ส.ส.ไม่มีคอก

ส.ส.ไม่มีคอก

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนด “ที่มาส.ส.” ไว้ในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง

    โดยให้ “กลุ่มการเมือง” ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ “กลุ่มการเมือง” หรือภาคประชาสังคมที่ต้องการมีตัวแทนในสภา ทำได้โดยที่ไม่ต้องสังกัดพรรค

    เจตนารมณ์ ก็คือ ต้องการให้มีผู้แทนที่มาจากฐานของมวลชน เนื่องจากพรรคการเมืองใหญ่ มีที่มาจาก “กลุ่มทุน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทางการเมือง รวมถึงการกำหนดให้หยั่งเสียงประชาชนหรือสมาชิกพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งหรือในภาค เพื่อพิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ด้วย

    นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2475 ซึ่งนำมาใช้สำหรับการเลือกตั้งส.ส. 15 พ.ย.2476 เป็นการเลือกทางอ้อม จำนวน ส.ส.78 คน โดยไม่บังคับให้ผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง ซึ่งกำหนดเช่นนี้เรื่อยมา ถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2511

    รัฐธรรมนูญที่บังคับ "ส.ส.สังกัดพรรค" เริ่มต้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2517 แล้วทวีความเข้มข้นขึ้นในรัฐธรรมนูญ ปี 2521 เนื่องจากต้องการให้ “การเมืองระบบรัฐสภา” มีเสถียรภาพ เพราะเชื่อกันว่าสาเหตุที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยล้มเหลวเมื่อปี 2514 โดยการรัฐประหารตนเองของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2514 นั้น เป็นเพราะการขายตัวของ ส.ส.อิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง

    รัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรค อย่างน้อย 90 วัน ส.ส.ไม่อาจย้ายไปสมัครในพรรคอื่นได้ จำต้องเชื่อฟังพรรคการเมืองที่ตนสังกัด

    ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เขียนบทความ เรื่อง “ส.ส.กับความเป็นผู้แทนปวงชนในรัฐธรรมนูญ 2550 : ปัญหาของระบบเลือกตั้ง และการบังคับให้สังกัดพรรคกับปัญหาการแบ่งแยกอำนาจ” ว่า  ที่รัฐบาลเข้มแข็งเกินไปกว่าเจตนารมณ์ประชาชนเป็น “ข้อเสีย” มากกว่า “ข้อดี” ปัญหาการบังคับส.ส.สังกัดพรรค และการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ กับฝ่ายบริหาร ระบอบประชาธิปไตย ต้องใช้หลัก “นิติรัฐ” หรือ การปกครองโดยกฎหมาย (The Rule of Law) ซึ่งหมายถึงรัฐที่ปกครองโดยกติกา มิใช่ปกครองโดยอำเภอใจ หรือ ใช้กำลัง ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กติกาหรือกฎหมายอย่างเสมอกัน รัฐบาลก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และจะมีอำนาจกระทำการใดที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนได้ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น

    กฎหมายที่ใช้ในการปกครอง ต้องมาจากประชาชน นี่คือ “หน้าที่” ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อำนาจรัฐบาลหรือ ฝ่ายบริหาร จึงมาจากกฎหมายที่ตราขึ้นมาโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มาจากประชาชน หากรัฐบาลละเมิดกฎหมาย ฝ่ายตุลาการ หรือศาลจะเป็นผู้ใช้อำนาจตีความกฎหมายในการตัดสิน เพื่อควบคุมการใช้อำนาจให้เป็นไปตามกฎหมายที่มาจากประชาชน

    นี่คือ “หลักการแบ่งแยกอำนาจ”ของระบอบประชาธิปไตย นิติบัญญัติ ตรากฎหมาย บริหาร ใช้กฎหมาย และ ตุลาการ ตีความกฎหมาย

    ระบบรัฐสภาไทย มีปัญหาการแบ่งแยกอำนาจระหว่างนิติบัญญัติ กับบริหาร เพราะหัวหน้าฝ่ายบริหารคือ นายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่มาจากเสียงข้างมากของ ส.ส. ใครที่จะเป็นนายกฯ จึงต้องมีเสียงข้างมากในสภาฯ  นายกฯ จึงครอบงำสภาฯ ได้ และเครื่องมือของรัฐบาลที่ใช้ในการครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติก็คือ พรรคการเมือง

    ระบบรัฐสภาไทย ก่อให้เกิดปัญหา “เผด็จการโดยพรรคการเมือง” รัฐบาลใช้พรรคการเมือง ครอบงำสภาฯ เหลือเพียงฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลอะไรได้มากเพราะเป็นเสียงข้างน้อย

    ถ้าไม่เกิดเผด็จการโดยพรรคการเมือง ก็จะมีปัญหาเรื่องการแก่งแย่งกันเป็นรัฐบาล รัฐมนตรี จัดสรรกันโดยระบบโควตา

    ปัญหาทั้งสองประการนี้เกิดขึ้นในระบบรัฐสภาทั่วโลก

    วิธีแก้ปัญหาที่ใช้กันทั่วโลกคือ ทำให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นอิสระจากรัฐบาล ด้วยการไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง จะทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ กับฝ่ายบริหาร

    ประเทศไทย ที่ไม่มีหลักประชาธิปไตย การบังคับ ส.ส.ต้องเชื่อฟัง และจงรักภักดีหัวหน้าพรรค สภาผู้แทนราษฎร จึงตกอยู่ใต้นายกรัฐมนตรี

การบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค ทำให้การขายตัวของส.ส.จากเดิม “ขายหลังเลือกตั้ง” เป็น “ขายตัวก่อนเลือกตั้ง” โดยพรรคแข่งกัน “ดูด”ส.ส.เข้าพรรค เพื่อให้มี ส.ส.มากที่สุด นำไปสู่เก้าอี้นายกฯ

   รัฐธรรมนูญ 2559 จึงสร้างกติกาใหม่ไม่บังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค ให้ส.ส.ทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนได้อย่างแท้จริง