หมดเวลา'ทองคำ'ช่องอนาล็อก

หมดเวลา'ทองคำ'ช่องอนาล็อก

อุตสาหกรรมโทรทัศน์ เริ่มส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงให้เห็นชัดขึ้น ทั้งฝั่ง "ผู้ชม" และ "งบโฆษณา"

             จากตัวแปรสำคัญ "ทีวีดิจิทัล" 21 ช่องใหม่เริ่มออกอากาศในเดือนเม.ย.2557 พร้อมช่องทีวีอนาล็อกรายเดิม (ช่อง3,5,7,9, ไทยพีบีเอส) ที่ออกอากาศคู่ขนานระบบดิจิทัล 

          ผลสำรวจการรับชมทีวีของครัวเรือนไทยโดย สำนักงาน กสทช. และ นีลเส็น ประเทศไทย มีตัวเลขที่น่าสนใจ เริ่มจากสรุปผู้ชมทีวีปี 2557 ของ 23 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ แบ่งออกเป็นช่องทางโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หรือระบบอนาล็อกรับชมผ่านเสาอากาศหนวดกุ้ง/ก้างปลา มีสัดส่วน 22% ส่วนช่องทางเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม 78%

            หากพิจารณาช่องทางการรับชมผ่านเคเบิลและดาวเทียม ซึ่งเป็นช่องทางหลักรับชมทีวีดิจิทัล นับจากเดือนเม.ย.2557 ถึง ม.ค.2558  ผู้ชมทีวีดิจิทัล 21 ช่องใหม่ ครองสัดส่วนผู้ชม"เพิ่มขึ้น"  4 เท่า จาก 7% เป็น 24% หรือจาก 4-5 ล้านคนเป็น 14.5 ล้านคน

            ส่วนช่องทีวีอนาล็อกเดิม 6 ช่อง มีสัดส่วนผู้ชม "ลดลง" ต่อเนื่องนับจากเดือนเม.ย.2557 ที่ครองส่วนแบ่งผู้ชม 93%  เดือน ม.ค.2558 อยู่ที่ 76% หรือ ลดลง 20% 

            ขณะที่การใช้งบโฆษณาผ่านสื่อทีวีปีก่อน นีลเส็น รายงานว่าทีวีอนาล็อก มีมูลค่า 63,775 ล้านบาท ลดลง 8%  เคเบิล/ทีวีดาวเทียม 7,177 ล้านบาท ลดลง 39%  และทีวีดิจิทัล 12,071 ล้านบาท

            เริ่มต้นปี2558 นีลเส็น สรุปงบโฆษณาทีวี ม.ค. พบว่าทีวีอนาล็อก (ช่อง3,5,7,9, เอ็นบีที) มีมูลค่า 4,248 ล้านบาท ลดลง 9.85%  เทียบม.ค.ปีก่อน  ส่วนช่องเคเบิล/ดาวเทียม 300 ล้านบาท ลดลง 62% ขณะที่โฆษณาทีวีดิจิทัล 21 ช่องใหม่ มูลค่า 2,510 ล้านบาท  

            สมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) วิเคราะห์สถานการณ์ต้นทุนการใช้งบโฆษณาทีวีปี 2558 โดยพิจารณาจากราคาโฆษณาและเรทติ้งผู้ชม ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนโฆษณาต่อเรทติ้ง (Cost Per Rating Point หรือ CPRP) กล่าวคือ หากมีผู้ชมจำนวนมากต้นทุนโฆษณาต่อเรทติ้งจะต่ำลง ทำให้การใช้งบโฆษณาคุ้มค่ามากขึ้น

            ปีนี้ต้นทุนราคาโฆษณาทีวีอนาล็อก เพิ่มขึ้น 1% ขณะที่ผู้ชมลดลง 4-5% ทำให้ CPRP เพิ่มขึ้น 5%  ส่วนเคเบิลทีวี/ดาวเทียม ไม่ปรับราคา แต่ผู้ชมลดลง  20% ต้นทุน CPRP เพิ่มขึ้น 20%  ด้านทีวีดิจิทัล  ปรับขึ้นค่าโฆษณาเฉลี่ย  40% ส่วนผู้ชมเพิ่มขึ้น 30% ทำให้ CPRP เพิ่มขึ้น 20%

            ตัวเลขการปรับขึ้นราคาโฆษณาทีวีอนาล็อกในอัตรา 1% หรือเรียกว่าแทบไม่ปรับราคา สถานการณ์เช่นนี้มีให้เห็นไม่บ่อย เว้นแต่ในช่วงที่เกิดวิกฤติต่างๆ โดยปกติ "ทีวีอนาล็อก" จะปรับราคาเฉลี่ย 7-10% ทุกปี  ปัจจุบันราคาโฆษณา Rate Card ช่วงไพรม์ไทม์ละครค่ำสูงสุดช่อง 7 นาทีละ 5 แสนบาท ส่วนช่อง 3 นาทีละ 4.5 แสนบาท 

            รูปแบบการปรับราคาโฆษณาสื่อทีวีทุกประเภท คือการปรับ "ลด" ส่วนลดจากราคา Rate Card ปัจจุบัน ทีวีดิจิทัล ให้ส่วนลดในอัตราสูง เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นออกอากาศ แต่หลายช่องผู้นำเรทติ้งสามารถกำหนดราคาโฆษณาได้ในอัตราสูงเช่นกันที่ระดับ 2 แสนบาทต่อนาที เมื่อมีเรทติ้งผู้ชมเพิ่มขึ้นจะทยอยปรับลด "ส่วนลด"ราคาโฆษณาลง   

            จากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมทีวีขณะนี้ ที่มีช่องทีวีดิจิทัล รูปแบบฟรีทีวี...ดูฟรี เข้ามาเป็นตัวเลือกให้ผู้ชมมากขึ้น และทุกช่องต่างลงทุนพัฒนาเนื้อหารายการด้วยเม็ดเงินจำนวนมากระดับ 500-1,000 ล้านบาทต่อช่องต่อปี 

            แม้ขณะนี้ ทีวีอนาล็อกยังครองเรทติ้งและโฆษณาเป็นหลัก แต่สมรภูมิการแข่งขันสื่อทีวีจากนี้ จะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า "ช่องใด" จะครอบครองผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณาทีวีปีละ 8 หมื่นล้านบาทไว้ได้สูงสุด

            การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น จากเรทติ้งช่องอนาล็อก "ลดลง" ขณะที่ช่องดิจิทัล"เพิ่มขึ้น" สะท้อนว่าฟรีทีวีในยุคใบอนุญาต  ทำให้ "เวลา" ที่มีอย่างจำกัดของช่องทีวีอนาล็อก ไม่มีมูลค่าเป็น "ทองคำ" เหมือนในยุคสัมปทานที่ผ่านมาอีกต่อไป