เกษตรพันธสัญญาในรูปแบบสหกรณ์ : ทางเลือกเพื่อเกษตรกรรายย่อย

เกษตรพันธสัญญาในรูปแบบสหกรณ์ : ทางเลือกเพื่อเกษตรกรรายย่อย

เกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เป็นระบบการผลิตทางการเกษตรที่มีการจัดการร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการหรือบริษัทผู้รับซื้อผลผลิต

กับผู้ผลิตหรือเกษตรกร ซึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน และ แรงงาน เป็นต้น ขณะที่บริษัทผู้รับซื้อผลผลิตจะให้การสนับสนุนเรื่องของทุน พันธุ์พืช/สัตว์ และเป็นที่ปรึกษาในด้านการผลิตรวมทั้งเทคโนโลยีการผลิตโดยที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงทำสัญญาระหว่างกันเกี่ยวกับ ราคา ปริมาณ และคุณภาพของผลผลิต รวมทั้งช่วงเวลาที่จะรับซื้อไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการผลิตเกิดขึ้น


ระบบการผลิตแบบเกษตรพันธสัญญา เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งเกษตรกรและบริษัทเอกชน โดยบริษัทฯสามารถขยายกำลังการผลิตในปริมาณมาก โดยมิต้องลงทุนในสินทรัพย์ถาวรประเภทที่ดินและโรงเรือนเอง ทั้งยังได้รับสินค้าตามมาตรฐานที่ต้องการผ่านการควบคุมคุณภาพและปัจจัยการผลิต ส่วนเกษตรกรก็ได้ประโยชน์จากการเข้าสู่อาชีพโดยใช้เงินทุนต่ำ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและได้รับวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และมีตลาดรองรับจากระบบการประกันราคารับซื้อที่แน่นอน นำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรที่เป็นระบบ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ


จากงานศึกษาของผู้เขียน พบว่าเกษตรกรและบริษัทเอกชนที่อยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญาก็มีความแตกต่าง มีทั้งเกษตรกรรายย่อยที่มีเงินลงทุนหลักแสนบาท จนกระทั่งรายใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนหลายสิบล้านบาท ส่วนบริษัทฯก็มีตั้งแต่บริษัทขนาดเล็กเป็นธุรกิจไม่ครบวงจร และจำหน่ายสินค้าในประเทศเป็นหลัก ไปจนกระทั่งบริษัทขนาดใหญ่มีธุรกิจแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และมีเครือข่ายธุรกิจทั่วประเทศ มีการผลิตขนาดใหญ่เพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ


ข้อเท็จจริงที่พบก็คือ เกษตรกร รายย่อยจะมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุน และไม่สามารถลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้เงินทุนสูงได้ จึงไม่สามารถผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นคู่สัญญากับบริษัทใหญ่ที่มีมาตรฐานสูง ในเรื่องระบบการเลี้ยงและการจัดการฟาร์ม ดังนั้น เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้มักเลือกทำเกษตรพันธสัญญากับบริษัทเล็กที่มีความยืดหยุ่นและไม่เข้มงวดในเงื่อนไขต่างๆ มากนัก ส่วนเกษตรกรรายใหญ่ที่มีเงินทุนเพียงพอ/เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดี ก็สามารถลงทุนในระบบการเลี้ยงที่ทันสมัยได้ ทำให้สามารถเลือกบริษัทเอกชนที่จะมาเป็นคู่สัญญาได้ เพราะการมีเงินทุนและสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ได้ครบถ้วน เกษตรกรรายใหญ่จึงมีข้อได้เปรียบที่จะเลือกคู่สัญญาได้ตามที่ตนต้องการ และมักเลือกบริษัทใหญ่เป็นคู่สัญญา


จากความแตกต่างของผู้เล่นในอุตสาหกรรมและคู่สัญญาดังกล่าวข้างต้น นำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า เกษตรกรรายใหญ่ที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ จะได้เปรียบในเรื่องต้นทุนต่ำจากการผลิตในปริมาณมากแล้วทำให้ต้นทุนต่อหน่วย ต่ำลง หรือที่เรียกว่า การประหยัดจากขนาด (Economy of scale) ขณะเดียวกันก็ได้ผลผลิตที่มีมาตรฐาน กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา ส่วนเกษตรกรรายย่อยมักมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยและอัตราการสูญเสียในกระบวนการผลิตสูงกว่ากลุ่มแรก หากมีการบริหารจัดการที่ไม่ดีพอก็อาจประสบผลขาดทุนและมีหนี้สินตามมา


“รวมกลุ่มเกษตรกร” ....ทางออกของรายย่อย


จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นว่าเกษตรกรรายใหญ่กับบริษัทเอกชนรายใหญ่ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากสามารถทำธุรกิจเติบโตไปด้วยกันได้และมีปัญหาไม่มาก ส่วนเกษตรกรรายย่อยนั้นน่าจะต้องการแนวทางช่วยเหลือ ซึ่งผู้เขียนสนับสนุนแนวทาง “การรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์” เข้ามาช่วยสร้างจุดแข็งและลดจุดอ่อนของเกษตรกรรายย่อยในการทำธุรกิจเกษตรพันธสัญญา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการทำเกษตรพันธสัญญา ทั้งเรื่องเงินทุนหรือเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานแล้ว ยังจะได้รับประโยชน์ จากการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์อีกด้วย อาทิ การประหยัดจากขนาด การแบ่งงานกันทำและเกิดความชำนาญเฉพาะด้านขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน รวมทั้ง การรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์จะได้ประโยชน์จากการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และประการสำคัญคือช่วยแก้ปัญหาในเรื่องเงินทุน โดยการระดมทุนและการกู้ยืมจะทำได้ง่ายขึ้น


ในปัจจุบันแม้จะมีตัวอย่างการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์เพื่อทำธุรกิจเกษตรพันธสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นบ้างแล้วแต่ยังไม่แพร่หลายนัก เช่น โครงการหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร สันกำแพง จ.เชียงใหม่, โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จ.เพชรบุรี, โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย จ.เพชรบุรี, สหกรณ์การเกษตรหนองพลับ จำกัด จ.เพชรบุรี, โครงการตามพระราชประสงค์กลัดหลวง จ.เพชรบุรี, โครงการหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าละอู-ป่าเด็ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในผืนดินพระราชทาน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเทคนิค วิชาการ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านการตลาด โดยธุรกรรมที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงไก่ไข่ในแต่ละปีมีมูลค่ารวมกว่า 50 ล้านบาท เป็นผลกำไรสุทธิปีละประมาณ 10% หรือ อาจกล่าวได้ว่าสหกรณ์สามารถสร้างผลกำไรให้ตนเองได้ถึงปีละ 5 ล้านบาท


จึึงนับเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ของ “การรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์” ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้ได้ประโยชน์จากการทำการผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญาได้ ซึ่งภาครัฐควรจะให้การสนับสนุนหลังจากทำการส่งเสริมระบบสหกรณ์ในบ้านเราให้เข้มแข็งแล้ว หรือในอีกมุมหนึ่งนั้น การทำเกษตรพันธสัญญาในรูปแบบนี้ จะช่วยสนับสนุนให้สหกรณ์ไทยเข้มแข็งขึ้นอีกทางหนึ่งก็เป็นได้