ได้เวลาเก็บภาษี "ธุรกิจกวดวิชา"

ได้เวลาเก็บภาษี "ธุรกิจกวดวิชา"

กรมสรรพากรกำลังกวาดต้อนกลุ่มผู้มีรายได้ ที่เข้าข่ายหลีกเลี่ยงการชำระภาษี โดยเฉพาะในกลุ่มที่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย

            ในการหลบเลี่ยง เป้าหมายสำคัญ คือ สร้างความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีในระบบ ผลพลอยได้ที่ตามมา คือ สร้างฐานผู้เสียภาษีรายใหม่ให้แก่กรมฯ

            โรงเรียนกวดวิชา หรือ ที่เราเรียกว่า โรงเรียนติวเตอร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ล่าสุด กรมสรรพากรได้เสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณา ส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติออกประกาศกระทรวงการคลัง ในแนวทางการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาเรียบร้อยแล้ว

            เหตุผลสำคัญ คือ โรงเรียนกวดวิชาในปัจจุบัน ถือเป็นการประกอบธุรกิจโดยภาคเอกชนที่เปิดกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งสร้างรายได้มหาศาลเทียบเท่ากับการประกอบธุรกิจอื่นที่มีต้นทุนที่แพงกว่า แต่ปัจจุบัน ธุรกิจนี้ ไม่ต้องเสียภาษีโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีรายอื่น จึงเห็นควร ที่จะออกระเบียบปฏิบัติให้เป็นแนวทางเดียวกัน

            ทั้งนี้ โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งไม่มีครูผู้สอนในชั้นเรียนแบบดั้งเดิม กล่าวคือ นักเรียนเข้ารับการสอนผ่านเครือข่ายโทรทัศน์ ซึ่งสามารถถ่ายทอดสดการสอนจากโรงเรียนสาขาอื่น หรือฉายซ้ำการสอนที่ได้บันทึกไว้ ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการเรียนไม่ต่างจากที่มีผู้สอนจริงในชั้นเรียน ซึ่งบางหลักสูตรมีอัตราสูงตั้งแต่หลายพันบาท จนถึงนับหมื่นบาทต่อนักเรียนหนึ่งคน

            หลักการเบื้องต้น โรงเรียนกวดวิชาที่เข้าข่าย ต้องเสียภาษีตามระเบียบประกาศของกรมสรรพากร คือ โรงเรียนเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อเปิดสอน หรือกวดวิชาในลักษณะของการประกอบธุรกิจในเวลาเรียนที่ไม่ปกติ เป็นการเฉพาะวิชา แก่ผู้เข้าเรียนในระยะเวลาสั้นๆ โดยเจ้าของโรงเรียน จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์นิติบุคคล ในกรณีที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือ บุคคลธรรมดาหากไม่มีการจดทะเบียน

            กรมสรรพากรไม่มีข้อมูลว่า แต่ละปี โรงเรียนกวดวิชา หรือ ที่เรียกว่า โรงเรียนติวเตอร์ นี้ มีรายได้จำนวนเท่าใด เพราะไม่เคยบันทึก เนื่องจากที่ผ่านมา โรงเรียนเหล่านี้ ไม่เคยเข้าสู่ระบบภาษี โดยถือเป็นช่องโหว่ทางภาษีที่กรมฯต้องเร่งเข้ามาปิด เบื้องต้นกรมฯสำรวจโรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่ที่อยู่ในข่ายเสียภาษีราว 100 แห่ง คำนวณเป็นมูลค่าภาษีประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อปี

            คำถามแรก คือ เจ้าของธุรกิจนี้ จะส่งผ่านรายจ่ายที่สูญเสียไปกับการเสียภาษีนี้ต่อผู้เรียน ซึ่งเทียบเท่าเป็นผู้บริโภครายหนึ่งกับธุรกิจอื่นๆ หรือไม่ เพราะปัจจุบัน การกวดวิชาผ่านโรงเรียนกวดวิชาในประเทศไทยกลายเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจำเป็น เพื่อให้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาหรือผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

            คำถามที่ตามมา คือ ระบบการศึกษาไทยที่เปิดสอนในชั้นเรียนในปัจจุบันนั้น ไม่สามารถมีการเรียนการสอนที่รองรับความต้องการเรียนรู้ หรือการแข่งขันของเด็กหรืออย่างไร อัตราค่าเล่าเรียนที่แสนแพงในแต่ละเทอมของโรงเรียนเอกชน รวมถึง งบประมาณรัฐที่ใส่ไปในรายจ่ายด้านบุคลากรครูก็มีสัดส่วนสูงและเพิ่มขึ้นทุกปีสำหรับโรงเรียนรัฐบาล กลับไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ทำให้การเรียนพิเศษเป็นเพิ่มภาระในแง่เวลาและค่าใช้จ่ายแก่เด็กและผู้ปกครอง

          ดังนั้น การปฏิรูประบบการศึกษาไทย จึงถือเป็นอีกหนึ่งโจทก์สำคัญของผู้บริหารประเทศ