ร่างแก้ไขกฎหมายที่ดิน ฉบับใหม่ของอินเดีย

ร่างแก้ไขกฎหมายที่ดิน ฉบับใหม่ของอินเดีย

ในช่วง 10 เดือนที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล นายโมดีได้พยายามผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดียให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอีกครั้งหนึ่ง

นับตั้งแต่การจัดการกับปัญหาสัมปทานเหมืองถ่านหินที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง การนำเอาภาษีมูลค่าเพิ่ม (GST) ในอัตราเดียวกันทั้งประเทศมาใช้ ล่าสุดกำลังแก้กฎหมายที่ดินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการสร้างเมืองอัจฉริยะ 100 เมือง ซึ่งนับเป็นงานที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผมเห็นว่า หากสำเร็จจริง ก็จะพลิกโฉมเศรษฐกิจอินเดียใหม่ทีเดียว


อินเดียมีกฎหมายที่ดินใช้มากว่า 120 ปีแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2556 รัฐสภาอินเดียภายใต้พรรคคองเกรสได้ผ่าน กฎหมายว่าด้วยการจัดหาที่ดินและการฟื้นฟูชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ (The Land Acquisition and Rehabilitation and Resettlement Bill 2013)


แต่เมื่อดูสาระสำคัญแล้ว กฎหมายฉบับนี้กลับเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของที่ดินเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนจนทำให้การนำเอาที่ดินมาพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและชุมชนเมืองเป็นไปได้ยาก นั่นก็คือ หากรัฐหรือเอกชนรายใดต้องการเวนคืนหรือซื้อที่ดินเกิน 100 เอเคอร์ (250 ไร่) ไม่ว่าในเขตชนบทหรือเขตเมืองจะต้องมีขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ดังนี้


(1) มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับท้องถิ่นเพื่อดูแลเรื่องการซื้อขายและชดเชยเจ้าของที่รายเดิม


(2) มีการจัดทำรายงานผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment – SIA) และประชาพิจารณ์โดยประชาชนที่เกี่ยวข้อง (ซึ่งรวมทั้งเจ้าของที่ดิน ผู้เช่าที่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดิน ชนเผ่าที่อยู่ดั้งเดิม หรือผู้ที่เคยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ เช่น ของป่า จากที่ดินดังกล่าว)


(3) มีการกำหนดราคาชดเชยที่ดินที่ซับซ้อน โดยนอกจากคำนวณจากราคาประเมินของกรมที่ดิน และราคาซื้อขายที่ดินในบริเวณใกล้เคียงเฉลี่ยสูงสุด 50 เปอร์เซ็นต์แรกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาแล้ว ยังต้องมีการจ่ายชดเชยเพิ่มอีก เช่น หากซื้อที่ดินจากเกษตรกรจะต้องจ่ายชดเชยให้แก่เจ้าของที่อีก 2 เท่าของราคาประเมิน หรือหากซื้อที่ดินในเขตเมืองก็จ่ายชดเชยแก่เจ้าของอีก 1 เท่า นอกจากนี้ยังต้องมีการฟื้นฟูหรือชดเชยผู้ที่ถูกย้ายออก ซึ่งมีทั้ง เจ้าของที่ ผู้ที่เคยเช่าอยู่มาก่อนหน้าการจัดหาที่ดิน 3 ปี ผู้ที่เคยอาศัยได้ประโยชน์จากที่ดินหรือป่าหรือแหล่งน้ำที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินนั้น


(4) หากเอกชนซื้อที่ดินไปแล้วและมิได้ใช้ประโยชน์ภายใน 5 ปีรัฐบาลสามารถยึดกลับคืนมาใช้ประโยชน์แทน และ หาก 5 ปีต่อมาได้ขายต่อที่ดินดังกล่าวในราคาที่สูงขึ้น ก็จะต้องแบ่งผลกำไรร้อยละ 40 ของมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากราคาเดิมที่ซื้อมาให้แก่เจ้าของที่ดั้งเดิม


