ความรู้ในองค์กรมันจัดการได้จริงหรือ

ความรู้ในองค์กรมันจัดการได้จริงหรือ

ใครว่าความรู้จับต้องไม่ได้

บทความนี้ เราจะมาเรียนรู้ถึง วิธีการสร้าง “ทุนทางปัญญา” ที่ทรงพลังที่สุดแห่งยุคนี้ว่า ทุนทั้ง 3 ตัว สามารถสร้างขึ้นในองค์กรได้อย่างไร โดยไม่ใช้เงินสักบาทเดียว หากพูดถึงเรื่องของ “ปัญญา” ก็คงจะต้องกล่าวถึงเรื่องของ “ความคิด” และผมเชื่อว่า “ความคิดดีๆ” ที่ทำให้เกิด “ปัญญา” ต้องมาจาก “ความรู้ดีๆ” ในสมอง


นักวิทยาศาสตร์ทางสมองของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า “ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ที่ใช้สร้างนวัตกรรม หรือ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ นั้นมาจากความคิดดีๆ จากสมอง ซึ่งนั่นคือที่รวมของ ความรู้ดีๆ ความรู้เดิมๆ ที่นำสิ่งเดิมๆ นั้นมาผ่านกระบวนการคิดหลายรอบ จนได้เป็น ความคิดใหม่ๆ ที่สำคัญ ความคิดใหม่ๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นได้ ขณะที่สมองมีความสุขเสียด้วย”


ดังนั้น นักจิตวิทยาพัฒนาองค์กรอย่างพวกเรา ชาว ABC CLUB จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเรียนรู้ วิธีการจัดการความรู้ (Knowledge Management) นั่นคือ เครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาองค์กรของพวกเรา


ความรู้ คืออะไร มีกี่ประเภท (Knowledge) คือ ความคุ้นเคยกับใครบางคนหรือบางสิ่งบางอย่างซึ่งอาจรวมถึง ข้อมูล, ข้อเท็จจริง, คำอธิบาย หรือ ทักษะ ที่ได้มาผ่าน ประสบการณ์ หรือ การศึกษา มันสามารถอ้างถึงความเข้าใจทางทฤษฎีหรือการปฏิบัติของเรื่องนั้นๆ ได้


ความรู้แบบฝังลึก (Tacit Knowledge) พูดง่ายๆ ก็คือ ความรู้ที่อยู่ในหัว คือ ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในสมองของเรา จึงเรียกว่า ความรู้แบบฝังลึก หรือความรู้แฝงเร้น ต้องใช้กลวิธีล้วงแคะแกะเกาออกจากหัวสมอง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์กัน ความรู้ฝังลึกนี้เป็นความรู้ที่มีประโยชน์ที่สุด เพราะ เมื่อไหร่ก็ตามที่ความรู้อยู่ในหัวสมองของเรา เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากความรู้เหล่านี้ได้ ดีกว่าให้ความรู้อยู่เพียงแค่ในตำรา


ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ก็คือ ความรู้ที่ไม่ได้อยู่ในหัว ความรู้ที่อยู่นอกหัวเรา นั่นเองครับ


อะไรก็ได้ เช่น ตัวหนังสือในตำรา เสียงในเทป CD MP3 หรือ ภาพในกระดาษ ในคอม ในภาพยนตร์ ในสื่อต่างๆ ความรู้ชัดแจ้งนี้ ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์ เพราะความรู้ชัดแจ้งนี้สามารถกระจายความรู้ออกไปได้ไกลมาก คุณสามารถชมคลิปความรู้ใน Youtube อ่าน Blog ในอินเทอร์เน็ตจากอีกซีกโลกหนึ่งได้ภายในไม่กี่วินาที


การจัดการความรู้ (Knowledge Management) ก็คือ การหมุนวงจรแห่งความรู้ ระหว่าง ความรู้แบบฝังลึกที่อยู่ในหัวสมองของเรา กับ ความรู้ชัดแจ้งที่อยู่นอกหัวสมองของเราผ่านกระบวนการต่างๆ ดังนี้ (ตามหลักการ SECI Model) หรือเรียกว่า Nonaka’s SECI Knowledge Management Model นั่นเอง


Socialization การถ่ายทอดความรู้ฝังลึก ระหว่างคน กับ คน


Externalization การส่งออกความรู้ฝังลึก ของคน ไปเป็น ความรู้ชัดแจ้ง ด้วยสื่อต่างๆ


Combination การถ่ายโอนความรู้ชัดแจ้ง ระหว่างสื่อ กับ สื่อ


Internalization การรับเข้าความรู้ชัดแจ้ง จากสื่อต่างๆ มาเป็น ความรู้ฝังลึก ในหัวอีกครั้ง


ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ SECI Model


อัลมอนด์ได้รับการถ่ายทอด ความรู้ จากอาจารย์ที่ปรึกษา โดยการพูดคุยกับอาจารย์อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ได้มีข้อโต้แย้งแต่แรก ทำให้สารจากข้อมูลที่อาจารย์กล่าวมา สามารถนำไปประมวลผลในหัวของอัลมอนด์ได้ดียิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการสะสมความรู้และ สามารถนำมาใช้งานได้ง่ายขึ้น


นั่นคือ Socialization การถ่ายทอดความรู้ฝังลึก ระหว่างคน กับ คนเป็นการถ่ายทอดความรู้ฝังลึก ไปเป็นความรู้ฝังลึกของอีกคน


