เผ่าพันธุ์ “นักแต่งตั้ง”

เผ่าพันธุ์ “นักแต่งตั้ง”

ไม่แปลกใจที่ “นักเลือกตั้ง” จากพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จะออกมาส่งเสียงเอะอะมะเทิ่ง

ในทันทีที่เห็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ออกแบบ “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” ด้วยข้ออ้างเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์การปฏิรูปประเทศ

ไม่แปลกใจที่ “นักแต่งตั้ง” อันเป็นผลพวงของการรัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 จะหา “ที่อยู่ที่ยืน” ให้ “นักแต่งตั้งอาชีพ” ในอนาคตอันใกล้นี้

“สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” มีสมาชิกไม่เกิน 120 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง มาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 60 คน , สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ 30 คน

บวกกับ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ” ไม่เกิน 5 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

นี่คือที่อยู่ที่ยืนใหม่ของ นักแต่งตั้งอาชีพ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ได้ถือกำเนิดขึ้นในบรรณพิภพการเมืองไทย เมื่อปี 2550 ในนามสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และวุฒิสมาชิก(สรรหา)

เดิมทีเราใช้คำว่า “นักแต่งตั้ง” หมายถึงสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้เปลี่ยนโฉมหน้าวุฒิสมาชิกครั้งสำคัญ เมื่อกำหนดให้ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง

ถ้ายังจำได้ สภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540” ก็วาดหวังให้วุฒิสภาเป็นเสาหลักในกระบวนการปฏิรูปการเมือง

ขณะที่ อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้เขียนเรื่อง อัปรียสภา (ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันที่ 15 มีนาคม 2544) ในมุมที่ตรงกันข้ามกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540

ในบทความดังกล่าว อาจารย์รังสรรค์ กล่าวถึงความผิดพลาดในการออกแบบรัฐธรรมนูญ(Constitutional Design) บนพื้นฐานที่ไม่ตรงต่อสภาพความเป็นจริงของสังคมการเมืองและธรรมชาติมนุษย์

สภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ต้องการ “อรหันต์” เป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นการคาดหวังที่มองข้ามธรรมชาติของมนุษย์

"การออกแบบรัฐธรรมนูญ โดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติของมนุษย์ยังปรากฏให้เห็นอีก เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาสังกัดพรรค มิหนำซ้ำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 ยังห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาหาเสียงอีกด้วย...

"ในเมื่อการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเลือกหนทางแห่งการเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้งล้วนเป็นมนุษย์ปุถุชนผู้มีกิเลส ตัณหา และราคะ กระบวนการเลือกตั้งจึงมิอาจกรอง "อรหันต์" ให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาได้

“ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาเฟีย ผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่นผู้ที่มีประวัติประกอบกิจกรรมเศรษฐกิจใต้ดิน สามารถเล็ดลอดเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ อันมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกระบวนการปฏิรูปการเมือง”

มิหนำซ้ำ ยังเกิดถ้อยวลีทางการเมืองที่ว่า สภาผัว-สภาเมีย หรือ สภาวงศาคณาญาติ เพราะผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกจำนวนมากมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองต่างๆ บางคนเป็นสามีภริยา หรือญาติสนิท ส.ส.มิพักต้องกล่าวถึงการหาเสียง การซื้อเสียงและการทุจริตในการเลือกตั้ง

ดังนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550” จึงลบข้อครหาข้างต้น ด้วยออกแบบให้วุฒิสภา มาจาก “การเลือกตั้ง” ผสมกับ “การแต่งตั้ง” (สรรหา) ด้วยข้ออ้างปฏิรูปการเมืองอีกเช่นกัน

นับจากวันนั้น สนช.2550 จำนวนหนึ่ง จึงแปลงร่างเป็น “ส.ว.สรรหา” ที่มีบทบาททางการเมืองอย่างมากมายในช่วงหลัง

“นักแต่งตั้งอาชีพ” หรือ “ส.ว.สรรหา” กลุ่มนั้น ก็ได้แปลงร่างเป็น “สนช.” และ “สปช.” อีกครั้ง หลังจากการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557

  ด้วยอคติที่ไม่ไว้วางใจ นักเลือกตั้งในวันข้างหน้า บรรดา นักแต่งตั้งอาชีพจึงต้องเตรียมแปลงร่างเป็น ซุปเปอร์ สปช.ควบคุมนักเลือกตั้งให้เดินไปตามแนวทางปฏิรูปของ คสช.อีก 5 ปี

หากบ้านเมืองจะเกิดวิกฤตในอนาคต ก็หนีไม่พ้น สงครามอรหันต์ ระหว่างเผ่าพันธุ์นักแต่งตั้ง กับเผ่าพันธุ์นักเลือกตั้ง

  ปุถุชนคนเดินดิน ควรถอยออกมาไกลๆ อย่าไปยุ่งกับอรหันต์...ปุถุชนคนมีกิเลส ตัณหา และราคะ มิอาจเข้าใจคำว่า ปฏิรูปของอรหันต์ได้ดอกครับ