โค้งอันตรายทีวีดิจิทัลปี 2(3 ): ทำไมสังคมแทบไม่ยืนข้าง"กสทช.

โค้งอันตรายทีวีดิจิทัลปี 2(3 ): ทำไมสังคมแทบไม่ยืนข้าง"กสทช.

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติชุดนี้

  มีอายุครบ 3 ปีไปเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2557 ยังเหลือเวลาทำงานอีกเกือบ 3 ปี 

  แต่เหตุใดกระแสสังคมแทบจะไม่มีใคร"ยืนข้าง"เลย เมื่อรัฐบาลได้เห็นชอบในหลักการแก้ไขกฎหมายกสทช.ให้เปลี่ยนจาก"องค์กรอิสระ"มาอยู่ภายใต้โครงสร้างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

  ในรอบ 3 ปี ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมที่จับต้องได้ของกสทช.ชุดนี้มี 2 เรื่องใหญ่ๆ หากวัดจากตัวเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 92,487 ล้านบาท

  #ด้านโทรคมนาคม จัดประมูลคลื่นความถี่สำหรับโทรศัพท์ 2.1 GHz หรือระบบ 3G ได้ผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่ที่เป็นรายเดิม กสทช.ได้เงินประมูล 41,625 ล้านบาท

  คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าออกแบบการประมูลมาเพื่อทำให้เกิดการ"ฮั้วประมูล"  เพราะ 2 รายใหญ่คือกลุ่มทรูและดีแทคไม่ได้เคาะราคาประมูลเพิ่มขึ้นจากราคาขั้นต่ำ  13,500 ล้านบาท ยกเว้นกลุ่มเอเอไอเอสเคาะราคาเพิ่มขึ้น 1,125 ล้านบาทที่ว่ากันว่าเพื่อรักษาหน้ากทค. ทำให้ราคาประมูลสูงกว่าราคาขั้นต่ำน้อยมาก  แต่ในที่สุดกรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีข้อสรุปว่ากทค.พ้นมลทินข้อกล่าวหาเอื้อประโยชน์เอกชน

  สถานการณ์ของผู้ประกอบการโทรศัพท์ 3G หลังประมูลถือว่าทั้งสามบริษัทมีการแข่งขันกันลงทุนขยายโครงข่ายอย่างรวดเร็ว เพื่อแย่งชิงลูกค้าให้ถ่ายโอนจากระบบ 2G มา 3G ทำให้การถ่ายโอนเป็นไปอย่างรวดเร็วถือว่าเป็นสถิติโลกในการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค

  กทค.ยังเหลือการประมูลคลื่นความถี่ระบบโทรศัพท์ 4G ที่เป็นงานใหญ่ที่สุดอีกงานที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้เลื่อนการประมูลออกไปประมาณ 1 ปี  หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการกสทช.จากกฎหมายใหม่น่าจะมีการประมูลคลื่นความถี่ระบบโทรศัพท์ 4G  ภายในกลางปีนี้

 #ด้านบรอดแคสติ้ง จัดประมูลคลื่นความถี่สำหรับทีวีดิจิทัล 24 ช่องได้ผู้ประกอบการ 17 บริษัทที่ส่วนใหญ่เป็นรายใหม่ กสทช.ได้เงินประมูล 50,862 ล้านบาท

 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้รับเสียงชื่นชมจากสังคมว่าสามารถจัดการประมูลทีวีดิจิทัลได้อย่างโปร่งใส เพราะได้ผู้เล่นที่เป็นกลุ่มบริษัท 17 บริษัทจาก 24 ช่อง ราคาเคาะประมูล 50,862 ล้านบาทสูงกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 15,190 ล้านบาท  เงินประมูลจากเอกชนสูงกว่าขั้นต่ำร่วม 4-5 เท่าตัว

  แต่สถานการณ์หลังประมูลเสร็จปลายเดือนธ.ค. 2556 ตลอดปี 2557 ถือเป็นวิบากกรรมของบริษัทที่ประมูลได้ เพราะคำมั่นสัญญาของกสท.ที่เคยให้ไว้กับผู้เข้าประมูลไม่ได้เป็นไปตามนั้นเกือบทั้งหมด  เช่น  โครงข่ายทีวีดิจิทัลล่าช้าไปกว่ากำหนดไม่น้อยกว่า 3 เดือน, การแจกคูปองเพื่อนำไปแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินล่าช้าไปประมาณ 5 เดือน , การประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเข้าใจและตื่นตัวกับการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลแทบไม่มีเลย ฯลฯ

  กสท.ยังเหลืองานสำคัญในการออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลประเภทบริการสาธารณะอีก 9 ช่องและใบอนุญาตทีวีดิจิทัลประเภทชุมชนอีก 12 ช่องใน 39 เสาส่งโครงข่าย การออกใบอนุญาตที่เหลือใช้ระบบบิวตี้คอนเทสต์หรือประกวดนางงาม 

  แต่ยังมีงานต่อเนื่องที่ยังไม่บรรลุคือการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์แบบอนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิทัลยังไม่ลุล่วง  ต้องรอเวลาสัญญาสัมปทานของช่อง 7 สิ้นสุดปลายปี 2561 และช่อง 3 สิ้นสุดในวันที่ 24 มีนาคม 2563 แล้วหลังจากนั้นคลื่นความถี่ดังกล่าวจะนำมาใช้ในการประมูลเพื่ออัพเกรดช่องทีวีดิจิทัลความคมชัดปกติหรือ SD ให้เป็น HD

