ถ้าส.ส.มาจากแบบสัดส่วนทั้งหมด และส.ว.มาจากแบบแบ่งเขตจังหวัดล

ถ้าส.ส.มาจากแบบสัดส่วนทั้งหมด และส.ว.มาจากแบบแบ่งเขตจังหวัดล

ขอยืนยันในความคิดที่ว่า ระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน ที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นภาค ดีที่สุด

และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแบบแบ่งเขต จังหวัดละสองคน ก็ดีที่สุด ถ้าถามว่าทำไมถึงคิดอย่างนี้ ก็ต้องตอบว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้คิดว่าสองระบบกับสองสภามีความสอดคล้องกับประเทศไทยในหลายมิติ


สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ด้วยเหตุที่ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก การซอยเขตเลือกตั้งทำให้พื้นที่ในการหาเสียงเล็กมาก ในขณะที่นักการเมืองมีศักยภาพสูงที่จะทุ่มเงินหว่านได้เต็มพื้นที่ จะแตกต่างก็เฉพาะจำนวนเงินที่ทุ่มลงไปในพื้นที่หาเสียงอาจมากน้อยแตกต่างกัน การขยายพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้นจะเป็นการลดศักยภาพ และจะทำให้ได้ผลเฉพาะท้องที่ที่เป็นฐานเสียงหลัก ซึ่งจะมีผลให้คะแนนจัดตั้งอยู่ในกรอบที่จำกัด และยิ่งพื้นที่เลือกตั้งกว้างเพียงใด อัตราส่วนระหว่างผู้ที่ไม่ใช่คะแนนจัดตั้งกับผู้ที่มาจากคะแนนจัดตั้งจะยิ่งสูงมากขึ้นเพียงนั้น สิ่งเดียวที่นักเลือกตั้งจะขยายฐานได้ก็จะมาจากนโยบายพรรคที่ตนสังกัด ถ้าเป็นนโยบายที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยทั่วไป ก็มีโอกาสที่จะได้คะแนนจากผู้ที่ไม่ได้มาจากคะแนนจัดตั้งมากขึ้น


ในขณะเดียวกัน การยกเลิกการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทั้งหมด จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้พิจารณานโยบายพรรคมากขึ้น เพราะรู้ว่าถึงอย่างไร ส.ส. ก็จะต้องเน้นนโยบายพรรคมากกว่าการสร้างความนิยมเฉพาะตัว ผลดีจึงเกิดกับประชาชนคนไทยโดยรวม และที่สำคัญระบบอุปถัมภ์จะมีบทบาทน้อยลง แม้จะไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง เราน่าจะได้นักการเมืองที่เข้ามาทำหน้าที่ตามนโยบายพรรคมากกว่านักการเมืองที่เข้ามาเพื่อกอบโกยเอาคืนจากสิ่งที่ลงทุนไป


การเลือกตั้งในระบบสัดส่วนแบบบัญชีเปิด (Open List) ที่ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้สมัครในบัญชีของแต่ละภาค จะช่วยให้ประชาชนและผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมีการยึดโยงกัน เพราะอยู่ในภาคที่มีอัตลักษณ์ และวิถีชีวิตเดียวกัน ไม่ต่างจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต นอกจากนั้นจะช่วยแก้ปัญหาอื่นๆ อีก อาทิ สามารถกำหนดสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งในบัญชีได้ว่าจะต้องเป็นอัตราส่วนที่เสมอภาคกันระหว่างหญิงกับชาย และเมื่อผู้ใช้สิทธิได้กาเลือกผู้ใดในบัญชี ก็สามารถนำมาแจงนับเรียงลำดับใหม่จากมากไปหาน้อย และผู้ที่ได้คะแนนมากสุดก็จะได้รับเลือกเรียงเป็นลำดับลงไป ซึ่งเมื่อถึงขั้นนี้แล้วจะได้ ส.ส.หญิงหรือชายเป็นสัดส่วนเท่าไรก็ไม่เป็นประเด็น เพราะขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นสำคัญ


ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนทั้งหมดก็คือ ถ้าเกิดกรณีผู้ได้รับการเลือกตั้งลำดับต้นๆ เสียชีวิต หรือต้องออกก่อนครบเทอม ก็สามารถเลื่อนผู้ที่ได้คะแนนลำดับถัดไปขึ้นมาแทนได้เลย ไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการกำหนดให้ ส.ส.ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีจะต้องลาออกจากการเป็น ส.ส. สมาชิกลำดับต่อๆ ไปก็สามารถเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.ได้ตลอด จนกว่าจะหมดบัญชี (ซึ่งในบางประเทศได้กำหนดให้มีการสำรองได้อีกร้อยละห้าสิบ นั่นคือถ้าภาคนั้นมี ส.ส.ได้สิบคน ก็ต้องส่งบัญชีรายชื่อสิบห้าคน เพื่อป้องกันจำนวน ส.ส.หมดบัญชี)


