รัฐธรรมนูญ กับการผูกมัดตัวเองล่วงหน้า

รัฐธรรมนูญ กับการผูกมัดตัวเองล่วงหน้า

ทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล (rational choice theory : ต่อไปจะย่อเป็น RC) มีสมมุติฐานว่า โดยปรกติ คนเราจะคิดคำนวณคาดคะเนหาวิธีการ

ที่มีต้นทุนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการอย่างคุ้มค่าที่สุด แต่ก็มีที่บางครั้งหรือหลายครั้งที่คนเราไม่ได้คิดอะไรมาก หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องเล็ก RC จะอธิบายว่าในกรณีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ คนเราไตร่ตรองดูแล้วว่า หากคิดมากจะเสียเวลาคิด ไม่คุ้ม ขณะเดียวกัน RC ก็ชี้ว่า หลายครั้งที่คนเราไม่คิดเพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบรรทัดฐาน ค่านิยม จารีตประเพณี ฯลฯ ที่อาจจะไม่ได้มี “เหตุผล” และไม่ได้ให้ประโยชน์ที่แท้จริงแก่เรา หรือจารีตเหล่านั้นอาจจะเคยให้ประโยชน์แก่ผู้คนในอดีต แต่เมื่อเวลาสถานการณ์เปลี่ยน แต่จารีตยังไม่เปลี่ยน มันก็อาจจะล้าสมัยไปแล้ว ดังนั้น RC จึงอยากชวนให้คนพยายามคิดและใช้เหตุผลก่อนตัดสินใจกระทำการณ์ใดๆ มากกว่าที่จะทำตามความเคยชินหรือทำตามๆ กัน


นอกจากนี้ ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ RC เห็นในตัวคนเราก็คือ อาการใจอ่อนหรือแพ้ใจ (weakness of will) เช่น เราอยากเก็บเงินให้ได้สักก้อนหนึ่งเพื่อจะไปซื้อแพกเกจทัวร์ แต่เก็บไปได้เพียงสองสัปดาห์ก็เกิดอาการแพ้ใจยามเพื่อนชวนไปซื้อของที่ตลาดนัด RC จึงเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาใจอ่อนนี้ด้วยการเสนอสิ่งที่เรียกว่า “การผูกมัดตัวเองไว้ล่วงหน้า” เช่น แทนที่จะนั่งเก็บเงินเอง ก็ไปฝากธนาคารแบบฝากประจำระยะยาว หากถอนก่อนจะถูกตัดดอกเบี้ย คนที่คิดอย่างมีเหตุมีผลว่าตัวอาจจะแพ้ใจได้ ก็จะจัดการ “ผูกมัดตัวเองไว้ล่วงหน้า” นอกจากเรื่องเงินๆ ทองๆ แล้ว การผูกมัดตัวเองล่วงหน้านี้สามารถนำมาใช้ในทางการเมืองได้อีกด้วย นั่นคือ การผูกมัดล่วงหน้าผ่านการสร้างสถาบันหรือกลไกบางอย่างในทางสังคมการเมืองที่หากมองอย่างผิวเผินแล้วดูเหมือนไม่น่ามีเหตุผลสนับสนุนมากนักในระบอบประชาธิปไตย เช่น สถาบันหรือกลไกที่ดูไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าใดนักอย่างเช่น องค์กรอิสระทั้งหลาย รวมทั้งระบบสองสภา (ที่มีวุฒิสภาด้วย แทนที่จะมีแค่สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งสภาเดียว) และธนาคารกลาง


โดยจากมุมมองของความคิดนี้ สถาบันและกลไกเหล่านี้มีความเป็นเหตุเป็นผล และควรมีอยู่ต่อไปได้ เพราะสถาบันเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่ “มีความเป็นเหตุเป็นผล”-หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ในขณะที่ตนเองมีเหตุผลครบถ้วนและสติสัมปชัญญะสมบูรณ์----จะเลือกให้มีไว้เพื่อเป็นการผูกมัดตัวเองไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้ตัวประชาชนเอง----โดยผ่านนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของตนโดยตรง----เผลอใจทำในสิ่งที่จะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อผลประโยชน์ที่สำคัญของตัวเองและของคนทั้งชาติ อย่างเช่น การนำอัตราดอกเบี้ยไปใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง หรือ การออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายที่อาจกลับมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตัวประชาชนเองได้ในที่สุด ถึงแม้สถาบันเหล่านี้อาจถูกก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยเหตุผลอื่น แต่การที่สถาบันดังกล่าวทำหน้าที่ในการผูกมัดตัวประชาชนเองในระดับสังคม (social choice) ไว้ล่วงหน้าเช่นที่ว่านี้ก็เป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่าเหตุใดสถาบันเหล่านี้จึงควรมีอยู่ต่อไป


นักทฤษฎี RC คนสำคัญคือ จอน เอลสเตอร์ ได้ชี้ว่า วิธีคิดเช่นนี้ได้ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ความคิดของบิดาผู้สร้างชาติอเมริกัน หรือผู้วางรากฐานรัฐธรรมนูญการปกครองของสหรัฐอเมริกา อย่างเจมส์ เมดิสัน เช่น ข้อความที่กล่าวว่า ข้อดีของรัฐธรรมนูญอเมริกันคือ “กีดกันไม่ให้ประชาชนในฐานะส่วนรวมเข้ามาใช้อำนาจบริหาร” (the total exclusion of the people in their collective capacity from any share in the government)ซึ่งหากพิจารณากันดีๆ จะเห็นได้ชัดว่า มันก็ไม่ได้แตกต่างอย่างใดจากการตัดสินใจในระดับปัจเจกบุคคลของคนอย่าง นาย ก. ที่ยอมเข้าโครงการหักเงินเดือนลูกจ้างที่สูบบุหรี่เพื่อปกป้องสุขภาพ ซึ่งจัดเป็นผลประโยชน์ระยะยาวที่ดีกว่าแก่ตัวเขา หรือ นาย ข. เข้ารับการรักษาอาการติดยาในโรงพยาบาลและยอมเซ็นเอกสารสละสิทธิ์ที่จะออกจากโรงพยาบาลก่อนที่จะรักษาหายขาด


เอลสเตอร์ ได้เสนอแนวทางในการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้กลายเป็นกลไกที่มีความละเอียดซับซ้อนมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แนวทางนี้เกี่ยวข้องกับการเพิ่มบทบัญญัติเข้าไปในบทบัญญัติเดิมที่มีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ เช่น การป้องกันไม่ให้รัฐบาลสามารถเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง-กฎหมายเลือกตั้งที่ลงลึกไปถึงในรายละเอียดเฉพาะ จำเป็นที่จะต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และเพื่อลดปัญหาการตีความเพื่อหาประโยชน์เข้าตัว เพื่อป้องกันปัญหา ซึ่งผู้เขียนขอยกสักสองตัวอย่าง เพราะเนื้อที่จำกัด ตัวอย่างแรกคือ การป้องกันไม่ให้รัฐบาลเล่นกลกับระบบผู้ลงคะแนนเสียง ดังนั้น จึงควรกำหนดล่วงหน้าไว้ในกฎหมายเลือกตั้ง และให้ลงไปจนถึงรายละเอียดยิบย่อยที่สุดเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญและไม่ปล่อยให้มีการตีความเพื่อประโยชน์ของฝ่ายสภาหรือฝ่ายบริหาร และควรจัดเขตเลือกตั้งใหม่เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรอาจทำโดยใช้สูตรเชิงกลไกแบบใดแบบหนึ่ง หรือมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระก็ได้ ประวัติศาสตร์ของอเมริกันและของฝรั่งเศสเมื่อไม่นานนี้แสดงให้เห็นหลายๆ ตัวอย่างที่รัฐบาลในแต่ละสมัยปรับเปลี่ยนกฎการเลือกตั้งเพื่อให้ตัวเองคงอยู่ในอำนาจต่อไป


ตัวอย่างที่สองคือ หาทางป้องกันไม่ให้รัฐบาล เล่นกลกับข้อมูลเชิงสถิติ ในฐานะเครื่องมือเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้ง โดยกำหนดเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญว่า หน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลควรมอบหมายให้แก่คณะกรรมการสถิติแห่งชาติที่เป็นคณะกรรมการอิสระ เป็นต้น


ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนผู้อ่านมาลองคิดว่า มีอะไรบ้างที่เราควร “ผูกมัดตัวเองไว้ล่วงหน้า” ในการร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้