บทบาทเอกชนในการช่วยเหลือ SMEs

บทบาทเอกชนในการช่วยเหลือ SMEs

ไตรมาสแรกของปี 2558 ผ่านไปแล้ว เป็นช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา เนื่องจากเครื่องจักรในการผลักดันเศรษฐกิจทำงานได้ไม่เต็มที่นัก

อาทิ เช่น การบริโภคภายในที่ชลอตัว จากภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 80 % การ กระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังไม่ถึง 30% ภาวะการส่งออก 2 เดือนที่ติดลบถึง 4.82% ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดประมาณการ GDP เหลือเพียง 3.8 % ขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดเหลือเพียง 3.6 %

มีการคาดการณ์จากภาคเอกชนว่าคงไม่ต่างจากปีที่แล้ว ที่ GDP ถูกปรับลดลงตลอด จนอาจจะเป็น 0 ในไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากมองไปข้างหน้ายังไม่เห็นปัจจัยบวกที่ชัดเจน ผู้ประกอบการ SMEs เกือบ 3.0 ล้านราย จึงเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตารช่วยเหลือ SMEs มาตลอด รัฐบาลชุดที่แล้วได้มีมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ อาทิเช่น

ด้านแรงงาน มีการสนับสนุนเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน

ด้านการผลิต ช่วยเหลือในแง่ของการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการยกเว้นภาษีจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมได้ 100% ในปีแรก แทนการหักค่าเสื่อม 5 ปี การหักค่าใช้จ่ายส่วนต่างจากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ได้ 1.5 เท่า

ด้านภาษี การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20 ในปี 2556 การนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมมาหักภาษีได้ 3 เท่า

ด้านสินเชื่อ มอบหมายให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ ช่วยเหลือ SME ที่ขาดหลักประกัน โดยให้ บสย ค้ำประกัน

ด้านการเงิน การช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ด้วยการปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารและค่าที่พักในการฝึกอบรมของส่วนราชการ

รัฐบาลชุดปัจจุบันได้มอบหมายให้ สสว ผลักดันมาตรการต่างๆ อาทิเช่น โครงการ Go SMEs โครงการ Beyond Border โครงการ OTOP PLUS โครงการ AEC READY และโครงการ SMEs CORPORATE VENTURE เป็นต้น

โครงการของภาครัฐที่ผ่านมา SMEs ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งจากประสิทธิภาพการดำเนินการของส่วนราชการ และข้อจำกัดของผู้ประกอบการ SMEs เอง เอกชนจึงควรเพิ่มบทบาทในการสนับสนุนช่วยเหลือ SMEs ให้มากยิ่งขึ้น เรื่องเร่งด่วนที่ควรได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน 2 เรื่อง ได้แก่

การสนับสนุนทางด้านเงินทุน ยังมี SMEs จำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นสถาบันการเงินได้ เนื่องจากสถาบันการเงินใช้ระบบการอนุมัติสินเชื่อในระบบ Scoring โดยพิจารณาจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ เช่น งบการเงิน การจัดการ หลักประกัน ซึ่ง SMEs ไม่ผ่านเกณฑ์อนุมัติได้

ภาคเอกชนจึงควรให้การสนับสนุนเงินทุน โดยบริษัทขนาดใหญ่ ควรจัดตั้ง Venture Capital เพื่อเข้าถือหุ้นร่วมกับ SMEs ที่มีศักยภาพ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนทางด้านเงินทุน ยังเป็นการสร้างภาพพจน์ให้กับ SMEs และสนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านต่างๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีจากผู้จัดตั้งกองทุนด้วย

การเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ภาคเอกชนสามารถให้การสนับสนุนได้ โดยห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ควรเพิ่มพื้นที่ขายสินค้าจากผู้ประกอบการSMEs มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการจัด Event โดยจัดพื้นที่รอบนอกให้ทุกสัปดาห์ รวมถึงการเปิดโอกาสให้SMEs ที่มีมาตรฐานในการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ นำสินค้าไปขายได้ผ่านผู้ประกอบการที่ขยายไปลงทุนในต่างประเทศด้วย

องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทสำคัญในการจัดพื้นที่ ในลักษณะของ SMEs MARKET PLACE โดยการจับมือกับภาคเอกชนในพื้นที่ เช่น หอการค้าจังหวัดให้ครบทุกจังหวัด เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการจำหน่ายสินค้า โดยการสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาพื้นที่ให้สามารถดึงดูดผู้บริโภคเข้าไปซื้อสินค้า รวมถึงการพัฒนาตลาดในลักษณะ Signature Market แบบตลาดดอนหวาย หรือตลาดน้ำอัมพวาให้มากยิ่งขึ้น

ผู้ประกอบการ SMEs ทุกท่านควรจะเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งการพัฒนาสินค้า การจัดการและระบบบัญชี เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ภาคเอกชนพร้อมที่จะให้การสนับสนุน

ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง ผมเชื่อมั่นว่าเราจะก้าวข้ามวิกฤติได้ครับ