ประสบการณ์รถไฟ Made in China (จะ) บุกโลก

ประสบการณ์รถไฟ Made in China (จะ) บุกโลก

นอกเหนือจากความพยายามอย่างหนักในการออกไปทำโครงการก่อสร้างรถไฟจีนในต่างแดน อีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลจีนที่ควบคู่กันไปคือการส่งออกสินค้ารถไฟ

Made in China บุกตลาดโลก บทความในวันนี้จะลองมาไล่เรียงดูว่า จีนมีประสบการณ์ทั้งสองด้านนี้อย่างไรบ้าง และประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน อย่างไร


ขอเริ่มจากประเด็นแรก การส่งออกสินค้ารถไฟ Made in China ไปต่างประเทศ เท่าที่ดิฉันได้ติดตามรายงานสถิติ พบว่า มีการขยายตัวการส่งออกสินค้าในหมวดนี้ของจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกหัวรถจักรไฟฟ้าฯ ไปบุกตลาดโลก ในช่วงระหว่างปี 2011-2014 จีนมีการส่งออกหัวรถจักรไฟฟ้าฯ ด้วยอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 34.7 ต่อปี และเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่า 3 เท่าของการขยายตัวการส่งออกโดยรวมของจีน


จากรายงานของทางการจีน ในปี 2014 มีการส่งออกสินค้าหมวดรถไฟฯ มูลค่ารวม 26.77 พันล้านหยวน ในจำนวนนี้ เป็นการส่งออกสินค้าหัวรถจักร มูลค่า 15.5 พันล้านหยวน หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 57.7 ของการส่งออกสินค้ารถไฟทั้งหมดของจีน โดยเฉพาะบริษัท China South Locomotive & Rolling Stock Corporation Limited (CSR) ของจีน ได้ขยับขึ้นเป็นผู้ผลิตหัวรถจักรไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลกไปแล้วค่ะ


แล้วมีประเทศไหนที่เป็นลูกค้าซื้อสินค้ารถไฟ Made in China กันบ้าง กระทรวงพาณิชย์จีนรายงานว่า มีการส่งออกสินค้ารถไฟและอุปกรณ์ฯ ไปรุกตลาดต่างแดนมากกว่า 30 ประเทศ โดยมีตลาดหลักอยู่ที่กลุ่มอาเซียน อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย และอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของตลาดส่งออกสินค้าหมวดนี้ของจีน โดยเฉพาะประเทศที่สั่งซื้อสินค้าหัวรถจักรฯ จากบริษัท CSR ได้แก่ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี บราซิล และแองโกลา


กรณีของไทยเอง เริ่มมีการนำเข้าสินค้าหมวดรถไฟจากจีนเมื่อ 5 ปีก่อน โดยบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สั่งผลิตรถไฟฟ้าบีทีเอสจากบริษัท Changchun Railway Vehicles จำกัด นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ก็มีการจัดซื้อสินค้าหมวดรถไฟจากจีน เช่น หัวรถจักร รถโดยสาร และโบกี้บรรทุกสินค้า ล่าสุด รฟท. ยังได้จัดซื้อหัวรถจักรรถไฟ จำนวน 20 คันพร้อมอะไหล่จากบริษัท CSR Qishuyan (ในเครือบริษัท CSR จีน) และเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2015 ได้มีการจัดส่งหัวรถจักรฯ มาถึงไทยแล้ว 2 คัน ตามแผนการที่จะใช้เพื่อลากจูงตู้คอนเทนเนอร์ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง


อะไรคือจุดเด่นของสินค้ารถไฟ Made in China จากรายงานสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องในไทยระบุว่า “เนื่องจากจีนมีต้นทุนการผลิตถูกกว่าประเทศยุโรปราวร้อยละ 30-50 เช่น หัวรถจักรราคาเฉลี่ยอยู่ที่คันละ 100-110 ล้านบาท โดยจีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น หลังได้รับการถ่ายทอดจากประเทศยุโรป พร้อมกับได้รับใบอนุญาตในการผลิต ที่สำคัญ หัวรถจักรวิ่งบนราง 1 เมตรที่ไทยเคยสั่งซื้อจากยุโรป ในตอนนี้ ก็ไม่มีใครผลิตแล้ว ส่วนใหญ่หันไปพัฒนารางมาตรฐาน 1.435 เมตร และสู้ต้นทุนของจีนไม่ไหวด้วย”


ดังนั้น จึงชัดเจนว่า ด้วยเหตุใดสินค้ารถไฟ Made in China จึงสามารถเจาะทะลุทะลวงตลาดโลกได้มากขึ้น


