ประเทศที่คนมีความสุขที่สุดในโลก

ประเทศที่คนมีความสุขที่สุดในโลก

ไม่นานมานี้ หลายคนคงได้ยินข่าวผลการจัดอันดับความสุขของผู้คนในประเทศต่างๆ ที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำขึ้น

และประเทศที่ผู้คนมีความสุขเป็นอันดับหนึ่งของโลกคือราชอาณาจักรเดนมาร์ก ทั้งๆ ที่สภาพอากาศของเดนมาร์กแสนจะทึมทึบ ตอนกลางวันในฤดูหนาวก็ฟ้าก็ยังมืดอยู่เกือบทั้งวัน อีกทั้งประชาชนยังมีหนี้มากที่สุดในโลก แต่กระนั้น คนเดนมาร์กก็ยังมีความสุขที่สุดในโลกได้ น่าสงสัยว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คนเดนมาร์กมีความสุขได้ขนาดนั้น ? ในขณะที่บ้านเรา ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา คสช.และรัฐบาลภายใต้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็พยายาม “คืนความสุข” ให้คนทั้งชาติอยู่ เราจะถือได้ไหมว่า ระบอบการปกครองและความสามารถของรัฐบาลคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีความสุข !


เมื่อพิจารณาระบอบการปกครองและความสามารถของรัฐบาล จะพบว่า เดนมาร์กมีคะแนนเฉลี่ยของระดับความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่ 9.52 จาก 10 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก จากการจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตย (Democracy Index) ประจำปี 2010 จากทั้งหมด 167 ประเทศทั่วโลก และจากดัชนีคุณภาพชีวิต (Quality of life index) ในปี ค.ศ. 2015 เดนมาร์กได้อันดับที่ 6 ของโลก ดู http://www.numbeo.com/quality-of-life/rankings_by_country.jsp


ระบอบการปกครองของเดนมาร์กเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเฉกเช่นเดียวกับของอังกฤษและอีกหลายประเทศ และรวมทั้งของไทยเราด้วย ดังนั้น ข้อถกเถียงที่ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการความก้าวหน้าของประเทศก็คงจะไม่จริง เพราะอย่างน้อยเดนมาร์กก็เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศที่ประสบความสำเร็จทั้งในความเป็นประชาธิปไตย คุณภาพชีวิตและความสุขของคนภายใต้ระบอบการปกครองดังกล่าว แต่ถ้าหันไปดูกรณีของเนปาล ก็จะพบตัวอย่างประเทศที่สถาบันพระมหากษัตริย์ล้มเหลวและแถมยังนำพาประเทศไปสู่วิกฤตจนกระทั่งต้องเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐไปในที่สุด แต่ก็คงต้องรอดูอีกพักใหญ่กว่าจะตัดสินได้ว่า เมื่อมีระบอบการปกครองที่ปราศจากสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว เนปาลจะสามารถพัฒนาก้าวหน้าไปได้มากน้อยเพียงใด มันอาจจะลงเอยก็ได้ว่า เนปาลก็คือเนปาล และไทยก็คือไทย จะก้าวกระโดดไกลเกินเงื่อนไขเศรษฐกิจสังคมของตัวเองไปไม่ได้ แม้ว่าจะเปลี่ยนเงื่อนไขทางการเมืองแล้วก็ตาม


ประเทศไทยมีจุดเหมือนกับประเทศเดนมาร์กตรงที่ทั้งเราและเขาต่างมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต่อเนื่องยาวนาน แม้ว่าบันทึกประวัติศาสตร์ของเราจะนับย้อนหลังไปไม่ได้ไกลเท่าของเขา อีกทั้งความต่อเนื่องยาวนานของสถาบันพระมหากษัตริย์เดนมาร์กก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการคิดเองเออเองของคนเดนมาร์ก เพราะนักวิชาการชาวอังกฤษและอื่นๆ ในยุโรปต่างก็ออกมายืนยันจุดเด่นดังกล่าวของสถาบันพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก ความต่อเนื่องยาวนานของสถาบันพระมหากษัตริย์นี้หมายถึงความสามารถในการคงความเป็นเอกราชไว้ได้ และตามทฤษฎีของนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่โด่งดังอย่างโรเบิร์ต ดาลฮ์ (Robert Dahl) เห็นว่า เงื่อนไขของพัฒนาการไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สำคัญประการหนึ่งคือ การไม่ตกเป็นเมืองขึ้น เพราะการเป็นเอกราชหมายถึงความเป็นอิสระในการจัดการเรื่องราวและแก้ปัญหาต่างๆ ของคนในประเทศเอง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของการบ่มเพาะจิตสำนึกประชาธิปไตย แต่กระนั้น ประเทศที่เคยตกเมืองขึ้นหลายประเทศก็สามารถพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้เช่นกันอย่างในกรณีของอินเดีย เป็นต้น ซึ่งถือเป็นกรณีเฉพาะที่ต้องศึกษาหาความคำตอบเป็นพิเศษ แต่ถ้าเหลียวดูรอบๆ บ้านเรา คำตอบดูจะยืนยันสิ่งที่โรเบิร์ต ดาลฮ์กล่าวไว้มากกว่า


นอกจากการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ยืนยาวต่อเนื่องแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่เราเหมือนเดนมาร์ก แต่อาจจะเหมือนไปทั้งหมด นั่นคือ ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในปี ค.ศ. 1849 เดนมาร์กเปลี่ยนแปลงได้อย่างสันติราบรื่นไม่เสียเลือดเนื้อและไม่มีความรู้สึกขมขื่นต่อกันระหว่างเจ้ากับกลุ่มผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ของไทยเราในปี พ.ศ. 2475 ก็เช่นกันไม่เสียเลือดเนื้อ แต่หลังจากนั้นหนึ่งปีก็เกิดกบฏบวรเดช และมีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก และฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎรก็มีความรู้สึกไม่ดีต่อกัน ส่งผลให้ผู้คนแต่ละฝ่ายรู้สึกไม่ดีต่อกันไปด้วย


ที่น่าสนใจคือ ในตอนเปลี่ยนแปลงการปกครองของเดนมาร์ก เขาไม่ได้เรียกร้องประชาธิปไตย แต่เขาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ Palle Svensson ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Aarhus ประเทศเดนมาร์ก ได้กล่าวถึงระบอบการปกครองและรัฐธรรมนูญของเดนมาร์กไว้ว่า “เดนมาร์กมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ซึ่งกำหนดหลักการพื้นฐานของระบบการเมือง บ่อยครั้งที่ ประชาธิปไตย และ รัฐธรรมนูญถูกเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะคำว่า ตัว”‘ประชาธิปไตย’ มิได้ถูกกล่าวถึงเลยในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของเดนมาร์ก หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับแรกของเดนมาร์กปี ค.ศ. 1849 คือ การปกครองแบบผสม (a mixed constitution) ระหว่างส่วนที่เป็นประชาธิปไตย อภิชนาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์ และพัฒนาการในเวลาต่อมาของการเมืองการปกครองเดนมาร์กได้ค่อยๆ นำไปสู่การยกเลิกและลดทอนส่วนที่เป็นอภิชนาธิปไตยและส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อส่วนประชาธิปไตยได้เติบโตเข้มแข็งมากขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางการเมืองของเดนมาร์กก็มิได้ดำเนินไปอย่างปราศจากการถดถอยและการท้าทายที่ยังไม่ลง


“การท้าทายที่ยังไม่ลงตัว” ในเดนมาร์กก็คงยังดำเนินต่อไป เพราะคนเดนมาร์กที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังต่อต้านอยู่ แต่ก็มีคนที่ “ให้เหตุผลที่ดี” (ที่ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึก) ในการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ของเขาไว้ อย่างในปี 2008 ก็มีหลักฐานแสดงถึงข้อโต้เถียงในหมู่คนเดนมาร์กในเรื่องนี้ (http://www.icenews.is/2008/01/23/danish-anti-monarchy-protest-brings-mixed-reactions/) แต่คนเดนมาร์กคนไหนจะต่อต้านสถาบันฯเพียงไร แต่สถิติการจัดอันดับคนมีความสุขและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศตัวเองก็คงทำให้พวกเขาคิดได้อย่างเดียวว่า ถ้าไม่มีสถาบันฯแล้ว พวกเขาจะมีความสุขและเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยู่ และอาจจะลดหรือปลดหนี้ไปหมดได้ !