   รวมทั้งการบริหารจัดการคลื่นความถี่วิทยุที่ทั้งหมดยังถือครองอยู่ในภาครัฐและกองทัพ  ซึ่งกสท.ได้ใช้วิธียืดเวลาการถือครองออกไปตามความจำเป็น 5 ปี  แล้วกำหนดให้คืนคลื่นความถี่ หากไม่ได้ทำประโยชน์ในการบริการสาธารณะเพื่อนำมาประมูล  และอีกเรื่องที่สำคัญคือการประมูลวิทยุดิจิทัลที่ยังไม่มีความชัดเจน     

  หากใช้ยอดเงินเป็นตัววัดผลงานของกสทช.พอจะกล่าวได้ว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีการประมูลคลื่นความถี่ 4G กสท.สามารถจัดการประมูลทีวีดิจิทัลได้เงินเข้ารัฐมากกว่าการประมูลคลื่นความถี่ 3G ของกทค.  ซึ่งหากเทียบขนาดธุรกิจแล้ว กิจการโทรคมนาคมมีมูลค่ารวมกันปีละหลายแสนล้านบาท มากกว่ากิจการโทรทัศน์ที่มีมูลค่ารวมกันอย่างมากที่สุดไม่เกินแสนล้านบาทต่อปี

 แต่ถ้าประเมินประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการชุดเล็ก 2 ชุดด้านความโปร่งใสหรือธรรมาภิบาลถือว่าย่ำแย่พอๆ กัน

 ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานเมื่อต้นเดือนต.ค. 2554 ทุกครั้งในการลงมติของกทค.แทบไม่เคยมีคะแนนเสียงเปลี่ยนแปลง เสียงข้างมาก 4 เสียง,เสียงข้างน้อย 1 เสียงตลอดกาลคือนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา  แม้เวลาผ่านมา 3 ปีแล้วก็ยังเป็นแบบนี้ที่แทบไม่มีการถ่วงดุลใดๆ เกิดขึ้นเลย 

 ทำให้กฎกติกาของกทค.ที่ประกาศออกมาส่วนใหญ่  จึงถูกสังคมตั้งข้อสงสัยและกังขาในการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการมากเกินไป  ตอกย้ำด้วยผลประกอบการของผู้ชนะประมูลโทรศัพท์ 3G ล้วนแต่มีกำไรเพิ่มขึ้นเต็มไม้เต็มมือ

 แต่กสท.ค่อนข้างแปลกที่เริ่มต้นจากเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 มาโดยตลอดเช่นกัน แต่ 1 เสียงกสท.ที่เป็นตัวแปรสำคัญคือพลโทดร.พีรพงษ์ มานะกิจที่เดิมมักจะโหวตเสียงข้างมากให้ประธานกสท.คือพ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ที่มีเสียงสนับสนุนแบบถาวรคือพ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า  แต่หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.พลโทดร.พีระพงษ์ไม่ได้โหวตเสียงในเรื่องใหญ่ๆ ที่เสนอโดยประธานกสท. เช่น  กรณีคูปองให้แลกกล่องทีวีดาวเทียมได้ , กรณีช่อง 3 ออกคู่ขนานช่องทีวีดิจิทัลไม่ได้ ฯลฯ

 ทำให้สภาพการทำงานของกสท.ในปัจจุบันค่อนข้างอิหลักอิเหลื่อเดินหน้าไปไม่ได้สักเรื่อง  เพราะประธานกสท.พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์กลายเป็นประธานเสียงข้างน้อยที่ไม่สามารถชี้ขาดได้ทุกครั้ง  คะแนนเสียงจึงออกมาเป็น 3 ต่อ 2 เช่นเดิมแต่สลับข้างเท่านั้น

  วิบากกรรมจึงตกหนักอยู่กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่เคาะประมูลในราคาสูงกว่าขั้นต่ำมาก  ด้วยความเชื่อมั่นในการทำงานของกสท.ที่ช่วงก่อนประมูลใส่ใจเสียงของผู้แสดงตัวจะเข้าประมูลอยู่พอสมควร  แต่พอประมูลทีวีดิจิทัลเสร็จแทบจะกลายเป็น"ลอยแพ"ท่ามกลางความขัดแย้งในการทำงานของกสท. 5 คนที่มีแนวคิดในการสร้างดาวคนละดวงและบางคนยังมีข้อเคลือบแคลงอย่างยิ่งว่ารักษาผลประโยชน์ของใคร

  แต่จุดตายจริงๆ ของกทค.และกสท.อยู่ที่การใช้จ่ายเงินแบบมือเติบของกรรมการกสทช.เกือบทั้งหมด (ยกเว้นแค่ 2-3 คนที่มักเป็นเสียงข้างน้อย) ในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท,การตั้งที่ปรึกษาและคณะอนุกรรมการของกสทช.แต่ละคนที่เต็มพิกัดเกินความจำเป็น ,การจัดซื้อจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา-อุปกรณ์เครื่องใช้-รถเช่า ฯลฯ

  เมื่อคสช.ออกประกาศให้นำเงินจากการประมูล 3G และทีวีดิจิทัลในงวดต่อไปให้โอนเข้ากระทรวงการคลังแทนการจ่ายตรงเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนาของกสทช.   จึงได้รับเสียงปรบมือแบบสะใจจากสังคม  มากกว่าจะเห็นใจกสทช.ที่ใช้เงินยากลำบากมากขึ้น

 และเมื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล แล้วแสดงเจตนาชัดเจนจะออกกฎหมายกสทช.ใหม่เพื่อลดความเป็นอิสระให้มาอยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แทบจะไม่ค่อยมีใครออกมาคัดค้าน  แม้ไม่เห็นด้วยที่เป็นการถอยหลังมากกว่าเดินหน้า