สำหรับการเลือกตั้ง ส.ว. แบบแบ่งเขตโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งนั้น ก็จะทำให้ได้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งที่ยึดโยงกับประชาชนในเขตจังหวัด ที่ดีกว่าการสรรหาจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ในปัจจุบันระบบสรรหาเพื่อให้ได้มาซึ่งวุฒิสมาชิกของประเทศต่างๆ ได้ถูกยกเลิกไปเกือบหมดแล้ว แม้กระทั่งประเทศอังกฤษที่ใช้วิธีสรรหาสมาชิกสภาสูง (สภาขุนนาง) จากอดีตผู้บริหารประเทศหรือประมุขทางด้านนิติบัญญัติและด้านตุลาการ ก็กำลังถูกยกเลิก และให้การได้มาของสมาชิกสภาสูงมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด


คุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา ควรมีความแตกต่างจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาทิ ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ วาระการเป็นสมาชิกวุฒิสภาควรเป็นหกปี และสามารถเข้ารับการเลือกตั้งได้ตลอดเวลา ผู้สมัครควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ และวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี จำนวนวุฒิสมาชิกควรเป็นสองคนต่อหนึ่งจังหวัด โดยไม่คำนึงสัดส่วนของประชากร ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเล็กหรือใหญ่ก็จะมี ส.ว.ได้สองคนเหมือนกันหมด (เหมือนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทุกรัฐจะมีวุฒิสมาชิกได้สองคน ไม่ว่าจะมาจากรัฐเล็กหรือใหญ่) ทั้งนี้เพราะโดยหน้าที่หลักแล้ว ส.ว.ไม่ได้ทำหน้าที่เหมือน ส.ส. แต่ทำหน้าที่แทนประชาชนคนไทยทั้งประเทศในการตรวจสอบและให้ความเห็นชอบกฎหมายที่ส่งผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎรและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา นอกจากนี้ ส.ว. ไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ ถ้าได้รับการแต่งตั้ง ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกและถ้า ส.ว.เสียชีวิตหรือลาออกหรือถูกออกไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม การได้ ส.ว.คนใหม่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งเขตจังหวัด


ด้วยการใช้ระบบเลือกตั้งเช่นว่านี้ จะทำให้เราหลุดพ้นจากวิธีการสรรหา ซึ่งไม่ว่าคณะกรรมการสรรหาจะเป็นผู้ใด คณะใดก็ตาม ย่อมจะถูกสังคมจับตาเพราะเป็นเรื่องของดุลยพินิจของกรรมการสรรหา และไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนโดยสิ้นเชิง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับสังคมยุคปฏิรูปในขณะนี้


ณ วันนี้ เรายังไม่สายเกินไปที่จะกลับมาคิดถึงความเป็นไปได้ถึงการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ครั้งใหญ่ เราไม่ควรวิตกว่าจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอเพราะที่มาของ ส.ส. ไม่ได้มาจากการแบ่งเขตขนาดเล็ก ระบบนี้มีทางออกอยู่แล้ว เพราะจะมีผู้สมัครที่หลากหลาย กระจายตามกลุ่มประชากรที่มีความต่างกันในมิติต่างๆ ประเทศที่ใช้ระบบนี้ พรรคการเมืองทั้งหลายที่มีนโยบายคล้ายกันจะมีการพูดคุยและจับมือเป็นพันธมิตรกันก่อนมีการเลือกตั้ง เมื่อได้มีการเลือกตั้งแล้วจึงจะมีความชัดเจนในการผนวกนโยบายทั้งส่วนเหมือนและส่วนต่างเขาด้วยกัน ความเป็นรัฐบาลผสมเป็นสิ่งปกติ เพราะนั่นหมายถึงการที่มีผู้แทนของกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายในสังคมของประเทศเข้ามาบริหารประเทศ ด้วยวิธีการเลือกตั้งเช่นว่านี้ เราจะได้ ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ที่ยึดโยงกับประชาชน แม้จะต่างมิติกันประชาชนผู้เลือกตั้ง ส.ส. จะเน้นนโยบายพรรคมากขึ้น และประชาชนที่เลือก ส.ว. ก็จะได้ผู้แทนของเขาอย่างแท้จริง ซึ่งก็น่าจะดีกว่าให้กลุ่มหรือคณะบุคคลที่ไม่รู้จักมาตัดสินใจแทน