะเบียนกับนายทะเบียนตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกนะคะ เท่าที่ผู้เขียนศึกษาร่างกฎหมายเข้าใจว่า หากมีการนำเอาทรัพย์สินที่มีทะเบียนมาเป็นหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ จะต้องมีการดำเนินการบางประการไปยังนายทะเบียนทรัพย์สินตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรา 19 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ กำหนดให้เจ้าพนักงานทะเบียนตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทรัพย์สินที่มีทะเบียนทราบว่า ทรัพย์สินที่มีทะเบียนดังกล่าวได้ถูกนำมาเป็นหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เป็นต้น ค่ะ


ฉบับหน้า เรามาศึกษากันต่อถึงการก่อให้เกิดสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ตลอดจนทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ และการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจนะคะ พบกันฉบับหน้าค่ะ