กสทช.ได้เวลายกเครื่อง(1): ยุ่งเหยิง-อลหม่านวงการวิทยุ-ทีวี

กสทช.ได้เวลายกเครื่อง(1): ยุ่งเหยิง-อลหม่านวงการวิทยุ-ทีวี

พระราชบัญบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง

    วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กำหนดภารกิจสำคัญอันดับแรกของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม(กสทช.) คือการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ที่มีแยกย่อยลงไปอีกหลายแผนแม่บททั้งด้านกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์กับกิจการโทรคมนาคม

เนื่องจากคอลัมน์นี้ส่วนใหญ่เน้นเนื้อหากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จึงยังขอออกความเห็นเฉพาะการทำงานของคณะกรรมกรรกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท.) ที่มีแผนแม่บทกิจกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559 )ที่มีแผนที่สำคัญที่สุดคือแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญานวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิทัล  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในทุกมิติที่มีผลกระทบในวงกว้างมากกว่าเรื่องใดๆ

ส่วนการจัดระเบียบวิทยุชุมชน,โทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีเป็นการทำงาน“ย้อนหลัง”เพื่อใ่ช้อำนาจตามประกาศกสท.ตีกรอบให้สามารถกำกับและดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้นเอง

กสท.ทำงานได้อย่างเยี่ยมยอด,พอสอบผ่านหรือสอบตก ท่านผู้อ่านลองประเมินด้วยตัวเองคงไม่แตกต่างจากผมมากนัก

“เยี่ยมยอด”คงตัดออกไปได้เลย  ผมถือว่าพอสอบผ่านในบางเรื่อง แต่น่าจะสอบตกเป็นส่วนใหญ่เสียมากกว่า เพราะวิทยุชุมชนก็ยังเป็นวิทยุชุมชนที่ได้รับการผ่อนผันเป็นใบอนุญาตชั่วคราว,โทรทัศน์ดาวเทียมก็ยังได้รับใบอนุญาตออกอากาศแบบชั่วคราว 1 ปีและเคเบิลทีวีท้องถิ่นก็เช่นเดียวกัน

“ใบอนุญาตชั่วคราวหรืออายุ 1 ปี”คือรูปแบบการหลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาของกสท. ที่ีคงยังไม่รู้จะสางปัญหาเก่าได้อย่างไร โดยในช่วง 2 ปีแรก อำนาจส่วนใหญ่อยู่ในมือของประธานกสท.คือพ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ที่มีพิื้นฐานส่วนใหญ่ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้า

 ทำให้แนวทางของประกาศกสท.ต่างๆ กลายเป็นประกาศที่ผ่านการคิดแบบเชิงเทคนิคที่แต่ละประกาศจะเชื่อมร้อยกัน  แก้ฉบับนี้ไปกระทบฉบับนั้นพันกันอีรุงตุงนัง มากกว่าวิธีคิดแบบบรอดแคสติ้งที่ควรจะเน้นเชิงเนื้อหาเป็นหลัก เพราะเทคโนโลยี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา  แต่เนื้อหาเป็นสิ่งที่อยู่บนดุลยพินิจเสียมากกว่า

เมื่อผ่านมาปีที่ 3 แล้วเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ทำให้กสท.ได้จังหวะในการจัดระเบียบแบบ“เข้มข้น” กับวิทยุชุมชนที่มีเนื้อหาการเมืองถูกปิด, โทรทัศน์ดาวเทียมถูกเข้ารหัสการรับชมและเคเบิลทีวี ถูกตีตราสังข์ยากจะทำธุรกิจต่อไปได้หากไม่ผ่อนคลายกฏต่างๆลง  เช่น กฏ Must Carry ทีวีดิจิทัล 36 ช่องที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้หากยังไม่ได้ลงทุนเปลี่ยนจากโครงข่ายอะนาล็อกสู่ดิจิทัล ฯลฯ

แต่ดูเหมือนไม่ใช่ทางแก้ปัญหาจริงๆในการจัดระเบียบแบบเข้มข้น ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางธุรกิจและเทคโนโลยี่ ท่ี่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก  กลับยิ่งทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งสามประเภท กำลังอยู่ในภาวะถดถอยและสุ่มเสี่ยงจะค่อยๆล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ

หากจะกล่าวโทษประธานกสท.อย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะสาเหตุที่ทำให้เรื่องราวยุ่งเหยิงอุรุงตุงนัง น่าจะมาจากพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่เป็นกฏหมายหลานของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ออกมาก่อนพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่พ.ศ.2553 ที่เป็นกฏหมายลูกที่ควรจะออกมาก่อน แต่กลับออกมาหลังกกหมายหลาน

แต่ประธานกสท.พ.อ.ดร.นทีมีส่วนอย่างมากที่ทำให้กระบวนการจัดระเบียบ“ยุ่งเหยิง”มากยิ่งขึ้นจากวิธีคิดแบบ“แผงวงจรไฟฟ้า”ที่เป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้าที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิดใดๆ แตกต่างจากวิธีคิดแบบ“คลื่นความถี่”ที่เป็นสื่อนำเนื้อหาที่มีอารมณ์ความรู้สึกไปสู่ผู้รับสารที่เป็นมนุษย์

ขอวิจารณ์ตรงๆ ว่าประธานกสท.พ.อ.ดร.นทีอาจจะดูเหมือนว่าพร้อม“รับฟัง” แต่ดูเหมือนไม่ค่อย“ได้ยิน”ความคิดเห็นจากผู้ประกอบการจริงๆ  ทำให้ผู้ถือใบอนุญาตมักมีความรู้สึกว่าไม่ต้องไปถือจะดีกว่า  เพราะผู้ประกอบการที่เป็นคนดียอมรับกติกาทำถูกต้อง  มักจะต้องเพิ่มภาระและกลายเป็นผู้ร้าย  มากกว่าผู้ประกอบการที่ดื้อรั้นไม่ยอมถือใบอนุญาต ที่มักได้ยินคำพูดทำนองว่ากสท.ไม่สามารถไปกำกับดูแลได้

ส่วนกรรมการกสท.อีก 4 คนที่มีบทบาทเด่นชัดพอสมควรน่าจะแค่ 3 คนคือดร.ธวัชชัย จิตรภาษนันท์,อาจารย์สุภิญญา กลางณรงค์และพลโทดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ส่วนพ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่าแทบจะไม่เคยได้ยินการให้สัมภาษณ์ในงานรับผิดชอบว่าด้านใด

สังคมรับรู้ว่าดร.ธวัชชัยมีความเชี่ยวชาญในเชิงเศรษฐศาสตร์-การเงินเน้นเรื่องการสร้างกติกาให้เกิดการแข่งขันในตลาดเสรี,อาจารย์สุภิญญาชัดเจนตรงไปตรงมาในหลักผลประโยชน์ของผู้บริโภค

ส่วนพลโทดร.พีระพงษ์ที่ีรับผิดชอบในเชิงเนื้อหา ที่บางครั้งอาจจะดูเหมือนออกแนวความมั่นคงตามประสานายทหาร  แต่หากได้ลองฟังคำอธิบายขยายความแล้วรับฟังได้ถึงเจตนาดีของพลโทพีระพงษ์ ที่ต้องการใช้ไม้เรียวตีกรอบบทบาทของสื่อไม่ให้“ทำร้ายสังคม”  เมื่อสื่อยังไม่สามารถกำกับดูแลตัวเอง่ได้ในเชิงเนื้อหาก็จำเป็นต้องมีกฏเกณฑ์ชัดๆให้เดินก่อน

แต่ความยุ่งเหยิงอลหม่านของวิทยุชุมชน,โทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีท้องถิ่นก็ยังไม่เท่ากับ“อนาคตอันยุ่งเหยิง”ของการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรท้ัศน์เป็นระบบดิจิทัลที่ผ่านมาได้ 1 ปี 3 เดือน หลังการประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่องเมื่อวันที่ 27-28 ธ.ค. 2556

ผมขอพูดแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 17 บริษัท 24 ช่องที่ใช้เงินประมูลรวมกันกว่า 50,000 ล้านบาทว่าส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความหวาดหวั่นในอนาคตอันคลุมเคลือของทีวีดิจิทัล ว่าจะเดินต่อไปกันยังไงหรือรอวันล้มหายตายจาก ก่อนใบอนุญาตที่เหลืออีก 14 ปี

กสท.ไม่สามารถให้คำตอบใดๆ ได้เต็มปากเต็มคำในเกือบทุกเรื่องว่าจะทำต่อไปหรือไม่ทำแล้ว, จะช่วยเหลือหรือไม่มีทางช่วยเหลือ, จะแก้ไขอุปสรรคหรือ่แก้ไม่ได้แล้ว ฯลฯ

มิหนำซ้ำเวทีของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่กสท. เคยให้มีตัวแทนของ24ช่องอยู่ในคณะอนุกรรมการ จัดทำแผนการปรับเปลี่ยนระบบการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลที่มีประธานกสท.พ.อ.ดร.นทีเป็นประธานมีประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 เป็นครั้งล่าสุดที่ไม่อยากจะให้เป็นครั้งสุดท้าย  แต่หลังจากนั้นไม่เคยมีการเรียกประชุมอีกเลย

ทั้งๆที่มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายในช่วงเริ่มต้นของการออกอากาศทีวีดิจิทัล 24 ช่องที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557  แล้วหลังจากนั้นไม่เคยมีวันใดไม่มีปัญหากับทีวีดิจิทัลอีกเลย  แต่ไม่เคยได้คำตอบจากกสท.แบบชัดๆ  กว่าจะได้มาต้องผ่านการแสดง“วิวาทะ”จนเกิดความแตกแยกไปทั่ววงการทีวีดิจิทัลที่ีอยู่ในสภาพเคว้งคว้างหาที่พึ่งจริงๆไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของประธานกสท.พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ที่เสมือนเป็นสัญญลักษณ์ของ“มิสเตอร์ทีวีดิจิทัล”ที่มีชื่อบนโลกทวิตเตอร์ @DrNateeDigital ที่เคยให้คมั่ำนสัญญาหลายอย่างที่ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโทรทัศน์เชื่อมั่นมากๆ ในการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัล  แย่งกันเข้าไปเคาะประมูลด้วยยอดเงินสูงกว่า 50,000 ล้านบาท

แต่หลังประมูลประธานกสท. กลับตัดสินใจทำหลายอย่างที่แตกต่างจากที่สัญญาไว้ หรืออยู่ในอาการอ้ำอึ้งในหลายเรื่องที่ควรจะช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอย่างแข็งขัน จนเกิดคำถามถึงอนาคตของทีวีดิจิทัลว่าอาจจะต้องล้มหายตายจากไปต่อหน้าต่อตาในอีกไม่ช้านี้

อายุของกสทช.ผ่านมามากกว่าครึ่งเทอมแล้ว นับจากพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ปี 2553 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2553แล้วสรรหากสทช.มีผลตั้งแต่ต้นเดือนต.ค.2554 มีการเลือกประธานกสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ทำหน้าที่มาเกินกว่าครึ่งเทอมแล้ว

 ก่อนจะถูกปรับเปลี่ยนไปอยู่ในโครงสร้างใหม่ของคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล  ยังมีเวลาทำงานอีกประมาณ 2 ปี 6 เดือนน่าจะถึงเวลา“ยกเครื่อง”ตำแหน่งต่างๆใหม่  แล้วน่าจะลองให้กรรมการกสทช.ที่ยังไม่เคยทำหน้าที่ประธานกสทช., ประธานกทค.และประธานกสท.ทำหน้าที่“ประธาน”ทั้งชุดใหญ่ชุดเล็กในช่วงที่เหลืออยู่สะสางปัญหาอันยุ่งเหยิงในวงการโทรคมนาคม โดยเฉพาะวิทยุ-โทรทัศน์ยุ่งเหยิงกว่าหลายเท่าเพื่อก้าวเดินต่อไป วัดจากศักดิ์ศรีแล้วกรรมการกสทช. 11 คนมีสถานะเท่ากันจากการสรรหาจากแต่ละช่องทาง