ประชาชนเป็นใหญ่..ทำไมไม่ชอบ

ประชาชนเป็นใหญ่..ทำไมไม่ชอบ

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ข้อถกเถียงที่ว่าด้วยเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

 ในระบบ บัญชีรายชื่อ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้ใช้ ระบบโอเพ่นลิสต์ คือนอกจากประชาชนจะลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบแล้ว จะต้องลงคะแนนเลือกบุคคลที่แต่ละพรรคเสนอมา เพื่อจัดลำดับส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งต่างจากเดิมที่ให้พรรคการเมืองจัดลำดับมาเสร็จสรรพแล้วนำมาให้ประชาชนเลือก

แน่นอน, ถ้าใครติดตามปัญหาการเมืองมาตลอด จะรู้ดีว่านี่คือ การแก้ปัญหาทางการเมืองอีกมิติหนึ่งในหลายมิติ

ที่ผ่านมา เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า เจตนารมณ์ที่ให้มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเริ่มครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2540 คือ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีความเหมาะสม แต่ไม่ถนัดงานในพื้นที่ ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานพรรค

แต่เอาเข้าจริง พรรคการเมืองทั้งหลายกลับใช้ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไปประเคนให้กับ นายทุน” ที่ต้องการเป็น รัฐมนตรี หรือ เข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง ทางลัด และที่เห็นได้ชัดอีกอย่าง คือ ใช้เป็นทางออกในการแก้ปัญหาผู้สมัครที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน ต้องการลงสมัครส.ส.เขตทับซ้อนกับผู้สมัครส.ส.เดิม จึงมักเห็นหลายครั้งที่ผู้สมัครส.ส.เดิมถูกดันมาลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อ

และถ้าผู้สมัครส.ส.คนใดไม่มี บารมีภายในพรรคมากพอ ต่อให้ในพื้นที่คุณคือ เทวดาของประชาชน ก็จะต้องไปต่อคิวอยู่แถวล่างสุด ซึ่งอาจไม่ได้เป็น ส.ส.

ส่วนใหญ่ คนที่มักมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน จะเป็น แกนนำมวลชน ที่ช่วยเคลื่อนไหวสนับสนุนพรรค บุคคลซึ่งเดินเกมการเมือง “ดิสเครดิต พรรคการเมืองตรงข้าม จนเพลี่ยงพล้ำในทางการเมือง เช่น ออกมาแฉปัญหาทุจริต หรือ นำคดีขึ้นสู่ศาล แล้วแต่กรณี จนเป็นที่ประทับใจหัวหน้าพรรค และยิ่งพักหลัง หัวหน้าพรรคการเมือง หรือคนที่มีอิทธิพลเหนือพรรค คือเจ้าของพรรค ด้วยแล้ว ยิ่งใช้ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นเครื่องต่อรองสนุกมือ

แล้วที่สำคัญ คนที่มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมที่จะเป็นรัฐมนตรี ไม่เคยถูกให้ความสำคัญตามเจตนารมณ์ของการมีส.ส.บัญชีรายชื่อ เหนือกว่าคนที่หัวหน้าพรรคเห็นว่า มีคุณูปการต่อพรรค มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนเลยแม้แต่น้อย ไม่เชื่อลองย้อนกลับไปดู

ดังนั้น แทบไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมนักการเมือง พรรคการเมือง ไม่ชอบ

ที่เห็นได้ชัด กรณี สามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตส.ส.เชียงราย เห็นว่า จะทำให้ประชาชนยุ่งยากในการลงคะแนนเสียง เพราะจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคเสนอมีเป็นจำนวนมากซึ่งยากแก่การลงคะแนน

ประเด็นต่อมา จะส่งผลให้เกิดจังหวัดนิยม ซึ่งแต่ละโซนก็มีการแบ่งเป็นหลายจังหวัด ดังนั้นหากมีการใช้ระบบนี้ก็จะส่งผลให้ ส.ส.ต้องมีการแข่งขันกันเองภายในพรรค

นอกจากนี้ ยังคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบเขต เพียงแต่มีระบบที่ใหญ่กว่าเท่านั้น

ขณะที่ วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าระบบนี้ จะเกิดจุดอ่อน คือ 1.ทำให้พรรคอ่อนแอ 2.ในการลงคะแนนอาจส่งผลให้มีบัตรเสียเป็นจำนวนมาก และ 3.เกิดความโกลาหลในการเลือกตั้ง มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กันไปมาและมีจำนวนมาก

นี่คือ การคิดแทนประชาชน! ทั้งที่นักการเมืองนั่นเอง ที่มักพูดเสมอว่า อย่าคิดแทนประชาชน?

แต่ถ้าฟังจากฝ่ายที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การให้มี ส.ส.ระบบดังกล่าวจะเป็นการ คืนอำนาจของประชาชน คือ เมื่อพรรคการเมืองมีการจัดทำรายชื่อเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องมาถามความเห็นจากประชาชน

รายชื่อแต่ละรายชื่อที่พรรคเสนอมาจะมีผลต่อการนับคะแนนทุกคน เท่ากับว่าเป็นการให้อำนาจประชาชนในการจัดลำดับรายชื่อ ไม่ใช่อำนาจจากผู้บริหารพรรค

คำถามก็คือ การให้ประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ดีตรงไหน ทำไมนักการเมือง พรรคการเมืองไม่ชอบ ไม่ต้องการ และคัดค้าน ทั้งที่นักการเมืองมักอ้าง ประชาชน ติดปากแทบจะทุกเรื่อง

ที่สำคัญ คนที่เสมือน เสาไฟฟ้า” ซึ่งบางพรรคเคยส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ประชาชนอาจ “ไม่เอา” เพราะต่อให้พรรคกระแสดีแค่ไหน ชนะท่วมท้นอย่างไร ก็ยังต้องการคนดี มีความสามารถเข้ามาช่วยบริหารบ้านเมือง

ทางที่ดี อาจเป็นนักการเมือง ที่ต้องทบทวนตัวเอง ว่าที่ผ่านมาคือต้นเหตุของความขัดแย้งแตกแยก และปู้ยี่ปู้ยำจนการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไม่ได้ และถึงเวลาที่ประชาชนต้องการมีอำนาจบ้าง ก็จะเป็นไร?