สู่ Sustainable Enterprise
ผู้นำองค์กรควรผลักดันให้เกิดการกำหนดและให้ความเห็นชอบในเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ขององค์กร
ปัจจุบัน มีหลายองค์กรธุรกิจที่ได้นำปัจจัยแห่งความยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคำนึงถึงประเด็นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความเกี่ยวโยงกันและส่งผลต่อความเป็นไปของกิจการ มาออกแบบและปรับแต่งโมเดลทางธุรกิจ วางกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน (Sustainability) พร้อมกับพัฒนาแนวทางในการสื่อสารเรื่องความยั่งยืน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้รับทราบถึงทิศทางขององค์กร และตอบสนองต่อความจำกัดของกลยุทธ์มุ่งการเติบโต (Growth) ที่ไม่อาจใช้เป็นกลยุทธ์หลักเดียวของธุรกิจได้อีกต่อไป
ข้อปฏิบัติทางธุรกิจที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่กิจการ คือ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ที่ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่แทบทุกแห่ง มีการดำเนินการและสื่อสารให้แก่สังคมได้รับทราบกันอย่างแพร่หลาย
แต่ก็ใช่ว่า กิจการที่หยิบเรื่อง CSR มาดำเนินการทุกแห่ง สามารถที่จะนำองค์กรเข้าสู่วิถีของกิจการที่ยั่งยืนได้ เนื่องจาก ธุรกิจหลายแห่งนำ CSR มาใช้เป็นเพียงเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการตลาด และการสร้างภาพลักษณ์ในตราสินค้า มากกว่าที่จะพัฒนาให้เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานที่นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ผู้นำองค์กรมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการกำกับทิศทาง การกำหนดขอบเขต การจัดลำดับความสำคัญ และการสร้างแรงจูงใจต่อการขับเคลื่อนองค์กรให้เข้าสู่วิถียั่งยืน
เริ่มจากการตระหนักว่าความยั่งยืนมีความหมายความสำคัญกับองค์กรอย่างไร อะไรคือโอกาสและความเสี่ยงที่องค์กรต้องเผชิญ การระบุประเด็นที่มีสาระสำคัญต่อองค์กร และการจัดลำดับความสำคัญเพื่อคัดกรองประเด็นที่จะดำเนินการ
การชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน จะช่วยสื่อความให้พนักงานและหุ้นส่วนทางธุรกิจได้เห็นคล้อยตามและโน้มน้าวให้เกิดการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน
ผู้นำองค์กรควรผลักดันให้เกิดการกำหนดและให้ความเห็นชอบในเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ขององค์กร
เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนที่กำหนด ควรมีความเจาะจงและเหมาะสมกับองค์กร โดยสะท้อนประเด็นที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์
บางองค์กรตั้งเป้าหมายให้เชื่อมโยงกับเกณฑ์ในดัชนีด้านความยั่งยืนที่องค์กรได้รับการประเมินและจัดอันดับตามมาตรฐานของแต่ละผู้จัดทำดัชนี เช่น ดัชนี DJSI หรือ FTSE4Good ซึ่งดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่องค์กรพึงระลึกว่า ดัชนีเหล่านั้น มีการพัฒนาเกณฑ์ที่ใช้แตกต่างกัน และไม่สามารถใช้วัดหรือเปรียบเทียบในสิ่งซึ่งสำคัญสุดที่องค์กรแต่ละแห่งมีไม่เหมือนกันได้ ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายความยั่งยืน จึงควรมุ่งในสิ่งซึ่งมีความสำคัญและมีคุณลักษณะทางกลยุทธ์กับองค์กรของตนจริงๆ
การตั้งเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนสามารถจำแนกได้เป็นสองระดับ คือ ระดับที่เป็นเป้าการดำเนินงานความยั่งยืนจากตัวการดำเนินงานนั้นๆ เอง (อาทิ เป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือเป้าการพัฒนาปรับปรุงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย) และในระดับที่เป็นผลกระทบจากการดำเนินงานความยั่งยืนต่อบรรทัดสุดท้ายทางการเงิน (อาทิ ยอดรายจ่ายที่ลดได้ หรือ ยอดรายได้ที่เพิ่มขึ้น)
ลำดับถัดมา เป็นการนำองค์กรให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด ด้วยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ องค์กรบางแห่งใช้วิธีกำหนดเป็นนโยบายและวิธีดำเนินการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ขณะที่บางแห่งใช้การชักชวนให้พนักงานปรับพฤติกรรมจนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรม หรือทำให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรที่มีอยู่ และใช้การวินิจฉัยโดยนัยว่าสิ่งใดถูกหรือผิด
การสร้างสิ่งจูงใจที่ผูกโยงกับผลตอบแทนและความก้าวหน้าในตำแหน่งงาน เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เสริมสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเป็นเครื่องแสดงการให้คุณค่าในเชิงสัญลักษณ์ต่อเรื่องความยั่งยืนที่องค์กรได้ให้ความสำคัญ อันส่งผลต่อการบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรที่สอดคล้องต่อการขับเคลื่อนในวิถีดังกล่าว
สิ่งที่สำคัญกว่าการสร้างสิ่งจูงใจในรูปของตัวเงิน คือ การที่ผู้นำลงมือปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างผ่านบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบปกติ ทั้งการกำกับดูแลของคณะกรรมการบริษัท การจัดการองค์กรของฝ่ายบริหาร ให้เป็นไปในวิถียั่งยืน อาทิ การตัดสินใจเลือกระหว่างผลกำไรในระยะสั้น กับการสร้างคุณค่าในระยะยาว รวมทั้งความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก
การเข้าร่วมในความริเริ่มด้านความยั่งยืนในระดับอุตสาหกรรม ในระดับภูมิภาค หรือในระดับโลก เป็นเครื่องแสดงถึงภาวะผู้นำในอีกลักษณะหนึ่งที่องค์กรสามารถดำเนินการได้ อาทิ การประกาศเจตนารมณ์โดยผู้นำสูงสุดขององค์กรต่อการรับ เข้าร่วม หรือผลักดันข้อตกลงหรือมาตรฐานระหว่างประเทศในประเด็นด้านความยั่งยืนที่องค์กรสนใจหรือให้ความสำคัญ เช่น การต้านทุจริต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงงานเด็ก ฯลฯ
การปรับแนวการดำเนินงานของกิจการให้เข้าสู่วิถีที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นกิจการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ จำเป็นต้องอาศัยภาวะผู้นำ (Leadership) และวิสัยทัศน์ (Vision) ที่เห็นว่าบริบทในการดำเนินธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม