‘ความสุข’กับ ‘ความตาย’ ของนักข่าว

‘ความสุข’กับ ‘ความตาย’ ของนักข่าว

ความทรงจำ “ช็อกโลก” ที่หลายๆ คนยังไม่สามารถลืมเลือนได้คือ กรณีการจับนักข่าวชาวญี่ปุ่น นายเคนจิ โกโตะ เป็นตัวประกัน

เพื่อเรียกร้องเงินก้อนโตจากรัฐบาลญี่ปุ่น อันกลายเป็นโศกนาฏกรรมข้ามชาติที่ผู้คนเฝ้าติดตามการสังหารโหดผ่านยูทูปโดยการกระทำของกลุ่มไอซิส ที่อ้างหลักการทางศาสนาบังหน้าเพื่อการตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟันกับรัฐบาลของประเทศมหาอำนาจ


ภาพความกล้าหาญของนายเคนจิ โกโตะที่ได้ส่งรหัสมอร์สบอกชาวโลกให้ “ทิ้งเค้าไว้ ไม่ต้องช่วยเหลือเขา” ดูจะสอดคล้องกับภาพวีดิโอของเคนจิ โกโตะที่อัดไว้ก่อนเข้าร่วมการรายงานข่าวในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวที่ระบุว่า “การเดินทางเพื่อไปทำงานข่าวในพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นการตัดสินใจของเขาในฐานะนักข่าวคนหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้หากเกิดการสูญเสียใดๆ เกิดขึ้นกับตัวเขา เขาขอรับผิดชอบแต่เพียงเดียว ห้ามมิให้ใครๆ หรือองค์กรใดๆ เอาเหตุการสูญเสียของเขาใช้อ้างในการทำสงครามและความรุนแรงในพื้นที่นี้เด็ดขาด เพราะเขาตระหนักว่า พลเมืองบริสุทธิ์ของซีเรียได้พบกับสูญเสียมามากพอแล้ว”


แน่นอนว่า นายเคนจิ โกโตะไม่ใช่นักข่าวคนแรกที่อาสาเข้าไปหาความจริงแล้วต้องพบกับชะตากรรมอันเศร้าสลดซึ่งต้องแลกมาด้วยชีวิตของตน มีนักข่าวอีกจำนวนมากที่ยอมเสี่ยงชีวิต เพียงเพราะเชื่อมั่นในข้อมูลข่าวและภาพของตนที่ได้จากพื้นที่เกิดเหตุว่า หากถูกตีแผ่ในพื้นที่สื่อ มันจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับโลกใบนี้


จากการรวบรวมข้อมูลของ Committee to Protect Journalists ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อสนับสนุนเสรีภาพการทำงานของบรรดานักข่าวและนักวิชาชีพสื่อมวลชนทั่วโลก ได้ระบุถึงสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยของบรรดานักข่าว โดยติดตามเก็บสถิติชะตากรรมของบรรดานักข่าวที่แลกชีวิตกับการปฏิบัติภารกิจอาชีพนี้ นับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา พบว่า มีนักข่าวเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่รวมทั้งสิ้น 1,119 คน คำนวณเฉลี่ยการสูญเสียต่อปีคิดเป็นปีละ 48 ชีวิต โดยต้นเหตุของการเสียชีวิตกว่าร้อยละ 46 เป็นเหตุจากประเด็นทางการเมือง และอีกร้อยละ 38 มีต้นเหตุมาจากสงคราม ซึ่งก็มีรากฐานความขัดแย้งอันเกิดจากการเมืองอยู่ดีในกลุ่มนักข่าวที่เสียชีวิตดังกล่าวนี้เองเป็นผลงานของกลุ่ม ISIS อยู่กว่า 70 ชีวิต


จากสถิติข้างต้นระบุว่า โดยส่วนใหญ่กว่า 87 เปอร์เซ็นต์เป็นนักข่าวในพื้นที่นั้นๆ และที่เหลือเป็นนักข่าวต่างชาติร้อยละ 13 โดยการตายส่วนใหญ่เกิดจากการฆาตกรรม ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือ หน่วยงานหรือองค์กรต้องสงสัยที่ปฏิบัติการฆาตกรรมนักข่าวเหล่านี้ประกอบไปด้วย กลุ่มการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ส่วนใหญ่มีอาวุธครบมือ โดยผลของการสอบสวนการเสียชีวิตกว่า 87 เปอร์เซ็นต์ไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้หรือไม่ผู้กระทำก็ได้รับการพ้นโทษ ชนิดเรียกได้ว่า ตายเปล่า ปราศจากคนรับผิดชอบ


สำหรับพื้นที่ที่มีนักข่าวเสียชีวิตจำนวนมากติดอันดับต้นๆ ก็เดากันได้ไม่ยาก กล่าวคือมักจะอยู่ในพื้นที่สงครามหรือไม่ก็เป็นอาณาเขตรัฐที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็น อิรัก ซีเรีย ฟิลิปปินส์โซมาเลีย รัสเซีย หรือปากีสถาน เป็นต้น