ในส่วนของประเด็นที่สอง ประสบการณ์ออกไปก่อสร้างรถไฟจีนในต่างแดน ก็สำคัญมากเช่นกันค่ะ โดยเฉพาะในยุคที่บ้านเมืองเรากำลังรอคอยผลสำเร็จจากการทำ MOU รถไฟไทย-จีน หลายคนคงอยากทราบว่าที่ผ่านมา จีนเคยออกไปก่อสร้างรถไฟในประเทศใดได้สำเร็จแล้วบ้าง


เท่าที่พูดคุยกับพรรคพวกในจีน ตัวอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จีนออกไปก่อสร้างในต่างประเทศและเปิดใช้การแล้ว คือ เส้นทางในประเทศตุรกี สาย Ankara-Istanbul เฟส 2 โดยเปิดให้มีการเดินรถตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2014 และรถไฟสาย Benguela ในประเทศแองโกลาที่เปิดใช้ในเดือนส.ค.2014 ด้วยระยะทางยาว 1,344 กิโลเมตร ถือเป็นเส้นทางรถไฟสายยาวที่สุดที่บริษัทจีนเคยออกไปก่อสร้างในต่างแดน นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟในประเทศเคนยา สาย Nairobi-Mombasa ระยะทางประมาณ 485 กิโลเมตร เป็นต้น


สำหรับข้อได้เปรียบของโครงการก่อสร้างรถไฟโดยจีน คงหนีไม่พ้นเรื่องต้นทุนการก่อสร้าง มีรายงานของธนาคาร World Bank (กรกฎาคม 2014) ระบุว่า ต้นทุนของรถไฟความเร็วสูงจีนอยู่ที่ประมาณ 87-129 ล้านดอลลาร์ต่อกิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 2/3 ของต้นทุนฯ ในยุโรปและสหรัฐ


ที่สำคัญ ผู้นำจีนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการผลักดันรถไฟจีนให้ออกไปตะลุยตลาดต่างแดน โดยเฉพาะภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt, One Road และแนวคิด Silk Road ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญของผู้นำจีนที่จะต้องหยิบยกมาเอื้อนเอ่ยในระหว่างการเดินทางไปเยือนต่างประเทศและเน้นการเชื่อมโยง connectivity โดยการพัฒนาโครงข่ายรถไฟร่วมกับจีน จึงถือเป็นการทำมาร์เก็ตติ้งระดับ top ให้กับสินค้ารถไฟจากแดนมังกรด้วยค่ะ


จากรายงานสถิติในปี 2014 บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน ทั้งกลุ่ม CSR Corporation Limited และกลุ่ม China CNR Corporation Limited ได้มีการออกไปทำสัญญาลงนามโครงการสร้างรถไฟในต่างประเทศมูลค่ามากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ ด้วยอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 60 ต่อปี


สำหรับจุดแข็งที่ทางการจีนมักจะนำมาใช้อธิบายในการออกไปโรดโชว์โครงการรถไฟของตน มีทั้งเรื่องเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่จีนทุ่มทุนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเป็นผู้มาทีหลังเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นหรือยุโรป รวมไปถึงเรื่อง “คุณภาพสมราคา” และระยะเวลาในการก่อสร้างที่ไม่นานเกินไป


อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่ารถไฟจีนจะประสบความสำเร็จในทุกประเทศที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรณีของเม็กซิโกที่พูดถึงกันมาก เมื่อเดือนพ.ย. 2014 รัฐบาลเม็กซิโกได้ประกาศเพิกถอนสัญญาก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เพิ่งประกาศให้กลุ่มบริษัทจีนชนะการประมูลเพียงแค่ไม่กี่วัน ด้วยเหตุผลว่า “มีความเคลือบแคลงสงสัยและความวิตกกังวล” เกี่ยวกับกลุ่มบริษัทที่ได้รับสิทธิ์ไป ซึ่งเป็นกิจการร่วมระหว่างบริษัท China Railway Construction Corporation (CRCC) ของจีน ร่วมกับบริษัทเม็กซิโก 4 รายและบริษัทจากฝรั่งเศสอีกราย ทั้งๆ ที่กลุ่มนี้ได้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ระยะทาง 200 กว่ากิโลเมตรในเม็กซิโก หากแต่รัฐบาลเม็กซิโกประกาศยกเลิกสัญญาดังกล่าวอย่างกะทันหัน จนทำให้แวดวงรถไฟจีนต้องตกตะลึง และทางการจีนได้ออกมาเรียกร้องการปฏิบัติอย่างยุติธรรม


โดยสรุป แม้ว่าจีนจะมีการส่งออกรถไฟ Made in China ไปลุยตลาดโลกและมีประสบการณ์ในการออกไปลงทุนก่อสร้างรถไฟจีนในหลายประเทศ แต่ก็ต้องเกาะติดและเฝ้าดูพัฒนาการในเรื่องนี้ของจีนกันต่อไปเพราะย่อมจะมีนัยต่อโครงการรถไฟไทย-จีนที่กำลังร้อนแรงขณะนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