“โกงได้ไม่เป็นไร” ไม่ได้เฉพาะประเทศไทย

“โกงได้ไม่เป็นไร” ไม่ได้เฉพาะประเทศไทย

ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การที่ประชาชนยังสามารถยอมรับนักการเมืองที่คอร์รัปชันได้นั้น มิได้เกิดขึ้นแต่ในประเทศไทย

 แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ด้วย โดยที่ผ่านมาผู้เขียนได้อ้างงานวิจัยของ Luigi Manzetti and Carlole J. Wilson, (2007), “Why Do Corrupt Governments Maintain Public Support?” (“เพราะเหตุใดรัฐบาลที่คอร์รัปชันจึงรักษาการสนับสนุนจากสาธารณะไว้ได้?”) โดยในงานวิจัยนี้ผู้วิจัยได้เก็บตัวอย่างและศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบปรากฏการณ์ทางการเมืองดังกล่าวนี้จาก 14 ประเทศ (ไม่รวมประเทศไทย) และได้ข้อสรุปว่า หลักฐานทางสถิติสอดคล้องกับสมมติฐานการศึกษาที่พวกเขาได้ตั้งไว้ นั่นคือ “ประชาชนในประเทศที่สถาบันการเมืองและระบบราชการอ่อนแอไร้ประสิทธิภาพ แต่มีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ (patron-clients relationships) ที่เข้มแข็ง มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนผู้นำที่ฉ้อฉลที่ประชาชนคาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์ที่จับต้องได้จากผู้นำแบบนี้”


ต่อมาปี 2012 ผู้เขียนได้พบงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของ Jordi Munoz, Eva Anduiza and Aina Gallego, “Why do voters forgive corrupt politicians ?” (“เพราะเหตุใดผู้ลงคะแนนเสียงจึงให้อภัยนักการเมืองที่คอร์รัปชัน ?”) แสดงให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวยังเป็นปัญหาคั่งค้างคาใจนักรัฐศาสตร์อยู่ตลอด ในภาพรวม Jordi Munoz, Eva Anduiza and Aina Gallego กล่าวว่า งานวิจัยก่อนหน้าของพวกเขาได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาชนสนับสนุนนักการเมืองคอร์รัปชันอันได้แก่ 1. การขาดข้อมูลข่าวสาร 2. ความอ่อนแอของสถาบันทางการเมืองและของกลุ่มที่ฝักใฝ่เลือกข้างทางการเมืองในการอธิบายข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ นั่นคือ ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งปัจจัยทั้งสองข้อนี้ถือเป็นปัจจัยในเชิงมหภาค


ส่วนในปัจจัยในเชิงจุลภาค และพวกเขาได้สรุปให้เห็นเงื่อนไขสามประการที่อธิบายการที่ประชาชนยังสนับสนุนนักการเมืองที่คอร์รัปชัน นั่นคือ


1. กลุ่มประชาชนที่ฝักใฝ่เลือกข้างหรือเลือกพรรคการเมืองมักจะมีความรู้สึกยอมรับหรือทนได้กับการคอร์รัปชันของกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ตนชอบ และมักจะมีแนวโน้มที่จะยังลงคะแนนให้กับนักการเมืองที่คอร์รัปชันที่สังกัดพรรคที่ตนชื่นชอบ ซึ่งสามารถอธิบายลงลึกไปได้อีกว่า ผู้ลงคะแนนเหล่านี้มักจะรับรู้ถึงความสำเร็จในการบริหารงานของพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบ ความสำเร็จที่ว่านี้คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับส่วนแบ่งในทรัพยากรหรือทรัพย์สินผลประโยชน์ต่างๆ (resources) ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวนี้ นักรัฐศาสตร์บางท่านถือได้ว่าเป็น “การแลกเปลี่ยนกันโดยนัย” (implicit exchange) ระหว่างคะแนนเสียงสนับสนุนของประชาชนกับการได้รับการแบ่งปันหรือการตอบสนองผลประโยชน์จากนักการเมืองที่คอร์รัปชัน จนถึงขนาดที่มีสำนวนในประเทศบราซิลที่เป็นหนึ่งในประเทศมีปัญหาดังกล่าวนี้ นั่นคือ “rouba mais faz” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษคือ “he steals, but he gets things done” หรือ “เขาขโมย แต่เขาก็ทำให้ได้” ซึ่งของไทยเราก็มีสำนวนคล้ายๆ กันนี้คือ “โกงได้ แต่ขอให้แบ่ง”


2. ประชาชนมักจะไม่ให้ความเชื่อถือรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชันของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่เขาชื่นชอบ โดยอ้างว่าเป็นการกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง (baseless) จากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งนักรัฐศาสตร์บางท่านได้เรียกสภาพการณ์ดังกล่าวนี้ว่า “noise hypothesis” ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าผู้ตั้งวลีนี้ต้องการสื่อให้เห็นว่า ประชาชนประเภทนี้มักจะมองว่า ข้อกล่าวหาเป็นเพียงแค่สมมุติฐานและให้ค่าว่าเป็นเพียงเสียงนกเสียงกาที่เกิดขึ้นเจื้อยแจ้วเป็นปรกติในความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่ง Jordi Munoz, Eva Anduiza and Aina Gallego ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สภาพการณ์ดังกล่าวนี้เกิดจากการที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นอยู่มากมายดาษดื่นกระจายไปทั่วตลอดเวลาจนทำให้ประชาชนมีแนวโน้มที่จะเพิกเฉยต่อข้อกล่าวหาในเรื่องคอร์รัปชัน


3. ประชาชนจะมองว่า พรรคการเมืองทุกพรรคต่างก็โกงและคอร์รัปชันเหมือนกัน (all parties are equally affected by corruption) ดังนั้น แม้ว่าพวกเขาจะปฏิเสธการคอร์รัปชัน แต่มันก็จะไม่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สภาพการณ์ดังกล่าวนี้ นักรัฐศาสตร์บางท่านเรียกว่าเป็นอาการ “cynicism” หรือ “คติคิดแบบหยันหยามโลก” นั่นคือ เห็นว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองล้วนเลวร้ายหมด ดังนั้น ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ ก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนอะไรได้ และหากยังจะต้องลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ก็เลือกพรรคการเมืองที่ “โกงแล้วให้” น่าจะเป็นตัวเลือก (choice) หรือคำตอบที่ดีที่สุด


งานวิจัยของ Jordi Munoz, Eva Anduiza and Aina Gallego ข้างต้นไม่ได้ศึกษาประเทศไทย แต่ยังไงไม่ทราบ ผลวิจัยที่ออกมามันช่างเหมือนที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเลย ฝ่ายที่ปฏิเสธว่าการเมืองไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น ก็น่าจะลองหางานวิจัยนี้มาอ่านดู ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่คิดว่าการเมืองไทยเป็นเช่นนี้มาก่อนได้เห็นงานวิจัยดังกล่าว ก็อย่าเพิ่งย่ามใจ เพราะบ้านเรายังต้องยุติความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการทำรัฐประหาร ควรคิดว่าทำอย่างไรที่จะมีหนทางอื่นที่ไม่ต้องรัฐประหาร เพราะถ้ารัฐประหารไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ นานวันเข้าคนจะไม่ยอมรับรัฐประหารอีกต่อไป และอาจหลุดไปถึงสงครามกลางเมืองโน่นเลย


งานวิจัยนี้อาจทำให้เรารู้สึกโล่งใจและหนักใจไปพร้อมๆ กัน ที่ว่าโล่งใจก็เพราะ ปัญหาวิธีคิด “โกงได้ไม่เป็นไร ตราบเท่าที่ยังทำอะไรให้” ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบ้านเรา คนบ้านเราไม่ได้ผิดปรกติเลวร้ายกว่าคนที่อื่น เพราะคนบราซิลเขาก็มี “rouba mais faz” แต่ที่ว่าหนักใจก็คือ ปัญหานี้ดูจะเป็นปัญหาของประเทศกลุ่มหนึ่งในโลก