“ภาษีที่ดิน”ได้มากกว่าเสีย

“ภาษีที่ดิน”ได้มากกว่าเสีย

สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีคลังและกระทรวงการคลัง เดินหน้าเต็มสูบต่อการผลักดัน ร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เพื่อให้ผ่านการพิจารณาในรัฐบาลชุดนี้ ท่านบอกกับนักข่าวในพื้นที่ว่า ถ้าผมจะไม่ผลักดันเรื่องนี้ ก็หมายความว่า ผมไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้แล้ว โดยเขาถือเป็นจังหวะที่ควรดำเนินการ เพราะเป็นรัฐบาลที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคะแนนนิยมจากประชาชน หากเห็นว่า เป็นนโยบายที่จำเป็นก็ควรต้องรีบผลักดัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลากว่าสิบปี หลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพยายามผลักดัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

หลายฝ่ายเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว แต่อีกหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย ซึ่งในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้น รัฐมนตรีคลังท่านว่า เป็นฝ่ายที่ ไม่รักชาติ เพราะภาษีที่จะจัดเก็บนั้น ไม่ได้แพงและสูงกว่าอัตราการจัดเก็บในปัจจุบัน ตัวท่านเองก็เปิดใจที่จะรับฟังความคิดเห็น แสดงให้เห็นจากการออกมาโยนหินถามทางถึงแนวทางจัดเก็บหลายต่อหลายครั้ง เพื่อปรับปรุงให้เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ แต่ผลที่เกิดขึ้นกลายเป็นความสับสน กระทั่งนายกรัฐมนตรีสั่งให้ชะลอ ตามด้วยแนวคิดจากทีมศึกษาในลักษณะที่ว่า จะเก็บภาษีเฉพาะที่ดิน ส่วนสิ่งปลูกสร้างนั้น จะได้รับการยกเว้น เพื่อลดกระแสต่อต้าน

อันที่จริงแล้ว ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายภาษีดังกล่าว ทราบดีว่า ร่างกฎหมายภาษีนี้ ไม่ได้ถือเป็นร่างกฎหมายใหม่ซะทีเดียว เพียงแต่นำมาปรับปรุง เพื่อทดแทนกฎหมายจำนวน 2 ฉบับเดิมที่ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บ และ จะถูกยกเลิกไปเมื่อกฎหมายใหม่นี้มีผลบังคับใช้ คือ 1. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และ 2. ภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังยืนยันว่า ร่างภาษีที่ดินฯฉบับใหม่นี้ จะไม่สร้างภาระแก่ประชาชนจนเกินกว่าภาระที่ควรจะเสียในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้น้อย เช่น กลุ่มเกษตรกรที่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมถึง ผู้ที่ถือครองที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย โดยจะมีเกณฑ์ในการยกเว้น เช่น มูลค่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และ มูลค่าบ้านและที่ดินราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนที่เกินกว่านั้น จะคิดภาษีในอัตราต่ำหรือไม่เกิน 0.1% จากเพดานสูงสุด 0.5% ของราคาประเมินสำหรับที่อยู่อาศัย และ 0.05% จากเพดานสูงสุด 0.25% ของราคาประเมินสำหรับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส่วนกลุ่มที่ดินเพื่อการพาณิชย์และที่ดินรกร้างว่างเปล่า อยู่ในข่ายที่ควรจัดเก็บอย่างเหมาะสมกับทรัพย์สินที่ครอบครอง แต่ไม่เกิน2% ของราคาประเมิน

ประเด็นสำคัญที่ควรตระหนักและยอมรับร่างกฎหมายภาษีนี้ คือ ฐานะการคลังของประเทศเรามีโอกาสที่เรียกได้ว่า “ถังแตก” เพราะการใช้จ่ายที่ฟุ้งเฟ้อจากนโยบายประชานิยมในระยะที่ผ่านมา ทำให้เกิดภาระหนี้สินที่ต้องชดใช้หลายแสนล้านบาท โดยเฉพาะจากนโยบายจำนำข้าว ขณะเดียวกัน รัฐบาลที่ผ่านมาและจนถึงรัฐบาลชุดนี้ ก็ยังคงทำนโยบายขาดดุลต่อเนื่อง เพื่อกู้เงินมาใช้ดูแลเศรษฐกิจในแต่ละปี รวมถึง การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอีกกว่า 2.5 แสนล้านบาทในแต่ละปีตลอดระยะเวลา 8 ปี นับจากปีนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ไทยติดอันดับประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีต่ำและทยอยลดลงต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 20.6% ของจีดีพี ขณะที่ ค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ 40.1% ของจีดีพีและค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ที่24.5% ของจีดีพี เมื่อประเทศเรามีภาระหนี้รอการชำระทั้งในปัจจุบันและอนาคตอยู่มาก แม้ระดับหนี้ต่อจีดีพียังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่ก็ไม่ควรประมาท ที่จะสร้างฐานรายได้เพิ่ม

นอกจากนี้ การเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินจากกฎหมายภาษีที่ดินฯดังกล่าวนี้ ยังช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยคนที่มีทรัพย์สินมาก และได้ประโยชน์จากการบริการสาธารณะของภาครัฐมาก ก็ควรที่จะเสียภาษีมาก อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน เมื่อท้องถิ่นนำรายได้ภาษีดังกล่าวไปพัฒนาทรัพย์สินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่างๆก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมากกว่าภาษีที่เสียไป 

ดังนั้น ถือได้ว่า ผู้เสียภาษีจะได้รับประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่าภาษีที่เสียไป เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เราควรลดกระแสต่อต้านและหันมาสนับสนุน ให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณากันดีกว่าค่ะ