(5) การรวบรวมซื้อที่ดินผืนเล็กผืนน้อยจนเกิน 100 เอเคอร์ จะต้องให้เจ้าของที่ดินทั้งหมดอย่างน้อยร้อยละ 80 เห็นชอบร่วมกันจึงจะสามารถซื้อที่ดินทั้งผืนได้ (สำหรับโครงการ Public-Private Partnership ของรัฐต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันอย่างน้อยร้อยละ 70)


รัฐบาลโมดีมองว่า ภายใต้กฎหมายที่ดินนี้ การจะผลักดันโครงการก่อสร้างระเบียงอุตสาหกรรม (Industrial Corridors) เชื่อมโยงเมืองหลักของอินเดีย รวมทั้งชักจูงให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) 100 เมืองคงไม่ง่ายนัก จึงได้เสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเพิ่มข้อยกเว้นให้การดำเนินโครงการข้างต้นไม่ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ดิน โดยเฉพาะในเรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบทางสังคม (SIA) และการที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของที่ดินทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเท่ากับเป็นการลดขั้นตอนทำให้โครงการเหล่านี้แจ้งเกิดได้เร็วขึ้น


ร่างแก้ไขกฎหมายที่ดินฉบับของรัฐบาลนายโมดีได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาสูง ซึ่งพรรคคองเกรสและพันธมิตรคุมเสียงข้างมากอยู่ นักวิเคราะห์การเมืองเชื่อว่า มีโอกาสสูงที่จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อแปรญัตติหรือปรับแก้ไขอีก แต่ถ้าหากต้องมีการลงคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบร่วมกันของ 2 สภาก็น่าจะเข้าทางพรรครัฐบาลที่จะรวบรวมเสียงได้มากกว่า เพื่อทำให้ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีผล


แน่นอนว่าความพยายามของนายโมดีครั้งนี้มีต้นทุนทางการเมืองที่แพงขึ้น เหล่าขาประจำ เช่น ศาสตราจารย์ อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอินเดีย ก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของนายโมดีมาตลอด ตอนนี้ก็ได้รับแรงหนุนเพิ่มขึ้นจากกลุ่ม NGO ที่เห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิประโยชน์ของคนรากหญ้า ล่าสุดนาย Anna Hazare ผู้ซึ่งโด่งดังมาจากการรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่นในอินเดียครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 จนเกือบทำให้รัฐบาลของพรรคคองเกรสหลุดจากอำนาจก็เข้ามาร่วมต่อต้านด้วย


ตัวนายโมดีเองก็ต้องออกรายการวิทยุประจำเดือนชื่อ “เปิดใจคุย (Mann Ki Baat)” เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลกำลังเอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจเอกชน โดยไม่คำนึงถึงความลำบากของเกษตรกรและเจ้าของที่ดิน นายโมดีกล่าวว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นความจำเป็นเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนา สร้างอุตสาหกรรมและเมืองใหม่รองรับการเคลื่อนย้ายของแรงงานจากภาคชนบทที่จะมาสู่เขตเมือง โดยรัฐบาลก็ยังคงมีมาตรการอื่น ๆ เพื่อช่วยดูแลผลประโยชน์ของชุมชนและเกษตรกร


ผมเองคิดว่ารัฐบาลนายโมดีน่าจะสามารถแก้ไขกฎหมายที่ดินครั้งนี้ได้สำเร็จ แต่ก็คงต้องแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้มีการเวนคืนที่ดินเพื่อให้เอกชนเอาไปพัฒนา เสร็จแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรจริงจัง แต่กลับขายต่อให้ภาคเอกชนอื่นเหมือนอย่างที่ผ่าน ๆ มา อินเดียขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้าง การพัฒนาเมืองใหม่ให้ความสนใจ ก่อนที่คนอื่นจะคว้าไปเสียก่อน