วิบากกรรม1ปีทีวีดิจิทัล(1):ข้อเสนอเร่งด่วนเยียวยา-ยกเครื่อง

วิบากกรรม1ปีทีวีดิจิทัล(1):ข้อเสนอเร่งด่วนเยียวยา-ยกเครื่อง

เดือนเม.ย.ปีนี้ครบ 1 ปีของการออกอากาศช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่อง

 เสมือนเกิดขึ้นในภาวะสงครามที่เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง


ทำให้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาถือได้ว่า 17 บริษัท 24 ช่องทีวีดิจิทัลดำรงอยู่อย่างทุกลักทุเล จนถึงวันนี้ยังมีชีวิตอยู่รอดมาได้ครบ 24 ช่องถือว่าผู้ประกอบการทุกค่ายกัดฟันเพื่ออนาคต มีความอดทนสูงมากต่อภาวะความสับสนอลหม่าน ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากการไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของ “ผู้คุมกฏ” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท.) เป็นส่วนใหญ่


หากกสท. ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ยึดมั่นในหลักการ-กฏเกณฑ์-เจตนารมณ์ของกฏหมาย และแผนแม่บทการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ ในระบบอะนาล้อกสู่ระบบดิจิทัล ที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม การสร้างสนามแข่งที่เท่าเทียม ( Level Playing Field ) โดยไม่ใช้ “ดุลยพินิจอันชวนสงสัย” หรือ “อคติ” ส่วนตัวในการวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ที่รังแต่จะถูกกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง


สถานการณ์ของทีวีดิจิทัลจะไม่ย่ำแย่มากขนาดนี้ จนมองแทบไม่เห็นอนาคตสักเท่าไหร่ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงบวก เกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็วกว่าการคาดการณ์ของทุกฝ่าย


ผมจะเขียนสรุปปัญหาของทีวีดิจิทัลอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของกสท.ชุดนี้เป็นครั้งสุดท้าย พร้อมข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนภายใน 3-6 เดือน และการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างของการกำกับดูแลในระบบ “องค์กรอิสระ” แบบกสทช.หรือเฉพาะสายบรอดแคสติ้ง กสท.


ในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา หลังการประมูลทีวีดิจิทัลเสร็จสิ้นลงในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2556 ก่อนทุกคนหยุดเทศกาลปีใหม่ไม่กี่วัน อุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยได้ถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่าครึ่งศตวรรษที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในรอบปีที่ผ่านมาทีวีดิจิทัล 24 ช่องที่ได้เริ่มทดลองออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2557 และกสท.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลให้ในวันที่ 25 เม.ย. ่2557 อายุใบอนุญาต 15 ปี สิ้นสุดวันที่ 24 เม.ย. 2572


การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกเกิดขึ้นมากมาย

#ดุลอำนาจในวงการโทรทัศน์เปลี่ยน จากเดิมมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษอยู่ในมือของช่องทีวีอะนาล็อก 6 ช่องหรือ 2 ช่องหลักคือช่อง 3 กับช่อง 7 ไปสู่“ผู้ชม”ที่มีอำนาจมากที่สุดในการใช้“รีโมท”เปลี่ยนช่องได้ตลอดเวลา เพราะจากเดิม“ผู้ชม”แทบจะไม่มีทางเลือกมากนัก หากไม่ต้องการจ่ายเงิยค่าสมาชิกเคเบิลทีวี จำใจต้องดูรายการของ 6 ช่องฟรีทีวีอะนา้ล็อก  


ผลกระเทือนเลื่อนลั่นที่มองเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆคือจำนวนคนดูของช่องฟรีทีวีอะนาล็อกลดลงฮวบฮาบเป็นครั้งแรก ช่อง 5 กับช่อง 9 เป็นช่องที่คนดูเอาใจออกห่างลดลงไปมากกว่า 50-60%ส่งผลให้รายได้โฆษณาหายไปไม่น้อยกว่า 20-30% ในขณะที่ช่อง 3 กับช่อง 7 ที่แม้ยังเป็นผู้นำคู่ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ แต่ถือเป็นครั้งแรกที่บัลลังก์เริ่มสั่นคอลอย่างรุนแรง ช่อง 3 มียอดคนดูลดลงถึงประมาณ 20-25%และช่อง 7 ลดลงประมาณ 7-8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า


