ปรองดอง...อะไร กับใคร

ปรองดอง...อะไร กับใคร

ไปอีสาน สัปดาห์ที่แล้ว ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ "ปล่อยของ"

     ชวนให้ต้องขบคิดถึงข้อเสนอ ตั้ง 'คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ' อีกประเดี๋ยวจะมีคนคิดคำย่อออกมา

    สาระสำคัญ คือ มีตัวแทนจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จำนวน 9 คน และ ตัวแทนคู่ขัดแย้งอีก 5 คน รวมเป็น 14 คน

    หน้าที่ของ 14 อรหันต์ จะไปนำเอาผลศึกษาของคณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ  (คอป.) มี อาจารย์คณิต ณ นคร ศึกษาจบแล้ว (http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/article/article_20131010111402.pdf) และศึกษางานวิจัยสร้างความปรองดอง ของสถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=1296) โดยให้อำนาจคณะกรรมการฯ เสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ รวมทั้งวางกลไกเยียวยาผู้เสียหายและผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุมทางการเมือง

   คณะกรรมการฯ มีวาระทำงาน 5 ปี

    "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" ไปเยือนอุดรฯ "เมืองคนเสื้อแดง" จึงเลือกพูดเรื่องนี้ขึ้นมาหรือไม่ ทั้งที่น่าจะรู้ดีว่า ผลศึกษาของคอป.หมกตัวอยู่ในลิ้นชัก ด้วยเจตนาที่รัฐบาลในสมัยนั้น ไม่อยากนำมาใช้ แต่เลือกวิธีการดันกฎหมาย "นิรโทษกรรมสุดซอย" จนเป็นชนวนเหตุให้คนนับล้านๆ คนออกมาเดินบนถนนในเมืองหลวงประเทศไทย เพราะไม่อยากให้นิรโทษกรรมอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฎีกานักการเมือง ตัดสินคดีไป

    ก่อนดันกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย รัฐบาลยุคนั้น ก็นำเอารายงาน คอป.ไปให้หน่วยงานที่ตัวเองตั้งขึ้นมา นำไป "แปลงสาร" รัฐต้องใช้เงินหลายพันล้านบาท จ่ายให้กับเสื้อแดง และญาติ สูงถึงรายละ 7.5 ล้านบาท ซ้ำเติมความรู้สึกคนไทยที่ถูกเผาบ้าน เผากิจการร้านค้า ซ้ำย่ำยีหัวใจครอบครัวทหารที่บาดเจ็บล้มตายจากฝีมือกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งแกนนำคนเสื้อแดงบอกผู้ร่วมชุมนุมว่า เป็น 1 ในแก้ว 3 ประการของคนเสื้อแดง

  สำหรับผมนั้นไม่คัดค้านการสร้างปรองดอง ออกจะสนับสนุนด้วย ถ้าเจตนาบริสุทธิ์ แต่ผมเห็นว่าข้อเสนอของประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีเจตนาแอบแฝง แค่หวังเรียกคะแนนสงสารจากคนเสื้อแดง หรือไม่

    ดังนั้น ที่ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นัดหมายว่า ศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะได้หารือเรื่องการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกที่จะมาช่วยลดความขัดแย้ง นั้น ท่านกำลังเอาสิ่งที่ยังไม่เป็นมติ แล้วตัวเองนำไปพูดข้างนอกเสียก่อนแล้วมาหารือในที่ประชุม มีเจตนาปิดปากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คนอื่นๆ หรือไม่

    โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คำนูณ สิทธิสมาน บอกว่า ที่ "บวรศักดิ์" ไปปาฐกถาว่า คณะกรรมการปรองดอง จะมีอำนาจเสนอกฎหมายอภัยโทษ นั้น เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่มติของคณะกรรมาธิการฯ หลายครั้งที่ผ่านมา กรรมาธิการยกร่างฯ ก็ไม่ได้เห็นตามประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทุกเรื่อง จึงไม่อยากให้มองว่ากระบวนการสร้างความปรองดองมีปลายทางอยู่ที่การนิรโทษกรรม หรืออภัยโทษ ทั้งนี้ ยืนยันว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทั้ง 36 คนต้องการให้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญนี้แก้ไขวิกฤตประเทศได้ ส่วนจะมีการวิจารณ์ว่าตั้งโจทย์ผิดจะทำให้เกิดวิกฤตยิ่งขึ้นหรือไม่นั้น ก็เป็นสิทธิที่จะวิจารณ์ได้

    โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ บอกว่า รัฐธรรมนูญ ภาค 4 "การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง" จะมี คณะกรรมการสองชุด คือ 1.คณะกรรมการปฏิรูป และ 2.คณะกรรมการปรองดอง

    คณะกรรมการปฏิรูปนั้น มีอำนาจเสนอกฎหมาย สำหรับคณะกรรมการปรองดอง ไม่มีอำนาจเสนอกฎหมาย อันนี้กรรมาธิการยกร่างฯ คุยกันยังไม่ตกผลึก

    เป็นเรื่องที่ควรระวังคำพูด โดยเฉพาะการสร้างความ "ปรองดอง" ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แล้วยังไม่รู้นิรโทษใคร ไม่เช่นนั้นคำพูดของคุณจะนำไปใช้ในพื้นที่การชุมนุมได้