ทั้งนี้ข้อมูลข้างต้นยังไม่นับรวมชะตากรรมในรูปแบบอื่น ๆ ที่บรรดานักข่าวต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการถูกจองจำ การถูกเนรเทศ หรือการหายตัวไปอย่างลึกลับ ไร้ร่องรอย โดยที่น่าสนใจคือแม้สถิตการเสียชีวิตจะมีค่อนข้างมากและรุนแรง แต่จำนวนคนเสียชีวิตในแต่ละปีก็มีขึ้นมีลงตามสถานการณ์ความรุนแรงของพื้นที่ที่นักข่าวเหล่านั้นเข้าไปปฏิบัติภารกิจ อย่างไรก็ตาม ในสถิติของการจับคุมขังนักข่าวที่เก็บตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปัจจุบันซึ่งมีการจับกุมตัวนักข่าวเข้าห้องขังกว่า 2,233 กรณี กลับพบว่า มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างเป็นลำดับ อันสะท้อนให้เห็นการควบคุมสื่อโดยตัวบทกฎหมายที่รัดกุม แน่นหนา และมีปราการพันธนาการที่มากขึ้น อันดูย้อนแย้งกับพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นของเทคโนโลยีและบริบทโลกในยุคโลกาภิวัตน์


จากการสำรวจที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องเอานักข่าวเข้าคุกเข้าตารางนั้น แม้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีระบอบการเมืองค่อนไปทางเผด็จการไม่ว่าจะเป็น จีน อิหร่าน พม่า หรือเวียดนาม เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเสรีประชาธิปไตยก็มีกรณีของการฟ้องร้องและจับนักข่าวต้องโทษเช่นกัน อย่างกรณีของการทำข่าวสืบสวนสอบสวนโดยนายโรเจอร์ ชูเลอร์ เจ้าของบล็อก “Legal Schnauzer” ที่ทำข่าวเจาะกรณีคอร์รัปชันของนักการเมืองพรรครีพับลิกันในอลาบาม่า จนเป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทแล้วกลายเป็นหนึ่งในกรณีของการจับกุมสื่อของสหรัฐอเมริกา อันเป็นความย้อนแย้งของประเทศที่วางฐานคุณค่าของเสรีภาพในการแสดงออกเป็นข้อแรกของรัฐธรรมนูญของตนเอง


ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยเรา คงหนีไม่พ้นประเทศที่ติดอันดับของการเอานักข่าวเข้าคุกเข้าตารางมาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลพวงของการปรับสร้างตัวบทกฎหมายที่เราเรียกกันย่อๆ อย่างคุ้นเคยว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่ดูจะเป็นบริบทเฉพาะแบบไทย ๆ เหมือนผลิตภัณฑ์โอทอปที่ชาวโลกโจทก์ขานกันถึงความเข้มงวดกวดขันของเจ้าหน้าที่รัฐในการสอดส่องว่าใครผิดสำแดงกันอยู่ในโลกออนไลน์ โดยในทุกปีของวันที่ 5 มีนาคม ถือเป็น “วันนักข่าวแห่งประเทศไทย” ซึ่งปีนี้ต้องบอกว่า มีการเฉลิมฉลองกันแบบเงียบเหงา ศักดิ์ศรีของนักข่าวในการแสวงหาความจริง เพื่อมาตีแผ่ข้อมูลให้กับสังคมไทยดูจะถูกลิดรอน จำกัดขอบเขตให้ดูเป็นแมวเซา เฝ้าดูสถานการณ์ในแบบภายใต้บรรยากาศของความกลัวที่ถูกปรุงแต่โดยผู้มีอำนาจ ที่มองความกล้าหาญของบรรดานักข่าวที่สืบเสาะหาข้อมูลเพื่อตั้งคำถามกับระบบ ระบอบ ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ มากกว่าที่จะเป็นต้นตอของการประกอบสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับการตรวจสอบถ่วงดุล


คำสัญญาของการคืนความสุข จึงเริ่มกลายเป็นความทุกข์อันเกิดจากการลดทอนอำนาจในการตั้งกระทู้ถามความเป็นไปในกิจสาธารณะอันเกิดจากผู้บริหารประเทศจนดูเหมือนว่าความทุกข์ของนายเคนจิ โกโตะ นักข่าวที่แลกชีวิตกับความจริงในพื้นที่เสี่ยงภัยจะกลายเป็นความสุขที่เติมเต็มศักดิ์ศรีเต็มขั้นของนักข่าวมืออาชีพมากกว่าความสุขของนักข่าวไทยภายใต้ความสุขที่ผู้นำปัจจุบันหยิบยื่นให้