เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปาไทยในประเทศจีน

เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปาไทยในประเทศจีน

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าผลของการพัฒนาเศรษฐกิจจีนทำให้เกิดชนชั้นกลางคนรุ่นใหม่และเศรษฐีเป็นจำนวนมาก

และคนเหล่านี้มีวิถีชีวิตทันสมัย มีรสนิยมดี ตลอดจนให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าและมีความใส่ใจสุขภาพ ความสวย ความหล่อ ดังนั้น การมีรายได้ดีและฐานะดีจึงทำให้บุคคลกลุ่มนี้สนใจเครื่องสำอางบำรุงผิว ดูแลสุขภาพ ให้คงความเป็นหนุ่มเป็นสาว ความสวยความงาม ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สปาและเครื่องสำอางครอบคลุมตั้งแต่การดูแลและบำรุงตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า


เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปาจึงตอบโจทย์ได้อย่างถูกต้องต่อกลุ่มบุคคลซึ่งมีกำลังซื้อ แต่กำลังแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่ใช่และถูกกับรสนิยมของผู้บริโภคชาวจีนยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นสบู่อะไรก็ได้ที่ทำความสะอาดร่างกายได้หรือแชมพูยี่ห้ออะไรก็ได้ที่สระผมได้สะอาด แต่ต้องการสบู่ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทำความสะอาดร่างกายแต่ต้องมีกลิ่นหอมประทับใจ หรือจะต้องไม่ใช่เป็นแชมพูยี่ห้ออะไรก็ได้ แต่จะต้องมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อเส้นผมและหนังศีรษะและกลิ่นหอมถูกใจ ยกตัวอย่างเช่น แชมพูดอกอัญชันของไทยที่สระผมได้สะอาดและยังมีสรรพคุณในการบำรุงเส้นผมให้แข็งแรง ดกดำ อีกด้วย


ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า กลุ่มผู้บริโภคชาวจีนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 22-35 ปี เป็นกลุ่มที่กำลังทำงานและมีกำลังซื้อ จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญที่มีรสนิยมที่ทันสมัย สนใจผลิตภัณฑ์ที่ดูแลสุขภาพและเสริมความงาม ตลอดจนมีผลดีต่อร่างกาย ฉะนั้น ในเรื่องนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย


ข้อมูลที่น่าสนใจในประเทศจีนระบุว่า กลุ่มเป้าหมายที่นิยมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปามิได้เป็นเฉพาะกลุ่มผู้หญิงเท่านั้น ในปัจจุบันกลุ่มผู้ชายอายุระหว่าง 22-35 ปี ก็ใส่ใจในความหล่อและความสะอาดส่วนบุคคลมากขึ้น และให้ความสำคัญกับสบู่อาบน้ำ แชมพูสระผม โฟมล้างหน้า ครีมโกนหนวด และเจลตกแต่งทรงผมมากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


ผลิตภัณฑ์สปาของไทยเป็นที่นิยมในประเทศจีนเริ่มตั้งแต่น้ำมันนวดกลิ่นต่างๆ น้ำมันหอมระเหย สครับขัดผิวพรรณให้นุ่มเนียน สบู่แกะสลักลวดลายที่มีรูปทรงผลไม้และมีกลิ่นหอมธรรมชาติ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เทียนหอมรูปทรงและกลิ่นต่างๆ ก็เป็นที่นิยมในประเทศจีนอย่างเห็นได้ชัด แต่ผลิตภัณฑ์ของไทยเหล่านี้ต้องใส่สีและกลิ่นธรรมชาติเท่านั้นจึงจะได้รับความไว้วางใจและถูกใจผู้บริโภคชาวจีน ในปัจจุบันมีธุรกิจสปาเกิดขึ้นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และส่วนใหญ่ของธุรกิจเหล่านี้ก็ซื้อผลิตภัณฑ์สปาจากประเทศไทยบริการลูกค้า เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด พร้อมทั้งปรับสมดุลให้แก่ร่างกาย รวมทั้งยังตกแต่งบรรยากาศแบบสปาไทยอีกด้วย


กระแสนิยมไทยในประเทศจีนมีอย่างเห็นได้ชัด โดยละครไทย ภาพยนตร์ไทย ดาราไทย เพลงไทย อาหารไทย และมวยไทย ได้รับความนิยมอย่างมากก็เป็นสิ่งพิสูจน์ให้เห็นชัดเจน ชาวจีนจึงนิยมชมชอบประเทศไทยและมาท่องเที่ยวประเทศไทย รับประทานอาหารไทย ซื้อสินค้าไทย ทดลองสปา และนวดแผนไทยอีกด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นระดับพรีเมียม


