การทำมาหากินในภาวะเศรษฐกิจขาลง

การทำมาหากินในภาวะเศรษฐกิจขาลง

ผมได้อธิบายคำว่า หนี้ครัวเรือนและภัยคุกคาม ที่ท่านผู้ประกอบการจะต้องเผชิญ เพื่อให้ท่านผู้ประกอบการได้วางแผนในการดำเนินธุรกิจ

ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงเรื่องที่สำคัญเฉพาะหน้า คือ เรื่องสภาพคล่อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ 

จากการที่ได้มีโอกาสพบปะกับผู้ประกอบการ SME หลายราย ต่างก็บ่นว่า เป็นช่วงที่ยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ ผมได้แต่ให้กำลังใจและแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง วิธีการสร้างธุรกิจให้เจริญเติบโตในภาวะเศรษฐกิจขาลง เป็นบทความทางวิชาการที่เขียนโดยฝรั่งชื่อ Jennifer Bosavage ใน INCquity- Entrepreneur' Handbook ซึ่งกล่าวถึงวิธีการ 7 วิธี

คือ การหาลูกค้าใหม่ การจัดการการเงิน การกำหนดเป้าหมายดำเนินการ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การปรับปรุงการบริการลูกค้า การพัฒนาพนักงานและการจัดระบบตัวแทนจำหน่าย

ซึ่งท่านผู้ประกอบการสามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้

เรื่องที่สำคัญซึ่งได้จากประสบการณ์ในการดูแลลูกค้า SME นานกว่า 30 ปี ได้มีโอกาสเรียนรู้จากผู้ประกอบการที่ผ่านช่วงเวลาที่ลำบากมาแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในช่วงเวลานี้ ได้แก่เรื่องการตลาดการผลิตสินค้า และเรื่องที่เกี่ยวกับคนในองค์กร

การตลาดเป็นเรื่องที่จำเป็นในช่วงที่ยอดขายลดลง หากมีการวางแผนการตลาดที่ดีก็จะช่วยกระตุ้นยอดขาย

ได้คุยกับ คุณปรีชา ส่งวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท FN Factory เจ้าของแบรนด์ Fly Now เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่เริ่มดำเนินธุรกิจ ในปี พ.ศ.2526 เป็นช่วงที่ยากลำบากเหมือนการปลูกต้นไม้ในฤดูแล้ง แต่เมื่อฤดูฝนมาถึงก็จะเติบโตอย่างรวดเร็ว 30 กว่าปีที่ผ่านมา

กิจการผ่านมรสุมหลายครั้งแต่ก็ผ่านพ้นมาได้ ในช่วงที่เศรษฐกิจแย่คนซื้อของน้อยลง เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ การขายทำทุกอย่าง ตั้งแต่เพิ่มช่องทางการจำหน่าย กระตุ้นผู้บริโภคด้วยการนำสินค้าออกมาวางขายหน้า Outlet เอาคนที่อยู่ Back Office มาช่วยขายของในช่วงเทศกาลที่สำคัญ เช่น วันสงกรานต์ ก็ขอร้องให้ผลัดกันหยุดงานมาช่วยกันขายของให้มากที่สุด

เรื่องราคาอีกเรื่องหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มยอดขายได้ จากสภาพที่ลูกค้าเสพติดการลดราคา ถ้าไม่ลดก็ไม่ซื้อ ลดน้อยไม่ช็อป การลดราคา จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่การลดราคาก็ต้องคำนึงถึงต้นทุนขายด้วย ต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนให้เหมาะสมกับราคาเช่นกัน การเข้าไปเล่นในสงครามราคาอาจทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นเพียงการดันยอดขายในระระยะสั้นเท่านั้น

เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญต่อมา คือ เรื่องการผลิตสินค้า เริ่มตั้งแต่ลดความเสี่ยงในการผลิตด้วยการคาดการณ์ดีมานด์อย่างเหมาะสม เพื่อกำหนดซัพพลายให้สมดุล ต้องรู้ความต้องการของผู้บริโภคเพื่อพัฒนาสินค้าสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ยั่งยืนกว่า การลดราคา

กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนต้องมีการควบคุมต้นทุน ต้องดูว่าต้นทุนด้านใดที่สามารถลดได้ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ที่สามารถปรับเปลี่ยนเวลาในการผลิตในช่วงที่อัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่ำ วัตถุดิบที่ใช้อาจเลือกใช้วัตถุดิบที่สามารถทดแทนกันได้โดยเลือกใช้วัตถุดิบที่ราคาถูกกว่า เช่นการหันมาใช้วัถุดิบในประเทศหรือพิจารณาจากซัพพลายเออร์หลายแห่ง

เรื่องสุดท้ายที่อยากฝากไว้ คือ เรื่องคนในองค์กรต้องปลุกพลังคนในองค์กรให้ร่วมกันฟันฟ่าวิกฤติให้ได้ ขอความร่วมมือตั้งแต่เรื่องขอให้ช่วยกันประหยัดในทุกด้าน การลดค่าจ้างแรงงาน งดจ่ายโบนัสเพื่อประคองกิจการให้อยู่รอด ขอให้ท่านผู้ประกอบการได้วิเคราะห์ธุรกิจที่ท่านดำเนินการ อาจเลือกใช้วิธีการที่นอกเหนือจากข้อแนะนำตามความเหมาะสมของแต่ละกิจการ

วิกฤติครั้งนี้ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เริ่มวางแผนแล้วลงมือทำเลยครับ ผมเชื่อว่าทุกท่านจะฟันฝ่าไปได้ครับ..