ผลไม้ไทย

ผลไม้ไทย

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ได้จัดงานเทศกาลไทยเป็นประจำทุกปีในช่วงต้นเดือนพ.ค. และมีผู้ประกอบการไทยนำผลไม้ไทยสดชนิดต่างๆ ไปร่วมงาน

ซึ่งต่างก็ขายได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อทำให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสและได้มีตลาดที่จะขายผลไม้ในจีนได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่บอกข้อมูลชี้ช่องอธิบายว่ามีศักยภาพอย่างไร ดังนั้น จึงเป็นการจัดให้ผู้ประกอบการได้มีประสบการณ์จากการทดลองตลาด มีประสบการณ์ขาย และทำตลาดด้วยตนเอง


ก่อนอื่นต้องบอกว่า ประเทศไทยและประเทศจีนมีความตกลงด้านสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยจีนอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยได้จำนวน 22 ชนิด ได้แก่ มะขาม ส้มเขียวหวาน น้อยหน่า ส้ม ส้มโอ มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ชมพู่ ขนุน ลองกอง สับปะรด ละมุด กล้วย เสาวรส มะพร้าว ลำไย ทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด ทั้งนี้ มีมาตรฐานและกฎระเบียบของผลไม้แต่ละชนิดกำกับอยู่ เช่น ด่านของประเทศจีนที่อนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยตามพิธีสารว่าด้วยการนำเข้าและส่งออกผลไม้ คือ ด่านบ่อหาน (โม่ฮาน) ของมณฑลยูนนาน เส้นทาง R9A ด่านโหย่วอี้ เขตกว่างซี เส้นทาง R9 นอกจากนี้ก็มีเมือง / มณฑล (ท่าเรือ / ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ) อีก 14 แห่ง ที่ประเทศจีนอนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีข้อกำหนดและมาตรฐานสำหรับผลไม้ไทยแต่ละชนิด ซึ่งจะดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยากและเป็นอุปสรรค แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันมีผลไม้ไทย 6 ชนิด ซึ่งเป็นที่นิยมมากและเข้าสู่ตลาดจีนได้โดยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนอย่างอบอุ่น คือ ทุเรียน มังคุด ส้มโอ มะม่วง กล้วยไข่ และลำไย เนื่องจากผลไม้เหล่านี้ของไทยมีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ตรงกับผลไม้จากไต้หวันและอินโดนีเซีย ซึ่งส่งออกผลไม้ของประเทศตนเข้าประเทศจีนมากเช่นกัน นอกจากนี้แล้วผลไม้ไทยที่มีคุณภาพดีเหล่านี้ก็มีรสชาติความอร่อยที่แตกต่างกับประเทศคู่แข่ง ดังนั้น ด้วยชื่อเสียงและเครดิตที่ดีของผลไม้ไทยจึงสามารถทำตลาดในประเทศจีนได้


ผลไม้ไทยถือเป็นผลไม้เมืองร้อนซึ่งแปลกใหม่สำหรับผู้บริโภคชาวจีน ด้วยรสชาติของผลไม้ไทยซึ่งมีความแปลกแตกต่างและคุณภาพดี จึงทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนที่โดยทั่วไปคุ้นเคยกับผลไม้เมืองหนาวเท่านั้น


จะเห็นได้ว่ายังมีผลไม้ไทยอีกหลายชนิดที่คนไทยคุ้นเคยและนิยมชมชอบแต่ยังไม่ค่อยรู้จักและยังไม่ค่อยได้รับความนิยมในประเทศจีน เช่น เงาะโรงเรียน ลองกอง สับปะรดภูแล เสาวรส ละมุด น้อยหน่า ก็ล้วนแล้วแต่มีศักยภาพและมีช่องทางที่จะส่งไปขายที่ประเทศจีนได้ แต่ต้องมีเงื่อนไข 3 ประการ คือ ผลไม้ต้องมีคุณภาพ ปลอดจากสารเคมีตกค้าง และมีบรรจุภัณฑ์ที่รักษาความสดของผลไม้แต่ละชนิดจนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค


ผลไม้สดของไทยยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก เช่น ทำเป็นข้าวเหนียวมะม่วง สละลอยแก้ว เงาะในน้ำเชื่อม รวมทั้งลำไยกระป๋อง ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์และใช้นวัตกรรมการผลิตที่ได้มาตรฐาน ก็ย่อมจะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้ไทยให้กลายเป็นผลไม้ไทยแปรรูปชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นการเปิดตลาดและช่องทางการจำหน่ายที่ไม่เน้นแต่ผลไม้สดเท่านั้น แต่เป็นผลไม้ไทยที่แปรรูปด้วยกรรมวิธีต่างๆ สามารถสร้างยอดขายเพิ่มเติมให้กลายเป็นของฝาก ของที่ระลึก ติดไม้ติดมือให้ผู้บริโภคซื้อไปให้ญาติสนิท มิตรสหาย ตลอดจนเพื่อนฝูงได้ลิ้มลองอีกด้วย


ผู้ประกอบการไทยจะต้องใส่ใจในเรื่องบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นกล่อง เป็นถุง หรือเป็นกระป๋อง ก็จะต้องดูดีและสร้างมูลค่าเพิ่มและต้องเหมือนเป็นหน้าเป็นตาของผู้ซื้อด้วย เพื่อให้เป็นของฝากที่นอกจากที่เป็นผลไม้ไทยรสอร่อยแล้ว ยังดูดีมีระดับเพื่อโชว์หรือมอบให้กับผู้รับโดยผู้ซื้อก็พอใจและผู้รับของฝากก็ประทับใจเช่นกัน จึงขอสนับสนุนให้เกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน และผู้ประกอบการ เร่งผลิตผลไม้ไทยและผลไม้แปรรูปที่ต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้ผลไม้ไทยไม่เพียงแต่มีผู้บริโภคนิยมเท่านั้นแต่ยังเป็นของฝากและเป็นสินค้าที่ ผู้ซื้อและผู้บริโภคบอกต่อๆ กันไปว่า ต้องทดลองชิม ต้องซื้อไปฝาก เมื่อถึงฤดูกาลของมะม่วงน้ำดอกไม้หรือทุเรียนหมอนทอง เป็นต้น


นอกจากผลไม้สดแล้ว ผลไม้แห้ง เช่น ลำไยอบแห้งของไทยก็มีขนาดผลใหญ่เมื่อเทียบกับของจีนซึ่งลูกลำไยมีขนาดเล็ก ผู้บริโภคชาวจีนจึงไม่ค่อยนิยมใช้ลำไยอบแห้งของจีนเองเนื่องจากอบแห้งแล้วจะมีขนาดเล็ก ดูไม่ดี และไม่มีความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดสารตกค้างของลำไย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย ที่เน้นลำไยคุณภาพและปลอดสารตกค้างจึงมีโอกาสทำตลาดในประเทศจีน เพราะว่าผลงานวิจัยของ บริษัท Nielson รายงานว่า 45% ของชนชั้นกลางในจีน (มีรายได้ครัวเรือน 6 หมื่นถึง 1 แสนหยวนต่อปี) ยินดีที่จะควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มขึ้น หากสินค้าที่ตนซื้อมีความปลอดภัย และ 81% อ่านฉลากอาหารอย่างละเอียดโดยให้ความสำคัญกับข้อมูลโภชนาการ (วิตามิน) ปลอดสารเคมีตกค้าง และเป็นเกษตรอินทรีย์หรือไม่ เนื่องจากตลาดลำไยเป็นที่นิยมใช้บริโภคสดๆ ใช้ประกอบอาหารและใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของยาจีนอีกด้วย


นอกจากผลไม้สด ผลไม้แห้ง ยังมีผลไม้ไทยแปรรูปต่างๆ เช่น ทุเรียนอบกรอบ มะม่วงแช่อิ่ม ขนมเวเฟอร์มังคุด สับปะรดกระป๋อง กล้วยตาก ไอศกรีมกะทิ คุ๊กกี้มะพร้าว ซึ่งได้รับความนิยมและสามารถทำตลาดได้ดีในประเทศจีน ดังนั้น หัวใจหลักของคุณภาพผลไม้ไทย คือ ต้องขนส่งในตู้คอนเทนเนอร์ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิระหว่างขนส่งได้ และบนเส้นทาง R3A ก็มีบริษัทขนส่งที่ให้บริการแบบนี้แล้ว


ชาวจีนนิยมทานผลไม้เพราะมีประโยชน์มากมายจนมีคำกล่าวว่า “ทานพุทราจีนวันละผล หนุ่มสาวตลอดกาล” ผลไม้เมืองหนาวจึงเป็นของโปรดของผู้บริโภคชาวจีน แต่ผลไม้เมืองร้อนของไทยก็เป็นของยอดนิยมของผู้บริโภคชาวจีนเช่นกัน


ผลไม้ไทยส่งไปยังมณฑลยูนนานแห่งเดียว และส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มังคุด (ราชินีผลไม้) ตามมาด้วย ลำไย และกล้วย โดยในปี 2557 ยูนนานนำเข้าผลไม้จากไทย 65,960 ตัน รวมมูลค่า 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51 จากมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปยูนนาน โดยใช้เส้นทาง R3A ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นเส้นทาง Logistic ที่สั้นและประหยัดเวลา โดยมีระยะทางในช่วง สปป.ลาวเพียง 247 ก.ม.เท่านั้น ดังนั้น ผลไม้ไทยที่ขนส่งโดยรถบรรทุกเริ่มจากด่านเชียงของ จ.เชียงราย ก็จะถึงด่านบ่อเต็นของ สปป.ลาว ซึ่งมีพรมแดนติดกับด่านโมฮาน เขตสิบสองพันนาของมณฑลยูนนาน ภายในเวลาเพียง 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น และจากด่านโมฮาน ใช้เวลาอีกประมาณ 7 ชั่วโมง เพื่อขนส่งสินค้าถึงนครคุนหมิง และกระจายไปยังเมืองต่างๆ ของมณฑลยูนนานต่อไป