# Content is The King เป็นจริง การเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์แบบฟรีทีวีดิจิทัล 24 ช่องหรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว แม้การรับชมทีวีดิจิทัลยังไม่ได้ครอบคลุม 100 % แบบอะนาล็อก แต่การแข่งขึ้นได้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการประมูลในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ค่ายใหญ่ๆขยับตัวปรับโครงสร้างเตรีียมบุคลากรเพื่อสร้างคอนเทนท์เป็นการใหญ่


เมื่อสนามเปิดขึ้นหลายๆค่ายได้ตัดสินใจกระโจนลงมาทันที ค่ายที่มีคอนเทนท์ในมือได้เปรียบมากกว่าค่ายที่ไม่มีคอนเทนท์ ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์,ผู้ประกาศข่าว,นักข่าว ฯลฯกลายเป็น“มนุษย์ทองคำ”เป็นที่ต้องการของช่องต่างๆ ปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคือผู้ประกาศข่าวลาออกจากฟรีทีวีอะนาล้อกไปสู่ช่องทีวีดิจิทัล ผู้ผลิตรายการอิสระไม่ต้องไปง้อสถานีโทรทัศน์แล้วสูตรการทำธุรกิจเปลี่ยนจากเช่าเวลาเป็นรับจ้างผลิตรายการ


#งบโฆษณาโทรทัศน์จากกระจุกตัวเริ่มกระจายตัว แม้บริษัทเอเยนซี่โฆษณาจะบ่นดังๆอยู่เป็นประจำว่าสภาพแวดล้อมในปีที่ผ่านไม่ส่งเสริมให้ช่องทีวีดิจิทัลเกิดได้อย่างเต็มตัวและยังไม่ได้เทใจให้กับช่องทีวีดิจิทัลสักเท่าไหร่ แต่เสียงเรียกร้องจาก“คนดู”ที่แสดงผ่านมาทางตัวเลขเรทติ้งของช่องทีวีดิจิทัลที่เกือบทุกช่องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละเดือน ช่วงระหว่าง 30-300% เมื่อเทียบกับตอนเป็นทีวีดาวเทียม


ทำให้บริษัทเอเจนซี่โฆษณาเริ่มวางแผนกระจายงบโฆษณาไปยังช่องทีวีดิจิทัลใหม่ๆประมาณสัก 8-10 ช่อง การได้งบโฆษณามาหล่อเลี้ยงชีวิตของทีวีดิจิทัลบ้าง ทำให้ช่องเปล่านั้นเหมือน“ปลาได้น้ำ” เร่งระดมผลิตคอนเทนท์ใหม่ๆอัดลงผังอยู่ตลอดเวลา ทำให้การปรับผังเป็นไปอย่างคึกคัก
แม้ยังมีช่องทีวีดิจิทัลเกินกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในสภาพ“ปลาขาดน้ำ” หายใจพะงาบๆ แต่ดูเหมือนว่าพวกเขายังมีความหวังจะอยู่รอด จากการปรับแผนธุรกิจใหม่ และหากได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า น่าจะทำให้ทุกราย“กัดฟัน”เดินหน้าต่อไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปีกว่าจะถอดใจจริงๆ


ผมพอมีความหวังในอนาคตของทีวีดิจิทัลขึ้นมาบ้าง เริ่มมองเ้ห็นหนทางหลุดจากทางตันจากอำนาจของ“กสท.”ที่แทบจะพิกลพิการจากผลประโยชน์ล่อใจ


หลังจากเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ได้มีการประชุมกลุ่มย่อยหรือ Focus Group ที่จัดขึ้นโดยหอการค้าไทยมีแกนหลักคือดร.โกศล เพ็ชรสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโนโลยี่สารสนเทศ ที่อยู่ในคณะทำงานจัดทำนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่สามารถผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นรูปธรรมที่สุด แม้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากแนวคิดการออกกฏหมายเกี่ยวกับดิจิทัล ที่ยังไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลมากนักเพราะแนวคิดความมั่นคงครอบงำอยู่


ดร.โกศลบอกตัวแทนของชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลว่าสภาหอการค้าได้ศึกษา “การจัดทำแผนเศรษฐกิจดิจิทัล” พบว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัลส่วนใหญ่เป็นเรื่องคุ้นเ้คยของสภาหอการค้า เช่น ระบบพาณิชย์อิเลคทรอนิคกส์ , อุตสาหกรรมไอที, อุตสาหกรรมโทรคมนาคม,อุตสาหกรรมซอฟแวร์ ฯลฯ แต่อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ โดยคาดการณ์ไว้ว่าอุตสาหกรรมโทรทัศน์ทุกระบบมีเงินหมุนเวียนมากถึง 100,000 ล้านบาท ทีวีดิจิทัล 24 ช่องจะเ้ป็น“หัวหอก”ของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในอนาคต


ตัวแทนของชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่นำโดย“สุภาพ คลี่ขจาย”ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อการ“เยียวยา-ยกเครื่อง”ทีวีดิจิทัลให้อยู่รอดเป็นพลังของเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ได้นำข้อเสนอนี้ ส่งเข้าไปยังคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น ซึ่งมีอำนาจเหนือกสทช. สามารถกำหนดนโยบาย และสั่งการให้กสทช.ดำเนินการแก้ไขปัญหาได้


ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนภายใน 3 เดือน

1. การผ่อนภาระทางการเงิน
1.1 การชำระค่าใบอนุญาต งวดที่ 2 และ 3 ขอให้ผ่อนผันออกไปอีก 2 งวด เพราะงวดที่ 2 ประมาณ 20%ของยอดเงินประมูลแต่ละช่องจะต้องชำระภายใน 30 วัน หลังจากใบอนุญาตครบ 1 ปีคือภายในวันที่ 24 พ.ค. 2558 หรืออีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า หากไม่ได้รับการผ่อนผันออกไปจะทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายช่องคงเกิดภาวะ“ขาดสภาพคล่อง”อย่างรุนแรง


1.2 ค่าโครงข่าย ขอให้ผ่อนผันการชำระ โดยอิงกับสัดส่วนของการแจกจ่ายคูปองแลกกล่องไปยังผู้บริโภคที่่มาแลก ไม่ควรไปอิงกับการขยายโครงข่ายของผู้ถือใบอนุญาตที่ขยายไปก็ยังไม่มีคนดูผ่านระบบภาคพิื้นดิน หากกสท.ยังไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลมากกว่านี้้ หลังจากมีผู้บริโภคนำคูปองไปแลกกล่องรับสัญญาณภาคพื้นดินในสัดส่วนเพียงประมาณ 50% ที่คูปองงวดแรกจะหมดอายุในสิ้นเดือนพ.ค.


ภาระหลังแอ่นของผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลรายเดือนตอนนี้ ช่องแบบ SD ถูกเรียกเก็บเงินค่าโครงข่ายเดือนละประมาณ 4.8 ล้านบาทและช่อง HD เดือนละประมาณ 14.5 ล้านบาท หากผ่อนผันลดหย่อนลงไปจะต่ออายุผู้ประกอบการได้มาก


1.3 ขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแบบ 2%+2 % จากรายได้ของแต่ละช่อง จนกว่าการเปลี่ยนผ่านจากอะนาล็อกสู่ดิจิทัลเสร็จสิ้นลง หากกยึดตามสัญญาสัมปทานระบบอะนาล็อกฉบับสุดท้ายระหว่างช่อง 3 กับบริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน)จะสิ้นสุดในวันที่ 24 มี.ค. 2563 หรืออีกประมาณ 5 ปี


ยังมีข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน 3 เดือน อีกเรื่องคือการยกเครื่องแผนประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับทีวีดิจิทัล ที่เป็น“จุดบอด”ที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ได้กระตือรือร้น ในการนำคูปองไปแลกซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน แต่กสท.กลับใช้เป็นข้ออ้างขยายประเภทการแลกกล่องรับสัญญาณเป็นแบบไฮ-บริด ที่เป็นเรื่องทำเกินกว่ากกหมายกำหนดอีกแล้ว


ขอยกยอดแนวทางข้อเสนอแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลแบบเร่งด่วน 6 เดือนไปสัปดาห์หน้า ว่าด้วยการยกเครื่องกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับ กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และการกำกับดูแลในระบบองค์กรอิสระแบบกสทช. ที่บทเรียนที่ผ่านมาทำให้ทุกฝ่ายเห็นข้อบกพร่องที่ควรจะแก้ไขอย่างยิ่ง