จะมั่นคงหรือมั่งคั่ง

จะมั่นคงหรือมั่งคั่ง

สำหรับผู้เขียน กุญแจสำคัญของเศรษฐศาสตร์มหภาค รวมถึงการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศคือ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน

ซึ่งผู้บริหารประเทศจะต้องให้ความสำคัญในทุกด้านอย่างสมดุล


โดยปกติแล้ว ผู้บริหารประเทศที่มาจากฝั่งการเมืองมักเลือกที่จะดูแลเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะนั่นหมายถึงปากท้อง และนำมาซึ่งคะแนนเสียง แต่ในปัจจุบันผู้บริหารประเทศหันมาเน้นความสำคัญของความยั่งยืนของเศรษฐกิจ ที่พยายามลดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เห็นได้จากนโยบายภาษีภาครัฐทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีมรดก ที่เน้นเรื่องการกระจายความมั่งคั่งทั้งสิ้น


แต่สิ่งที่ผู้บริหารประเทศ รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์ไทยค่อนข้างวางใจคือประเด็นเรื่องเสถียรภาพ โดยมองว่าไทยมีเสถียรภาพแข็งแกร่งต่างจากอดีต โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997-98 ส่งผลให้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีภูมิต้านทานต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปได้


แต่ผู้เขียนขอตั้งขอสังเกตว่า หากเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพแข็งแกร่งตามมุมมองทั่วไปแล้ว เพราะเหตุใดเศรษฐกิจไทยจึงซึมเซาต่อเนื่องกันหลายปี และตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-Income Trap) ดังนั้น เพื่อจะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนจึงขอแบ่งรูปแบบของเสถียรภาพเศรษฐกิจเป็น 4 ด้าน รวมถึงตรวจสอบความแข็งแกร่งของเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในแต่ละด้าน ดังนี้


ด้านที่หนึ่ง ได้แก่ เสถียรภาพด้านราคาที่วัดจากอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยหากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อสูง ทำให้ประชาชนหารายได้มาเท่าไรก็ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ในอีกมุมหนึ่ง หากราคาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ผู้คนที่หารายได้มาก็ไม่อยากจับจ่าย อันเป็นเหตุของภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง อันเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน


ด้านที่สอง ได้แก่ เสถียรภาพด้านการไหลเข้าออกของเงินทุน โดยหากประเทศขาดดุลการค้า และหรือขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าเราต้องพึ่งพิงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาทดแทนการขาดดุลดังกล่าว มิฉะนั้นค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง ซึ่งหากรุนแรงอาจนำไปสู่วิกฤตต้มยำกุ้งอย่างในอดีตได้


แต่หากประเทศเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการใช้จ่ายในประเทศหดตัวทำให้การนำเข้าหดตัวไปด้วย ดังที่เศรษฐกิจไทยประสบอยู่ในปัจจุบัน อาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นและยิ่งกระทบการส่งออกในระยะต่อไป


ดังนั้น ตัวชี้วัดเสถียรภาพด้านนี้จึงเป็นดุลบัญชีเดินสะพัดที่ไม่ขาดดุลหรือเกินดุลจนเกินไป รวมถึงทิศทางค่าเงินบาทเทียบกับคู่ค้าโดยรวม ซึ่งในปัจจุบันเงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้าโดยรวมเกือบ 10% นับจากต้นปี 2014 ที่ผ่านมา


ด้านที่สาม ได้แก่ เสถียรภาพภาคการเงินการธนาคาร ซึ่งวัดจากการมีเงินทุนที่มากพอ เพราะหากเงินทุนมีไม่เพียงพอ หากเกิดวิกฤตความเชื่อมั่นจนผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินในสถาบันการเงินหนึ่งใด (ไม่ว่าจะเกิดจากกระแสข่าวลือที่มีมูลหรือไม่ก็ตาม) อาจเกิดสถานการณ์ Bank Run หรือการที่ผู้ฝากเงินตื่นตระหนกและแห่ถอนเงินในสถาบันการเงินจนขาดสภาพคล่องและอาจล้มละลายได้ แต่ถ้าสถาบันแห่งนั้นมีทุนเพียงพอ ก็จะสามารถสร้างความมั่นใจกับผู้ฝากว่าจะมีเงินคืนได้


นอกจากนั้น ยังอาจวัดจากการหารายได้ กล่าวคือ หากรายได้ของสถาบันการเงินที่วัดจากดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราที่สูง (อันเป็นสถานการณ์ที่ไทยประสบอยู่) บ่งชี้ว่าสถาบันการเงินนั้นๆ มีความสามารถในการทำกำไรได้ดี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็บ่งชี้ว่าประชาชนในประเทศนั้นๆ ยังประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อันเป็นผลจากหน่วยงานกำกับไม่ปล่อยให้มีสถาบันการเงินใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันระดมเงินฝาก ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากถูกกดให้อยู่ระดับต่ำ ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับสูงเกินปกติ (หรือตามศัพท์เศรษฐศาสตร์เรียกว่า Financial Repression) และนำไปสู่ภาคการเงินนอกระบบหรือภาคการเงินเงา (Shadow Banking) ได้


ด้านสุดท้าย ได้แก่ เสถียรภาพการคลัง ที่วัดจากการที่ภาครัฐต้องไม่ขาดดุลการคลังจนเกินไป จนทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นในพันธบัตรรัฐบาล (ดังเช่นที่เกิดขึ้นในกรีซในช่วงที่ผ่านมา) แต่ในอีกทางหนึ่ง ภาครัฐก็ต้องไม่จำกัดจำเขี่ยจนเกินไป โดยควรจะตั้งงบประมาณเพื่อการลงทุนของประเทศให้พอเหมาะพอควรต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจระยะยาว


สำหรับในประเด็นนี้ อาจกล่าวได้ว่าเสถียรภาพการคลังของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะการที่ภาครัฐไทยไม่ขาดดุลการคลังรุนแรงเกินไป และหนี้สาธารณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 48% ของ GDP ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม (60%)


แต่ปัญหาคือการที่ภาครัฐมีรายจ่ายด้านลงทุนต่ำ (เพียงประมาณ 8-9% ของรายจ่ายรวม) ซึ่งต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ 25% อย่างมาก ซึ่งสาเหตุมาจากรายจ่ายประจำโดยเฉพาะเงินเดือนข้าราชการที่ค่อนข้างสูง (เนื่องจากมีข้าราชการจำนวนมาก) จึงมีเงินเหลือมาใช้ด้านการลงทุนน้อย และมาจากการเบิกจ่ายงบลงทุนที่น้อยเนื่องจากข้าราชการเกรงกลัวว่าจะทำผิดกฎระเบียบ จึงไม่เร่งเบิกจ่ายเท่าที่ควร


ภาพทั้งหมด บ่งชี้ว่าผู้กำกับนโยบายเศรษฐกิจไทยสุดโต่งเกินไป โดยเน้นเสถียรภาพจนละเลยประสิทธิภาพเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบจนเกินไป จนละเลยเมื่อยามเศรษฐกิจตกต่ำและเผชิญเงินฝืดเช่นปัจจุบัน หรือมุ่งเน้นให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจนเกินไป ขณะที่ประเทศคู่แข่งอื่นๆ ยอมให้ค่าเงินตนอ่อนค่าลง ทำให้เงินบาทแข็งเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ และทำให้การส่งออกไทยเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา


ในภาคสถาบันการเงิน ภาครัฐก็ปกป้องสถาบันการเงินในประเทศจนเกินไป ทำให้ผลลบตกไปอยู่กับประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือหากเข้าได้ก็ต้องกู้ดอกเบี้ยแพงหรือฝากดอกเบี้ยถูกกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่ภาคการคลังก็มุ่งมั่นที่จะรักษากรอบความยั่งยืน ทำให้ไม่กล้าก่อหนี้ที่อาจจำเป็นเพื่อใช้เป็นทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจประเทศ ประกอบกับประสิทธิภาพการบริหารรัฐกิจในระดับต่ำ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางเช่นในปัจจุบัน


หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในปรัชญาการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นแต่เสถียรภาพแต่ละเลยประสิทธิภาพดังเช่นปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยก็คงติดอยู่ในหล่มกับดักรายได้ปานกลางไปอีกนาน


-----------------
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่