น่านโมเดล...เก็บน้ำใส่เมืองน่าน

น่านโมเดล...เก็บน้ำใส่เมืองน่าน

คำพูดที่ว่า “น้ำคือชีวิต” มีความหมายมากสำหรับประเทศไทย เพราะคนไทย ส่วนใหญ่อยู่ในชนบทและต้องพึ่งการเกษตรเป็นอาชีพหลัก

การพัฒนาคุณภาพชีวิต คนไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ การบริหารจัดการน้ำเป็นนโยบายหลักของทุกรัฐบาลและได้รับความสำคัญมากขึ้นช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนน้ำ แต่เรามีความสามารถกักเก็บน้ำได้จำกัด น้ำฝนจำนวนมากจึงถูกปล่อยไหลลงทะเลไปอย่างสูญเปล่า

สำหรับเมืองน่าน ปัญหาเรื่องน้ำยากกว่าอีกหลายพื้นที่ของประเทศ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ไม่สามารถทำระบบชลประทานขนาดใหญ่ได้ ต้องทำเป็นอ่างเก็บน้ำหรือฝายขนาดเล็ก และทำระบบจัดส่งน้ำตามระดับความสูงของพื้นที่ นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่เคยเป็นป่าต้นน้ำ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ คนน่านจึงต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากแทบจะทุกฤดูฝน ส่วนในหน้าแล้ง คนน่านไม่มีน้ำพอสำหรับทำการเกษตร ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ใช้น้ำน้อยและดูแลง่าย แต่ส่งผลให้เกิด การเผาป่า เกิดปัญหาหมอกควัน และใช้ยาฆ่าหญ้าจนน่านมีปริมาณสารเคมีสะสมในดินและ น้ำใต้ดินสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

การสร้างและดูแลรักษาระบบบริหารจัดการน้ำให้พื้นที่ชนบทของไทยไม่น่าเป็นเรื่องยากเพราะในทางปฏิบัติแล้วกลับติดขั้นตอนของราชการจนไม่เกิดผลปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยราชการเป็นปัญหาโลกแตกของประเทศไทย

การดูแลรักษาอ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำหลังจากสร้างเสร็จแล้วยิ่งยุ่งยากขึ้นไปอีก เพราะงบประมาณเพื่อการซ่อมแซมไม่เคยพอสำหรับประเทศไทยการประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการยิ่งยากขึ้นไปอีกหลังจากที่มีการถ่ายโอนงบประมาณและงานบางส่วนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการถ่ายโอนงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักจะถ่ายโอนแต่งาน ไม่มีการถ่ายโอนคนที่มีความรู้และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานกลางไปด้วย

วันนี้ประเทศไทยจึงมีอ่างเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรหลายพันแห่งที่ถูกปล่อยให้ผุพัง หรือใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ถ้าเราให้ความสำคัญกับการซ่อมแซมระบบบริหารจัดการน้ำเหล่านี้อย่างจริงจังแล้ว จะช่วยเพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำให้ประเทศได้อีกมากโขและจะเกิดผลได้เร็ว เป็นรูปธรรม มากกว่าที่จะไปรอให้เมกะโปรเจคการบริหารจัดการน้ำเกิดขึ้นได้จริง

น่ายินดีว่าตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และหน่วยงานราชการหลายแห่งในจังหวัด ลุกขึ้นมาทำโครงการซ่อมแซม ปรับปรุง ฝาย อ่างเก็บน้ำ และระบบท่อส่งน้ำทั่วทั้งจังหวัด โดยหวังว่า “น่านโมเดล” ที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้อย่างพอเพียง และเป็นต้นแบบของการซ่อมแซมระบบบริหารจัดการน้ำขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สำรวจพื้นที่และตกลงร่วมกันที่จะซ่อมแซม ปรับปรุง ฝาย อ่างเก็บน้ำและระบบท่อส่งน้ำกว่า 560 โครงการ คาดว่าจะมีชาวบ้านได้รับประโยชน์กว่า 41,700 ครัวเรือน และมีพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 100,000 ไร่ที่จะมีน้ำใช้ดีขึ้นโดยเฉพาะน้ำสำหรับการปลูกพืชหลังนา ถ้าทำทุกโครงการได้สำเร็จ คุณภาพชีวิตของคนน่านจะดีขึ้นมาก รายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง ไม่ต้องบุกรุกป่าทำไร่เลื่อนลอยปลูกพืชเชิงเดี่ยว และชาวเมืองน่านก็ไม่ต้องกังวลกับปัญหาน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม และหมอกควันที่มาแรงและถี่ขึ้นเรื่อยๆ

