อนาคตที่มืดมน

อนาคตที่มืดมน

สําหรับนักเศรษฐศาสตร์ผู้ติดตามเศรษฐกิจไทย ตัวเลขเศรษฐกิจ 2 ชุดหลังที่ทางการไทยประกาศค่อนข้างน่าผิดหวังมาก

ชุดแรกได้แก่ตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 4 และทั้งปี 14 และชุดที่สองได้แก่ตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนล่าสุด เพราะมีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่เครื่องยนต์อื่นๆ ยังคงดับอยู่


อย่างไรก็ตาม สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ยังคงมีความหวังต่อเศรษฐกิจไทยว่าในปีนี้น่าจะเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นขึ้นจากการเมืองที่นิ่งขึ้น แต่ผู้เขียนมองต่างมุม โดยมองว่าหากเศรษฐกิจไทยไม่ได้รับการยกเครื่องขนานใหญ่ โดยยึดถือประสิทธิภาพในการแข่งขันเป็นที่ตั้งแล้ว ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังทางเศรษฐกิจเหมือนกับที่ฟิลิปปินส์เคยเผชิญกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา (แต่ปัจจุบันเริ่มหลุดพ้นแล้ว)


ที่มองเช่นนั้นเพราะหากพิจารณาเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จะเห็นแต่ปัญหาที่ต้องการการยกเครื่องขนานใหญ่ทั้งสิ้น โดยขอแบ่งการวิเคราะห์เป็น 3 เครื่องยนต์หลัก ดังนี้


เครื่องยนต์แรกได้แก่ การส่งออก ซึ่งเมื่อหากพิจารณาจากปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าขยายตัวชะลอลงจากประมาณ 15% ต่อปีในปี 1980 ถึงปี 2000 มาอยู่ที่ 4% ในปี 2001-14 แต่หากพิจารณาในแง่มูลค่ายิ่งต่ำต้อย จากประมาณ 12% ในช่วงปี 2000-07 เป็น 0.5% ใน 3 ปีหลัง นั่นเป็นเพราะความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยลดลงอย่างมากหลังจากที่เราผ่าน 2 วิกฤติเศรษฐกิจ ได้แก่ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2009 และวิกฤติน้ำท่วมในปี 2011


โดยในส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่มีอัตราส่วนกว่า 70% ของการส่งออกนั้น พบว่าการผลิตสินค้าเหล่านี้ตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด (วัดจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม) โดยเฉพาะหลังจาก 2 วิกฤติข้างต้น เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านของเราอย่างไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่เคยเป็นคู่แข่งสูสีกันมาตั้งแต่ปี 2000-07 แต่เมื่อผ่านวิกฤติ ดัชนีของทั้งสองประเทศก็พุ่งทะยานขึ้นสวนทางกับของไทยที่ปักหัวลง


และหากพิจารณาสัดส่วนมูลค่าส่งออกไทยเทียบกับเกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย และเวียดนาม จะพบว่าการส่งออกไทยเทียบกับคู่แข่งลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่น่ากลัวที่สุดได้แก่ประเทศสุดท้ายที่การส่งออกไทยในปัจจุบันมากกว่าเวียดนามเพียง 1.5 เท่า จากที่เคยมากกว่าถึง 3 เท่าในปี 2008


สาเหตุที่การส่งออกไทยตกต่ำมี 2 ประการคือ หนึ่ง ภาคอุตสาหกรรมไทยไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความต้องการโลกที่เปลี่ยนไปได้ ประกอบกับสินค้าส่งออกที่อาศัยแรงงานในการผลิตเป็นหลักนั้นได้ย้ายฐานการผลิตไปยังภูมิภาคแล้ว เนื่องจากค่าแรงของไทยที่แพงขึ้น และสอง สินค้าเกษตรไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับต่างชาติที่มีระบบการชลประทานดีกว่า (ทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกต่ำกว่า) ขณะที่การดำเนินนโยบายภาคการเกษตรของประเทศไทยยังคงโฟกัสผิดจุด กล่าวคือ นโยบายส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นการเพาะปลูกสินค้าโภคภัณฑ์ปฐมภูมิ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง มากเกินไป และเมื่อเศรษฐกิจโลกแย่ลง ทำให้ความต้องการโภคภัณฑ์เหล่านี้ลดลง เป็นผลลบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทย


เครื่องยนต์ที่สองได้แก่ การบริโภคและลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง และกำลังเผชิญความเสี่ยงที่สำคัญสองประการ ประการแรก คือ ความเสี่ยงจากหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ซึ่งแม้ในทางทฤษฎีการก่อหนี้ในระดับพอสมควรจะเป็นการต่อยอดให้สามารถบริโภคและลงทุนเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น (เช่น ซื้อรถยนต์และโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้ประกอบอาชีพ) แต่นโยบายรัฐที่ผ่านมาที่เน้นการบริโภคอย่างเกินตัว ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในโลกถึง 26% ของ GDP ในช่วงปี 2007-14 (จากรายงานของ McKinsey Global Institute)


ในกรณีของประเทศอื่นๆ นั้น การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนมักสอดคล้องกับราคาของอสังหาฯ ที่สูงขึ้น เพราะหมายถึงราคาสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อการกู้ยืมสูงขึ้น จึงกู้ได้มากขึ้น แต่กรณีของไทย หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้นเร็วกว่าราคาอสังหาฯ ที่เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้น เป็นสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบุคคลเป็นหลัก และเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลง จึงทำให้หนี้เสีย (NPL) มีจำนวนมากขึ้น ทำให้ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์กังวล และเริ่มเข้มงวดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณของการหดตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ (-3.4% ในไตรมาส 4) ขณะที่สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตก็ขยายตัวชะลอลงเช่นเดียวกัน


ความเสี่ยงที่สอง จากสภาพความตึงตัวภาคการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับสูงกว่าเงินเฟ้อมากที่สุดในรอบ 6 ปีนั้น ทำให้ประชาชนไม่อยากที่จะกู้เงินแต่กลับนำเงินมาฝาก ในปัจจุบันจึงเห็นสัญญาณของการขยายตัวของเงินฝากอยู่ระดับสูงกว่าสินเชื่อ อันเป็นสัญญาณของการที่เศรษฐกิจไม่มีช่องทางลงทุน จึงนำเงินมาฝาก ทั้งนี้ กระแสการจำกัดและเข้มงวดสินเชื่อ บวกกับนโยบายดอกเบี้ยที่ตึงตัวเช่นนี้ จะกดดันการบริโภคและลงทุนรวมต่อไป


ภาคสุดท้ายได้แก่ ภาครัฐ ที่ทั้งการใช้จ่ายงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจนั้นมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยขยายตัวประมาณ 5.8% ในช่วงปี 80-2000 เหลือเพียงประมาณ 2.7% นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา


สาเหตุหลักเป็นเพราะการวางแผนรวมทั้งเบิกจ่ายงบประมาณนั้นขาดประสิทธิภาพ โดยมักตั้งงบประมาณไว้สูงเกินความต้องการ และหากเงินเหลือก็จะเร่งเบิกจ่ายผ่านการตั้งงบสัมมนาทั้งในและนอกสถานที่เพื่อให้เงินที่คงเหลือนั้นหมดไป โดยไม่ได้มีการนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ นอกจากนี้ ในส่วนของงบลงทุนพบว่าหน่วยงานราชการสำคัญมีการเบิกจ่ายน้อยมาก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหน่วยงานไม่ประสงค์จะเบิกจ่ายหรือทำการจัดซื้อจัดจ้างตามแผนงาน ด้วยข้อกังวลในส่วนของโทษที่ต้องได้รับหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่าย ดังนั้น งบประมาณส่วนใหญ่จึงเป็นงบประจำที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ในขณะที่งบลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศนั้นถูกแช่แข็ง จึงทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


จากความจริงทั้งสาม ผู้เขียนเห็นว่า หากไม่มีการยกเครื่องภาครัฐ พัฒนาความสามารถแข่งขันด้านส่งออก และบริหารจัดการภาคการเงินให้เหมาะสมแล้วนั้น โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะดิ่งลงเหว และเป็นคนป่วยเรื้อรังคนใหม่ของเอเชียคงอยู่อีกไม่ไกล