เส้นทางสายไหม One Belt, One Road ‘คัมภีร์ผู้นำจีน’

เส้นทางสายไหม One Belt, One Road ‘คัมภีร์ผู้นำจีน’

นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนได้เริ่มเอ่ยถึงคำว่า “Silk Road” หรือ เส้นทางสายไหม เมื่อเดือนกันยายน 2013 มาจนถึงวันนี้

กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า ผู้นำจีนยังไม่ลดละความพยายามที่จะปลุกฟื้นคืนชีพเส้นทางสายไหมเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะการยอมควักกระเป๋าตั้งกองทุน Silk Road Fund สูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อโชว์ความจริงใจในการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ตามแนวเส้นทางสายไหมในประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุมเกือบทั้งโลก ไม่เฉพาะในภูมิภาคเอเชีย


คำว่า One Belt, One Road หรือ อีไต้อีลู่ (Yi Dai, Yi Lu) ในภาษาจีนกลาง ก็เป็นอีกแนวคิดที่ผู้นำจีนหยิบยกขึ้นมากล่าวบ่อยเช่นกัน ซึ่งคำว่า Belt ในที่นี้ ก็คือ Silk Road Economic Belt ที่ผู้นำจีนเอ่ยขึ้นครั้งแรกในระหว่างการเยือนเพื่อนบ้านในเอเชียกลางเมื่อกันยายน 2013 และคำว่า Road ก็คือ Maritime Silk Road ที่ผู้นำจีนกล่าวถึงในอีกเดือนถัดมา ช่วงระหว่างการเยือนเพื่อนบ้านในอาเซียน


ทั้งหมดนี้เป็นเสมือน “คัมภีร์” สำคัญที่ผู้นำของจีนจะต้องนำไปหยิบยกเผยแพร่เพื่อหาแนวร่วมในระหว่างการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ และสะท้อนถึงความมุมานะที่จะปลุกคืนชีพเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขยายบทบาทและแสวงหาผลประโยชน์ของจีนโดยการเชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆ


ในฐานะนักวิชาการที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลจีนให้เดินทางไปเข้าร่วมประชุมหารือในเรื่องนี้หลายครั้งในหลายเวที ดิฉันมีข้อสังเกต ดังนี้


ประการแรก เส้นทางสายไหมและ One Belt, One Road ถูกริเริ่มและผลักดันสู่แวดวงระหว่างประเทศ โดยผู้นำระดับสูงสุดของจีน จึงสะท้อนถึงความแน่วแน่ของจีนในการสร้าง “โมเดลใหม่” ในการบูรณาการจีนกับภูมิภาคต่างๆ และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางนโยบายต่างประเทศและภายในประเทศของจีน โดยได้รับการตอบรับอย่างกระตือรือร้นจากรัฐบาลมณฑลหลายแห่งของจีน


ประการที่สอง จีนมีบทบาทหลักในฐานะเป็นผู้ริเริ่มและเป็นสถาปนิกออกแบบโครงการนี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าสู่ภูมิภาคต่างๆ อย่างแนบเนียนไม่โฉ่งฉ่างและดูไม่น่ากลัว ครอบคลุมทั้งกลุ่มอาเซียน เอเชียใต้ เอเชียกลาง เชื่อมโยงไปจนถึงตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป ไปจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้งการเชื่อมโยง 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย


ประการสุดท้าย เส้นทางสายไหม นับเป็นอภิมหาโครงการของรัฐบาลจีนที่ไม่ได้มีเฉพาะมิติเศรษฐกิจ หากแต่ครอบคลุมหลากหลาย ทั้งการเมือง สังคม วัฒนธรรม และสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ที่จีนต้องการใช้เพื่อสร้างเครือข่ายแสวงหาแนวร่วมในการคานอำนาจกับมหาอำนาจอื่น โดยเฉพาะสหรัฐฯ


เท่าที่พูดคุยหารือกัน พรรคพวกนักวิชาการอาเซียนส่วนใหญ่ให้การตอบรับและชื่นชมแนวคิดในการสร้างเส้นทางสายไหม โดยเฉพาะ Maritime Silk Road เพื่อการเสริมสร้างมิตรสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-จีน ส่งเสริมการไปมาหาสู่และเร่งขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน


หลายคนเห็นพ้องกันว่า เส้นทางสายไหมดังกล่าวจะช่วยเปลี่ยนทศวรรษแห่งยุคทอง (Golden Decade) ระหว่างจีนและภูมิภาคอาเซียนสู่การเป็นทศวรรษแห่งยุคเพชร (Diamond Decade) และเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือ 2+7 ตามที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนได้เสนอไว้ จึงชัดเจนว่า แนวคิดนี้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้อง


อีกทั้งการผลักดันเส้นทางสายไหม แท้จริงแล้วเป็นการเติมเต็ม “ความฝันของจีน” (China’s Dream) หรือ Zhong Guo Meng ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้จุดประกายให้คนจีนได้ร่วมฝันด้วยกันตั้งแต่ปลายปี 2012 เนื่องจากหากผลักดันแนวคิดนี้ได้สำเร็จ จีนก็จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งบนเส้นทางสายไหม One Belt,One Road เหมือนดั่งเช่นในอดีตนั่นเอง


อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวคิดและความพยายามที่จะปลุกคืนชีพเส้นทางสายไหมขึ้นมาอีกครั้ง จะเอื้อโอกาสทางเศรษฐกิจและการพัฒนาความร่วมมือกัน แต่ก็มีนักวิชาการอาเซียนจำนวนไม่น้อยได้ให้ข้อสังเกตและตั้งคำถามถึงแนวคิดนี้ของผู้นำจีน เช่น


ยังไม่ชัดเจนว่า รูปแบบเชิงสถาบันของความร่วมมือเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 จะเป็นอย่างไร จะเป็นข้อตกลง FTA ในรูปแบบใหม่ หรือจะเป็นเพียงแค่การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างเครือข่ายความร่วมมือของท่าเรือต่างๆ เป็นต้น


ต้องไม่ลืมว่า ในขณะนี้ มีกรอบความตกลงทางเศรษฐกิจ และการค้า FTA หลายฉบับทั้งระหว่างจีนกับกลุ่มอาเซียน และประเทศในเอเชียอื่นๆ ตลอดจนกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคและอนุภูมิภาคต่างๆ เช่น กลุ่มAPEC กลุ่ม GMS รวมไปถึงกรอบ RCEP และล่าสุด คือ กรอบ FTAAP เป็นต้น จึงเกิดคำถามว่า จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดความทับซ้อนกับความร่วมมือที่มีอยู่แล้วเหล่านี้ แล้วจะมีกลไกอะไรที่จะเชื่อมโยงกับแนวคิดเส้นทางสายไหม คำถามสำคัญ คือ กลุ่มอาเซียนควรจะให้ความสำคัญอันดับแรกกับความร่วมมือในกรอบใดกันแน่


ที่สำคัญ แม้ว่าเส้นทางสายไหม โดยเฉพาะ Maritime Silk Road จะดูเสมือนเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับน่านน้ำทะเล และมหาสมุทรต่างๆ ซึ่งย่อมจะเกี่ยวโยงกับประเด็นความมั่นคงและมีความอ่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ จึงต้องตระหนักถึงทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง และมิได้เป็นเพียงความตกลงสองฝ่ายของคู่ประเทศใดๆ หากแต่เป็นประเด็นความเกี่ยวโยงในวงกว้างในระดับภูมิภาค คงต้องมีกลไกและหลักปฏิบัติที่สอดคล้องและเป็นไปตามกฎระเบียบความตกลงระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด โดยยึดถือหลักการไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน (mutual trust) ในระหว่างสมาชิก


ดังนั้น การผลักดันเส้นทางสายไหม One Belt, One Road จึงมีทั้งโอกาสและปัญหาอ่อนไหว ดิฉันจึงหวังว่า ผู้นำจีนจะผลักดันแนวคิดเส้นทางสายไหม เพื่อเป็น “ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและสันติภาพ” (Development and Peace Strategy) มีทั้งการพัฒนา (Development) ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและด้านที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ เช่น วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการศึกษา ตลอดจนการช่วยเหลือให้มีการพัฒนาในประเทศเพื่อนบ้านของจีนด้วย และด้านสันติภาพ (Peace) ในแง่ช่วยลดความร้อนแรงและลดความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ต่อไปด้วยค่ะ


ที่มา http://schillerinstitute.org/strategic/2014/0905-shixiu-1belt_1road.html