สินค้าไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในตลาดจีนในแง่คุณภาพดี เชื่อถือได้ ราคาย่อมเยา มีบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย และใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติปลอดสารเคมี ตลอดจนการออกแบบผลิตภัณฑ์ก็ทำได้สวยงามน่าซื้อและน่าใช้ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์สินค้าไทยยังมีความหลากหลายชนิด โดยแต่ละชนิดก็มีเอกลักษณ์ เพราะอัตลักษณ์ความเป็นไทยและภูมิปัญญาไทยที่สร้างความแตกต่างจากสินค้าของประเทศอื่นที่เน้นความทันสมัยเท่านั้น ดังนั้น จึงช่วยเสริมเสน่ห์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของไทยให้มีความโดดเด่น และต่างจากสินค้าประเภทเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปาจากประเทศอื่นๆ โดยถือว่าผู้ประกอบการไทยตั้งใจที่จะให้ลูกค้านำเอาวัฒนธรรมไทยของเรากลับบ้านไปด้วย ถือเป็น Signature of Thailand


โดยในปี 2557 อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยมีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจกว่า 2.1 แสนล้านบาท เป็นตลาดภายในประเทศ 1.2 แสนล้านบาท และตลาดส่งออกกว่า 9 หมื่นล้านบาท โดยในประเทศไทยครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในอาเซียน 40 %


หญิงไทยรักสวยรักงาม มีความละเอียดอ่อนในการดูแลและใส่ใจความสวยและความดูดี ดังสุภาษิตไทยที่ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” ขณะที่ชาวจีนก็มีสุภาษิตที่ว่า “30 ลิขิตฟ้า 70 ต้องแต่งเติม” ดังนั้น จากสุภาษิตที่ว่านี้ จึงถือเป็นจุดแข็งของไทย และเมื่อผู้ประกอบการไทยเสริมหรือเติมเอกลักษณ์ไทยเข้าไปในผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา ก็จะเป็นจุดขายได้ดีมากกว่าผลิตภัณฑ์สปาประเภทเดียวกันของประเทศอื่นที่ไม่มีจุดขายเรื่อง ภูมิปัญญาชาวบ้าน สารสกัดจากธรรมชาติ และสมุนไพรไทย


ประเทศไทยเรามีข้าวเป็นผลผลิตด้านการเกษตรที่ส่งออกไปประเทศต่างๆ และในปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก็อยู่ในระหว่างการทำวิจัยที่จะใช้ข้าว (ต้นน้ำ) และกล้วยไม้ (หวายพันธุ์ม่วงแดง) ให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยการผลิตสารสกัดจากข้าวและกล้วยไม้เป็นเครื่องสำอาง (ปลายน้ำ) เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับสินค้าไทยอีกด้วย


เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปาของไทยจะต้องมีคุณภาพดี ได้รับเครื่องหมาย อย. เป็นเครื่อง ค้ำประกันความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ก็จะมีจุดขายที่ดีในประเทศจีน แต่ปัญหา คือ เมื่อผู้ประกอบการไทยเรา มีของดี มีคุณภาพ รวมทั้งได้เครื่องหมาย อย. แล้วจะขายในประเทศจีนได้อย่างไร คำตอบ คือ จะต้องทำตามหลักการตลาดข้อที่หนึ่ง ด้วยการทำให้สินค้านี้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคชาวจีนก่อนด้วยการเข้าร่วมงานเทศกาลไทยของสถานกงสุลใหญ่ฯ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงตัวลูกค้าชาวจีน เพื่อให้ทดลองดมกลิ่น ทดลองทาผิว หรือทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ของไทย แม้จะมีปริมาณเพียงเล็กน้อยแต่ก็ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนได้สัมผัสและมีประสบการณ์ตรงว่า ทาผิวแล้วผิวเนียนนุ่มจริง แตกต่างจากก่อนหน้าการทดลองทาอย่างเห็นได้ชัดหรือไม่


ผู้บริโภคชาวจีนกลัวการหลอกลวง แต่เมื่อมีเครื่องหมาย อย. ของไทยแล้วและผู้ประกอบการไทยเชิญชวนให้ทดลองและสามารถเห็นผลได้จริง ชาวจีนจะซื้อเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปาของไทยอย่างแน่นอน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยก็ต้องอดทนและใช้เวลาบ้างจนกว่าผู้บริโภคจะเชื่อใจในคุณภาพและจะเป็นลูกค้า และช่วยแนะนำเพื่อนแบบปากต่อปากต่อไป


การสร้างจุดเด่นให้แก่ผลิตภัณฑ์สปาของไทย คือ ต้องใช้สารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติแบบไทยๆ เช่น ดอกอัญชัน เปลือกมังคุด ตะไคร้ มะกรูด ฯลฯ เพื่อสร้างจุดขายที่สื่อสารถึงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ได้ทันทีที่เห็นเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนจะต้องเน้นปลอดสารเคมีแต่อุดมไปด้วยสรรพคุณของพืชพรรณสมุนไพรไทย และอีกขั้นที่ต้องไม่ลืม คือ ขนาดบรรจุขนาดเล็กเพื่อตอบโจทย์ที่เน้นประหยัดเงินและทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายเพื่อทดลองใช้ก่อน