จากนั้นอัลมอนด์ได้นำ ความรู้ นี้มาเขียนเป็นหนังสือเล่มนี้ เขียนลงเว็บไซต์ www.clubpattana.com หรือ เขียนลงใน Blog บันทึกเป็นคลิปวีดีโอ เป็นไฟล์เสียง MP3 หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ทำออกมาเป็น “สื่อ” ไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษร เสียง ภาพ ภาพยนตร์


นั่นคือ Externalization การส่งออกความรู้ฝังลึก ของคน ไปเป็น ความรู้ชัดแจ้ง ด้วยสื่อต่างๆ ในที่นี้ จะเป็นสื่อใดก็ตาม ที่สามารถส่งข้ามไปยังผู้รับปลายทางได้ เมื่อหนังสือ ความรู้ เล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ บทความในเว็บไซต์มีคน Click เข้าไปชม Blog ถูกเผยแพร่คลิปวีดีโอมีผู้เข้าชม ไฟล์เสียงมีผู้เปิดฟัง นั่นคือ “สื่อ” นั้นได้รับการจัดเก็บ เคลื่อนย้าย ถ่ายเท แจกจ่าย ซื้อขาย หรือวิธีการใดก็ได้ที่จะทำให้ “คน” ได้เสพสื่อความรู้เหล่านี้


นั่นคือ Combination การถ่ายโอนความรู้ชัดแจ้ง ระหว่างสื่อ กับ สื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ชัดแจ้ง ผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อทำให้ความรู้ชัดแจ้งนี้ ไปถึงมือผู้รับความรู้ได้ง่ายขึ้น
และสุดท้าย เมื่อใดตามที่ท่านผู้อ่าน ได้อ่านหนังสือ ความรู้ เหล่านี้ มีคนเข้าไปอ่านบทความของผมเว็บไซต์ มีผู้เข้าไปชม Blog ของผมในอินเทอร์เน็ต คลิปวีดีโอ ไฟล์เสียงมีผู้คนเปิดชมและฟัง “สื่อ” นั้นๆ เพื่อนำความรู้เข้าไปในหัวของผู้คนเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง


นั่นคือ Internalization การรับเข้าความรู้ชัดแจ้งจากสื่อต่างๆ มาเป็นความรู้ฝังลึก ในหัวอีกเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ด้วยตัวผู้รับความรู้นั้นเอง


วิธีการสร้างทุนทางปัญญา ด้วย SECI Model


เราได้รู้จักแนวคิดของ “ทุนทางปัญญา” ไปแล้วว่า มีด้วยกัน 3 ทุนและในบทนี้ เป็นเครื่องมือในการสร้างทุนทั้ง 3 ตัวนั้นด้วย SECI Model


1. Human Capital (ทุนมนุษย์) ทุนนี้ สามารถสร้างได้ด้วย Socialization (ถ่ายทอดความรู้ระหว่าง คนกับคน) และ Internalization (ถ่ายทอดความรู้จาก สื่อมายังคน) เพื่อให้ แต่ละคน มีทุนมนุษย์เพิ่มขึ้น อันได้แก่ ทักษะ, ความสามารถ, ประสบการณ์, ความรู้ และ ความคิดสร้างสรรค์


2. Social capital (ทุนทางสังคม) ทุนนี้ สามารถสร้างได้ด้วย Socialization (ถ่ายทอดความรู้ระหว่าง คนกับคน) คือให้คนในองค์กรมีโอกาสเปิดใจ พูดคุยกันบ้าง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ก็เป็นการสร้างทุนทางสังคมให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นมากขึ้นแล้ว


3. Structural Capital (ทุนทางโครงสร้าง) ทุนนี้ สามารถสร้างได้ด้วย Externalization (ถ่ายทอดความรู้จากคนไปยังสื่อ) และCombination (ถ่ายโอนความรู้ระหว่างสื่อกันเอง) เพื่อทำให้ความรู้ในองค์กร ที่ทั้งมีอยู่แล้ว และที่เกิดขึ้นใหม่ทุกๆ วินาที ไปเป็นสื่อความรู้ที่สามารถค้นหา จัดการ จัดเก็บ ได้ง่ายๆ นำมาซึ่งโครงสร้างของความรู้ในองค์กรนั่นเอง


Nonaka’s Model of KM เป็นเครื่องมือการจัดการความรู้ที่เข้าใจไม่ยากนัก สำหรับนักจัดการความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง HRD ในองค์กร โดยเครื่องมือนี้สามารถเก็บ ถ่ายทอด สร้าง พัฒนา ความรู้ต่างๆ จากภายในองค์กรได้เป็นอย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งความรู้จากภายนอกมากนัก เหตุเพราะภายในองค์กรก็มี “ทุนมนุษย์” ที่มีมากเพียงพอต่อการพัฒนาองค์ความรู้อยู่แล้ว เพียงแค่ สานต่อความรู้เหล่านั้นด้วย “ทุนทางสังคม” และ เสริมฐานด้วย “ทุนทางโครงสร้าง” ที่ดี เพื่อให้ความรู้เหล่านั้นไม่ตกหล่น หายไปกับใครคนใดคนหนึ่ง ทั้งยังสามารถเรียกใช้ความรู้เหล่านั้น มาพัฒนาต่อยอดกันในองค์กรได้ง่ายกว่าการขวนขวายหาจากภายนอกเสียด้วยซ้ำ