ความไม่เป็นธรรม และความไม่เสมอภาคคือหัวใจของการปฏิรูป

ความไม่เป็นธรรม และความไม่เสมอภาคคือหัวใจของการปฏิรูป

ช่วงระยะเวลานี้ ได้มีโอกาสพูดคุยกับหลายๆ คน ตั้งแต่ผู้ที่เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ องค์กรอิสระ ภาคเอกชน

และประชาชนคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตไปวันๆ จึงอยากนำเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติที่กำลังพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างได้ยกร่างแรกแล้วเสร็จเมื่อเร็วๆ นี้


กล่าวโดยเฉพาะ ได้มุ่งไปที่ความเสมอภาคไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง และการศึกษา และพบว่าส่วนใหญ่ของคนที่ได้พบปะพูดจาด้วยอย่างไม่เป็นทางการนั้น ได้แสดงความคิดเห็นออกไปในแนวทางที่ใกล้เคียงกันอย่างยิ่งว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศอย่างแท้จริงเลย เพราะปัญหาของประเทศไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ โครงสร้าง หรือปรัชญาความคิด แต่เป็นเรื่องของสังคมที่ไม่เป็นธรรม สังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน สังคมที่ไม่ได้รับการดูแลและปฏิบัติอย่างเสมอภาค และเป็นสังคมที่ไม่มีความต่อเนื่องในการสร้างความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน


ทำไมถึงกล่าวเช่นนี้ ขอยกตัวอย่างในสามกรณีใหญ่ๆ ที่น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กลับมาทบทวนสิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือเรื่องการบริหารจัดการพลังงาน เรื่องการจัดเก็บภาษีเงินได้ และเรื่องการบริหารบ้านเมือง


ในเรื่องของพลังงาน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่วิธี (Method) การบริหารจัดการเพื่อได้รับผลตอบแทนระหว่างแบบสัมปทาน (Concession Method) ซึ่งมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงของรัฐ (The more concession provided, the less risk the government absorbed) กับแบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract Method) ซึ่งมุ่งเน้นสัดส่วนของการแบ่งปันผลประโยชน์ (The higher the output, the higher the revenue sharing) เพราะระบบทั้งสองต่างมีจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ในตัว และหลายประเทศในโลกก็มีการใช้ทั้งสองรูปแบบ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่ารัฐจะเจรจากับคู่สัญญาอย่างไรที่จะทำให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุดและมีความเสี่ยงน้อยสุด ฝ่ายที่ถือข้างสัมปทานไม่ควรตัดสินจากที่เคยปฏิบัติในอดีตและตัวบทกฎหมายที่วางกรอบไว้ สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ เมื่อบริบททางสังคม สภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงโดยยึดหลักผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ส่วนพวกที่ถือข้างแบบแบ่งปันผลผลิต ก็อย่าคิดแต่เพียงว่าประโยชน์ที่ได้จากการทำสัญญาในรูปแบบนี้จะทำให้เกิดสภาพต่างตอบแทนที่เท่าเทียมกันได้โดยอัตโนมัติ ในสภาวะที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นว่านี้ ฝ่ายที่มีเทคโนโลยีการผลิตจะคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ที่รูปแบบของผลประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่ผลผลิต ตัวเงินหรือผลกำไรเท่านั้น แต่มีอีกมากมายหลายอย่างที่ฝ่ายไม่มีเทคโนโลยีไม่สามารถเข้าถึงได้และเป็นความลับทางการค้าหรือทางอุตสาหกรรม ประเด็นจึงเป็นเรื่องความสามารถในการทำข้อตกลงกับคู่สัญญาที่ทำให้ประเทศได้ผลประโยชน์สูงสุด


ในเรื่องการจัดเก็บภาษี ก็เป็นเรื่องที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากไม่ว่าจะเป็นการรื้อฟื้นกฎหมายภาษีมรดกที่เคยใช้ในอดีตกลับมาใช้ใหม่ การปรับปรุงภาษีที่เกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มาจากภาษีโรงเรือนและภาษีอื่นๆ ที่จัดเก็บอย่างกระจัดกระจายหลายหน่วยงานมาอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกันและพยายามกำหนดข้อยกเว้นต่างๆ ที่ทำให้เกิดความลักลั่น ความไม่เสมอภาค ทั้งๆ ที่โดยหลักการแล้วประชาชนทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเหมือนกันหมด หรือแม้แต่เรื่องภาษีเงินได้ที่ยังมีความลักลั่นอย่างมาก อาทิการจัดเก็บภาษีเงินได้จากผู้ที่ได้รับเงินชดเชยจากการออกจากงานที่ทำไม่ถึงห้าปีจะต้องนำมาคำนวณเป็นเงินได้ภาษีประจำปีนั้นทั้งหมดในอัตราภาษีก้าวหน้าทำให้เสียภาษีสูง ในขณะที่ผู้ที่ทำงานครบห้าปีขึ้นไปได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำค่าชดเชยมารวมในการคำนวณเงินได้ประจำปี จึงทำให้เงินได้ที่จะต้องนำมาคำนวณเสียภาษีเหลือน้อยลงทั้งๆ ที่ผู้ที่ออกจากงานที่ทำงานนานกว่าห้าปีย่อมได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายมากกว่าผู้ที่ทำงานไม่เกินห้าปี ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่กฎหมายกำหนดให้แตกต่างกันถึงขนาดนี้


ส่วนเรื่องการบริหารจัดการบ้านเมืองก็เช่นเดียวกัน รัฐได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการบ้านเมืองตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องการตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแบบ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งทับซ้อนกับการบริหารจัดการในรูปแบบปกติที่มีการบริหารจัดการแบบส่วนกลาง ที่มีแขนขาไปทำงานในภูมิภาคหรือที่เรียกว่าส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นที่มีอิสระในการบริหารจัดการในเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเองในรูปเทศบาล (และสุขาภิบาลในอดีต) รูปแบบการบริหารจัดการที่เปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างใหม่เหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดความเสมอภาคในการรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะแต่ละองค์การหรือหน่วยงานก็จะยึดโยงอยู่กับกฎหมายที่ให้อำนาจในการบริหารจัดการตัวเองเป็นหลักจนกระทั่งขาดความตระหนักว่าแท้ที่จริงแล้ว หัวใจก็คือทำอย่างไรให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมีความสุข จากบริการที่เสมอภาคและความเท่าเทียมกัน


ประเทศไทยปัจจุบันกำลังกลายเป็นรัฐที่พยายามกำหนดกรอบการใช้ชีวิตของประชาชนให้อยู่ในกรอบของกฎหมายทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติอย่างมาก กรอบกำหนดเหล่านี้เป็นเพียงกฎกติกาที่มีความเหมาะสมในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อสภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป กฎกติกาเหล่านี้ก็จะต้องถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่า และความวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดขึ้นก็มักจะมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงกรอบกติกา เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง เพราะการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้ไม่เห็นด้วยเสมอ


ธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การปรับปรุงตัวบทกฎหมายโดยตัวของมันเองไม่ทำให้ประชาชนเกิดความสุขอย่างถ้วนหน้า แต่การสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนในสังคมจะเป็นการสร้างสังคมให้เกิดความสุขที่มั่นคงและยืนยาวมากกว่า และรัฐจะต้องตระหนักว่าไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือการบริหารจัดการอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องด้วยทั้งหมด การที่มีผู้ไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ อย่านำรูปแบบที่ไม่มีความยืดหยุ่นมาใช้กับประชาชน แต่ควรหันมามองว่าอะไรที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และนั่นหมายถึงความเสมอภาค เท่าเทียมกัน และไม่เป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำหรือมีช่องว่างระหว่างกันมากเกินไปนั่นเอง