การทำงานตาม “น่านโมเดล” ก้าวหน้าเร็วกว่าการทำงานของระบบราชการปกติมาก ภายในสี่เดือนได้ซ่อมแซม ปรับปรุงเสร็จไปแล้วกว่า 110 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 22,000 ไร่ ฝายแก้งที่อำเภอปัว เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า “น่านโมเดล” สามารถแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ดีกว่าระบบราชการหลายเท่านักฝายถูกน้ำป่าพัดพังไปเมื่อสิบปีที่แล้ว ชาวบ้านขอให้หน่วยงานราชการมาซ่อมหลายครั้งแต่ก็ไม่เกิดผล หน่วยราชการเคยประเมินว่าจะต้องใช้งบประมาณ 10 ล้านบาทแต่ติดปัญหาการจัดสรรงบประมาณ และการประมูลหาผู้รับเหมามาซ่อม ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 740 ครัวเรือนเสียโอกาสเสียรายได้มานานนับสิบปี ภายใต้รูปแบบการทำงานของ “น่านโมเดล” ฝายแก้งถูกซ่อมเสร็จแล้วภายในเวลา 60 วัน โดยใช้เงินค่าวัสดุก่อสร้างเพียง 3 ล้านบาท และแรงงานชาวบ้านที่มาร่วมกันอีก 3,200 แรง ชาวบ้านประเมินกันเองว่าหลังจากที่ซ่อมฝายแก้งเสร็จแล้ว จะมี รายได้จากการเกษตรรวมกันเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 40 ล้านบาทในหนึ่งปี เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าเมกะโปรเจคของรัฐบาลหลายเท่านัก

อ่างเก็บน้ำน้ำเลียบ ที่อำเภอเชียงกลาง เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของอ่างเก็บน้ำที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ รัฐบาลสร้างอ่างเก็บน้ำนี้มาแล้วสามสิบปี แต่ไม่มีระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพเพื่อระบายน้ำเข้าสู่ทางส่งน้ำของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านได้รับน้ำไม่เพียงพอ ผลผลิตข้าวต่อไร่ต่ำ และไม่สามารถปลูกพืชหลังนาได้ “น่านโมเดล” ใช้เงินไปเพียง 450,000 บาท ร่วมกับแรงงานชาวบ้าน 627 แรงตลอดระยะเวลาสองเดือน ชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือนที่จะได้รับประโยชน์คาดกันเองว่า หลังจากหน้าฝนปีนี้แล้ว ระบบท่อส่งน้ำใหม่จะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการเกษตรเพิ่มขึ้นรวมกันเกือบ 8 ล้านบาทต่อปี

การทำงานของ “น่านโมเดล” พัฒนาขึ้นจากรูปแบบการทำงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ที่ทำงานพัฒนาชนบทและปลูกป่าต้นน้ำในจังหวัดน่านมานานกว่าห้าปี ทุกโครงการภายใต้ “น่านโมเดล” จะต้องเข้าเงื่อนไขสามข้อคือ (1) ช่างของหน่วยงานราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้าไปสำรวจความเสียหายของฝาย อ่างเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำเรียบร้อยแล้ว (2) ชาวบ้านจะต้องเข้าชื่อลงแรงที่จะมาซ่อมแซมร่วมกันโดยไม่มีการจ้างผู้รับเหมา และ (3) ต้องคำนวณผลประโยชน์ที่ชาวบ้านคาดว่าจะได้รับหลังจากที่ซ่อมแซมเสร็จแล้ว โครงการใดที่ครบเงื่อนไขทั้งสามข้อจะได้รับการสนับสนุนความรู้ทางเทคนิคการบริหารจัดการน้ำ และวัสดุก่อสร้างจากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ซึ่งจัดซื้อจัดจ้างได้รวดเร็วและถูกกว่าการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ ไม่ต้องรองบประมาณตกเบิกและไม่มีเงินทอนจากการประมูล

รูปแบบการทำงานของ “น่านโมเดล” ทำได้จริง ทำได้เร็ว และได้ผลตอบแทนคุ้มค่าจากการลงทุน(หลายสิบเท่า) เพราะยึดหลักการทำงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ที่เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ทุกอย่างที่ทำต้องตอบได้ว่าชาวบ้านได้อะไร และที่สำคัญต้องส่งเสริมให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาลงแรงร่วมมือทำเอง ทำให้ชาวบ้านรู้สึกเป็นเจ้าของ และจะดูแลรักษาต่อไปได้ด้วยตนเอง

“น่านโมเดล” ไม่ได้หยุดเพียงแค่การซ่อมแซม ปรับปรุง ฝาย อ่างเก็บน้ำ และระบบท่อ ส่งน้ำ เพื่อเก็บน้ำให้เมืองน่านเท่านั้น แต่จะตามมาด้วยการวางระบบให้ชาวบ้านบริหารจัดการน้ำภายในชุมชนได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ชาวบ้านวางแผนการใช้น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตและปลูกพืชหลังนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลูกป่าและดูแลรักษาป่าต้นน้ำ และลดการบุกรุกป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งการทำงานในระยะต่อไปต้องอาศัยภาคีทั้งจากภาคธุรกิจ ประชาสังคม และวิชาการ มาร่วมกับขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

ถ้า “น่านโมเดล” ทำได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจ น้ำที่เก็บได้เพิ่มขึ้นจะหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนน่าน และจะเป็นตัวอย่างการเก็บน้ำเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทย ที่ทำได้จริง ทำได้เร็ว และได้ผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุน