ว่าด้วยเรื่องการแต่งตั้งคนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดช่วยปฏิบ

ว่าด้วยเรื่องการแต่งตั้งคนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดช่วยปฏิบ

ข่าวคราวที่ปรากฏในสื่อเกี่ยวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางคนที่แต่งตั้งบุคคลในครอบครัว

หรือญาติสนิทคนใกล้ชิดเป็นผู้ช่วยในการทำหน้าที่ในสภาดูจะเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวขานกันพอสมควร เพราะแม้ว่านายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีได้ออกมากล่าวในลักษณะที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือบทบัญญัติใดๆ แต่ก็ยังเป็นที่กังขา จึงไม่ควรเป็นเรื่องที่สังคมเพิกเฉย


ทั้งนี้ เนื่องจากทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญและออกกฎหมายในลักษณะที่เป็นการปฏิรูปทุกๆ ด้านของประเทศ ดังนั้น พฤติกรรมของสมาชิกสภาทั้งสองจึงเป็นสิ่งที่ถูกจับตาว่าบุคคลที่ทำหน้าที่ปฏิรูปสังคมแต่กลับไม่ได้ปฏิรูปตัวเอง และอาจนำมาซึ่งความไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่สภากำลังพิจารณาปฏิรูปกันอยู่ จึงเป็นประเด็นด้านจริยธรรมที่สำคัญว่า ลักษณะของพฤติกรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่สังคมแห่งการปฏิรูปควรยอมรับหรือไม่ และระดับของการยอมรับถึงความถูกต้องชอบธรรมทางจริยธรรมจรรยาบรรณ ควรจะเป็นเช่นไร


ในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา แม้ไม่มีการกำหนดความเหมาะสมถึงสิ่งที่ควรหรือไม่ควรปฏิบัติของนักการเมืองและผู้ทำหน้าที่ในรัฐสภาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็มีบรรทัดฐานทางด้านจริยธรรมจรรยาบรรณที่เป็นที่ยอมรับกันในสังคมของนักการเมืองเรียกว่า อินเทกริตตี้ (Integrity) ในภาษาไทยยังไม่มีคำแปลที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป บางครั้งใช้ในความหมายของความซื่อสัตย์สุจริต บางครั้งใช้ในความหมายของความซื่อตรง ซึ่งก็ไม่มั่นใจว่าเป็นคำที่มีความหมายตรงตามภาษาอังกฤษหรือไม่ แต่ที่น่าจะมีความหมายมากกว่าเพราะครอบคลุมในพฤติกรรมความเหมาะสมของนักการเมืองที่ทำหน้าที่ในสภา น่าจะอยู่ในความหมายว่า “รู้อะไรควรไม่ควร”


คำว่า “รู้อะไรควรไม่ควร” จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นการกระทำผิดหรือขัดต่อกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่ผู้ทำหน้าที่ในรัฐสภาจะต้องวางตัวอย่างเหมาะสมในฐานะบุคคลสาธารณะ ไม่แสดงพฤติกรรมที่ขัดต่อความรู้สึกของประชาชนโดยทั่วไป หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเทียบเคียงกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยก็คือ ไม่ใช่แค่ตามที่วิญญูชนพึงปฏิบัติเท่านั้น แต่ต้องเป็นระดับที่ผู้ที่อยู่ในวิชาชีพควรจะรู้และเข้าใจมากกว่าวิญญูชนโดยทั่วไป


ปรากฏการณ์สำคัญที่ทำให้คำว่า “อินเทกริตตี้” (Integrity) ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดในสหรัฐ คือกรณีที่เป็นพฤติกรรมของประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐ (House Speaker) คือนายจิม ไวท์ (Jim White) ที่ต้องถึงกับลาออกจากการเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร (House of Representative) เลยทีเดียว โดยที่เขาถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่เขานำเงินที่ได้จากการขายหนังสือที่เขาเป็นผู้เขียน และประกาศว่าจะนำเอารายได้เข้าพรรคเดโมเครตที่เขาเป็นสมาชิกพรรค แต่กลับนำเงินเหล่านั้นไปใช้ในการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งของเขาเอง


พฤติกรรมของนายไวท์ ถือไม่ได้ว่ามีการกระทำผิดในบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดๆ จึงแน่นอนว่าไม่ถูกกล่าวหาในทางกฎหมาย แต่สังคมมองว่า เขาเป็นถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งโดยลำดับของการเป็นผู้นำประเทศ เป็นบุคคลที่มีความสำคัญในอันดับสามจากสี่อันดับ ตั้งแต่ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ นั่นหมายความว่า หากประเทศอยู่ในภาวะที่ประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เขาจะต้องดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศแทนโดยทันที


นายไวท์ ถูกโจมตีในสภาอย่างมากจากพรรครีพับลิกัน โดยเฉพาะนาย นิวท์ กิงริทช์ (Newt Gingritch) ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาในขณะนั้น การโจมตีเรื่องที่นายไวท์ไม่สมควรกระทำ เป็นเรื่องที่รับไม่ได้สำหรับบุคคลในระดับนี้ เพราะเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นคนของประชาชน เป็นผู้แทนปวงชนทั้งประเทศ เป็นเรื่องที่กระทำในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะในระดับนี้แล้วต้องรู้ว่า “อะไรควรไม่ควร” มากกว่าประชาชนทั่วไป ในที่สุด นายไวท์จึงประกาศลาออกจากประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาด้วย พร้อมกับกล่าวขอโทษประชาชน และขอคืนอำนาจให้กับประชาชน


เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์อย่างดีถึงระดับความรับผิดชอบหรือจริยธรรมจรรยาบรรณของผู้ที่ดำรงตำแหน่งในทางการเมืองในสหรัฐว่าเมื่อได้รับความไว้วางใจถึงขนาดนี้แล้ว ก็จะต้องรักษาไว้ซึ่งจริยธรรมจรรยาบรรณในระดับสูงมากกว่าวิญญูชนคนธรรมดาโดยทั่วไป จะต้องรู้อะไรควรไม่ควร (Integrity) มากกว่าคนธรรมดา และถ้าทำไม่ได้ประชาชนก็มีสิทธิที่จะแสดงความไม่พอใจ และเท่ากับเป็นการสร้างความกดดันที่อยู่นอกเหนือบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เป็นเรื่องความกดดันของสังคมที่ไม่ยอมรับพฤติกรรมเช่นว่านี้


เป็นเรื่องที่น่ากล่าวถึงพร้อมกันนี้ด้วย นั่นคือ ต่อมานายนิวท์ กิงริทช์ ที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร (House Speaker) ในสมัยถัดไป ก็ปรากฏว่านายนิวท์เองก็มีพฤติกรรมที่ขัดต่อหลักอินเทกริตตี้ (Integrity) นั่นคือ นายนิวท์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายได้ถูกกล่าวหาเรื่องการนำรายได้จากการจำหน่ายหนังสือที่ตนเขียนในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยไปใช้ในกิจกรรมส่วนตัว กลายเป็นบูมเมอแรงที่เขาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในและนอกรัฐสภาในฐานะเป็นหัวหอกในการวิพากษ์นายจิม ไวท์ จนต้องลาออก แต่ตนก็กลับมาทำเสียเอง ในที่สุดนายนิวท์ กิงริชท์ ก็ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเช่นเดียวกับนายจิม ไวท์


กลับมาที่พฤติกรรมการแต่งตั้งคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดของสมาชิก สนช.และ สปช.บางคน จึงอาจพิจารณาได้ว่า แม้ไม่ขัดต่อกฎหมายใด แต่การกระทำดังกล่าวทำให้สังคมเกิดความไม่มั่นใจว่าเมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างความใกล้ชิดกับความรู้ความสามารถของผู้ช่วย ซึ่งมีตั้งแต่ระดับที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และเลขานุการส่วนตัว อะไรจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน และที่สำคัญก็คือบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเหล่านี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างผู้มีความรู้ความสามารถและช่วยการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาท่านนั้นจริงหรือไม่ หรือช่วยมากน้อยเพียงใด


พฤติกรรมการแต่งตั้งบุคคลในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเป็นพิเศษ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีภาระต่อประเทศ เพราะเป็นเรื่องที่ใช้งบประมาณรัฐหลายล้านบาท ค่าใช้จ่ายต่อเดือนของคณะผู้ช่วยเหล่านี้มาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาความเหมาะสมในการแต่งตั้งผู้เข้ามาทำหน้าที่ผู้ช่วยทั้งหลาย เพื่อที่จะให้ผู้ทำหน้าที่สมาชิกสภาทั้ง สนช. หรือ สปช. หรือแม้แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสมาชิก ในอนาคต ได้อยู่ในกติกาที่เป็นที่ยอมรับในสังคม ด้วยความสง่างาม พร้อมที่จะให้สังคมตรวจสอบในทุกมิติ ไม่ว่าในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภาหรือในฐานะส่วนตัว